หมอชี้ป่วย”โรคหัวใจ” ต้องหมั่นตรวจสุขภาพ : ข่าวสดสุขภาพ

“รายงานพิเศษ”

กรณี “โจ บอยสเก๊าท์” หรือนายธนัท ฉิมท้วม นักร้องชื่อดังเสียชีวิต จากอาการหัวใจวายขณะเล่นคอนเสิร์ตเมื่อคืนวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ และหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยา ลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีของโจคาดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยภาวะที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่ได้ยินกันบ่อยคือ ไฟฟ้าดูด ฟ้าผ่า รวมถึงโรคต่างๆ ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต คือ หัวใจขาดเลือด ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย

“แม้ผู้ป่วยอาจจะไม่เสียชีวิตทันทีในขณะนั้น แต่จะทำให้เกิดสภาวะความผิดปกติของไฟฟ้าในหัวใจห้องล่าง เป็นเหตุให้เกิดการรวนของการนำไฟฟ้าในหัวใจ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ”

การสังเกตอาการในเบื้องต้น คือ ผู้ป่วยจะเจ็บหน้าอกแล้วล้มฟุบ เนื่องจากทันทีที่กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนออกไปเลี้ยงร่างกายได้ โดยอวัยวะที่ขาดเลือดไปเลี้ยงได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด คือ สมอง เมื่อเลือดไม่ไหลเวียนไปที่สมองก็จะทำให้หมดสติ หากปล่อยไว้ไม่รักษาให้ทันท่วงทีก็จะเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้วิธีการรักษาที่ดีสุดและเป็นวิธีเดียว คือ การใช้ไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ถ้าไม่มีเครื่องมือดังกล่าวก็จะต้องทำการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary resuscitation :CPR) เพื่อพยุงเวลาในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด เพื่อให้หัวใจบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย

สำหรับข้อสังเกตเบื้องต้นคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงเหมือนกับถูกรถบรรทุกทับ โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จึงต้องตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและรับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง

ส่วนผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงจากโรคดังกล่าว แต่ร่างกายอาจมีทางนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่พบบ่อย คือ กลุ่มนักกีฬา หรือผู้มีภาวะเครียด กดดัน พักผ่อนน้อย ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจมีความผิดปกติ

ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมาจึงควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างน้อยปีละครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป แม้แต่คนที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่เด็กก็อาจเกิดอันตรายจากโรคหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน ทั้งนี้อยากขอให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโรคหัวใจขาดเลือดว่า อาการของโรคหัวใจขาดเลือดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีการแสดงสัญญาณเตือนล่วงหน้า

ดังนั้น หากผู้ป่วยเกิดอาการหมดสติ ให้สันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

และตรวจสอบการตอบสนองด้วยการเรียกหรือเขย่าตัว หากไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่ามีอาการหาย ใจเฮือก หรือหยุดหายใจหรือไม่ หากมีอาการข้างต้นให้ทำซีพีอาร์ทันที โดยการประสานมือตรงกึ่ง กลางหน้าอก ระหว่างหัวนมสองข้าง กดหน้าอกให้ยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ด้วยจังหวะ 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่าหน่วยกู้ชีพจะมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง

หากบริเวณนั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้นำมาใช้ร่วมกับการทำซีพีอาร์ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากขึ้น