กุ้งก้ามกราม เมืองสุพรรณบุรี

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงอย่างยิ่ง ผ่าน 2 เรื่องราวของ 2 สาว ทั้งน้องพอลล่าและน้องปุ้ย มีเสียงตอบรับมาแบบดีมากๆ ทำให้ผมชื่นใจว่ายังมีคนอ่านอีกมากมายที่ยังติดตามกันอยู่เสมอ ขอขอบคุณครับ วันนี้มีเรื่องเล่าอีกหนึ่งเรื่อง ในทิศทางของคนเลี้ยงกุ้ง มาดูว่าทิศทางของภาครัฐและเกษตรกรจะไปด้วยกันได้ไหม ในทิศทางใด

ประมงพาลุยบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

บทเพลงสาวสวนแตง บอกกล่าวเล่าเรื่องราวของสาวน้อยนางหนึ่ง ที่มีโอกาสขึ้นประกวดบนเวทีแล้วได้รางวัล ถูกแมวมองดึงไปเป็นดารามีชื่อเสียงโด่งดังจนลืมไอ้หนุ่มสวนแตงที่รอคอยอยู่ สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวตนก็คือ ความเป็นสาวสวนแตงแห่งเมืองสุพรรณบุรี เมื่อมีการเปิดออกอากาศในสมัยนั้น ผู้คนก็ล้วนปักใจเชื่อว่า หากจะกินแตงก็ต้องเมืองสุพรรณบุรีเท่านั้น และยังมีบทเพลงเกี่ยวกับสวนแตงตามมาอีกหลายเพลง ซึ่งแน่นอน บรรยากาศในเพลงส่วนมากก็เป็นสุพรรณบุรีทั้งนั้น

สุ่มยักษ์ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

ยังมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสุพรรณบุรี ทั้งในเรื่องราวของการกระทำยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ซึ่งเป็นตราประจำเมืองจนถึงทุกวันนี้ ในฐานะเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ หรือหากเป็นวรรณคดีขุนช้าง-ขุนแผน ถามว่าใครไม่รู้จักบ้าง กระทั่งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว ชื่อของพ่อหวังเต๊ะ-แม่ขวัญจิต ดังไปทั่วเมืองนั่นประไร ดังคำขวัญที่ว่า เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีเลื่องชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง เป็นคำขวัญที่บ่งบอกความเป็นเมืองสุพรรณบุรีได้ชัดเจนที่สุด

ทดลองจับขึ้นมาคัดขนาด

ด้วยความที่สุพรรณบุรีเป็นเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่กาลสมัย สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือเรื่องราวของการประมง หากมาสุพรรณบุรี คนจำนวนไม่น้อยนึกถึงปลาม้า (ขนาดมีชื่ออำเภอว่า บางปลาม้า นั่นประไร) ปัจจุบันเริ่มหาได้ยากมากขึ้น จะเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือเป็นเพราะเราบริโภคมากจนเกินกว่าปลาจะขยายพันธุ์ได้ทันก็เหลือจะเดา แต่วันนี้สุพรรณบุรียังมีทิศทางในด้านการประมงที่ก้าวหน้า ชัดเจน นั่นคือการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักกุ้งก้ามกรามเมืองสุพรรณบุรี ภายใต้ภาพลักษณ์สินค้าที่เป็นผลผลิตจากการเกษตรที่ได้มาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ใครอยากกินกุ้งก้ามกรามต้องนึกถึงกุ้งเมืองสุพรรณบุรี โดยท่านได้แนะนำแหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามแปลงใหญ่ รวมถึงตลาดซื้อ-ขายกุ้งก้ามกราม และพาชิมกุ้งก้ามกราม พร้อมทั้งให้ข้อมูลในเรื่องของการเลี้ยงอย่างละเอียด

ไซซ์สวยๆ

สถานการณ์กุ้งก้ามกรามจังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จำนวน 850 ราย พื้นที่เลี้ยง รวม 11,974 ไร่ ได้ผลผลิต 2,895 ตัน มีมูลค่า 521 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ลูกพันธุ์ที่มีการอนุบาลมาแล้ว 2-3 เดือน เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยง และเพิ่มอัตราการรอดมากขึ้น ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่อำเภอดอนเจดีย์ บางปลาม้า และสองพี่น้อง มีฟาร์มที่ได้มาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) จำนวน 65 ราย

สิ่งที่ต้องบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามก็คือ กุ้งสามารถเลี้ยงในกระชัง ล้อมขังในร่องสวนหรือบ่อน้ำได้ แต่จะให้ดีที่สุดคือเลี้ยงในบ่อดิน แหล่งน้ำจะต้องพร้อม มีความสะอาด ปลอดภัย และคุณภาพดี สภาพความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 7.5-8.5 ปลอดสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และดินจะต้องอุ้มน้ำได้ดี ไม่ควรเป็นดินทราย หรือหากเป็นทรายก็ไม่เกิน 30% ที่สำคัญคือ เส้นทางคมนาคมขนส่ง เพราะมีผลตั้งแต่การขนส่งลูกกุ้งจนถึงการนำไปจำหน่ายในสภาพตัวเป็นๆ

เข้าร้านรอจำหน่าย

การเตรียมบ่อ หากเป็นบ่อเก่าควรลอกเลน ปรับแต่งคันบ่อให้พ้นน้ำท่วม และโรยปูนขาว หากเป็นบ่อใหม่ควรวางผังให้ถูกต้อง ตรวจสอบระดับดินว่ามีความเรียบและน้ำท่วมหรือไม่ เพื่อจะได้กำหนดขอบคันบ่อให้พ้นน้ำ ควรวางผังบ่อให้ความยาวไปตามทิศทางลม (จากเหนือไปใต้) ขนาดบ่อไม่ควรใหญ่หรือเล็กเกินไป ควรมีขนาด 1-5 ไร่ ความกว้าง 25-30 เมตร ระดับความลึก 80-100 เซนติเมตร คันบ่อมีความลาด 1 : 2 หรือ 1 : 3 ความกว้างคันบ่อไม่น้อยกว่า 3 เมตร บดอัดให้แน่นกันการรั่วซึม ปลูกต้นไม้เป็นร่มเงาได้ ขอบบ่อควรปลูกหญ้าคลุมดินป้องกันดินขอบบ่อพัง และท้ายบ่อควรปักไม้ไผ่หรือปลูกพืชลอยน้ำ เช่น ผักบุ้ง หรือผักตบชวาไว้รอบๆ เพื่อลดการปะทะของคลื่นลม และเป็นที่หลบซ่อนของกุ้งไปด้วย

กุ้งเผาสด สะอาด ปลอดภัย

การลำเลียงลูกกุ้งมาลงบ่อ จำเป็นต้องบรรจุในถุงที่อัดออกซิเจนอยู่ในอัตราน้ำ 1 ส่วน ออกซิเจน 4 ส่วน อุณหภูมิ 20-24 องศาเซลเซียส หากเดินทางไกลๆ ควรบรรจุลูกกุ้งเพียง 300-400 ตัว/น้ำ 1 ลิตร เท่านั้น และอย่าให้มีเศษอาหารหรือตะกอน ควรใส่น้ำจากบ่อเดิมที่เลี้ยงกุ้ง เพื่อป้องกันการลอกคราบในขณะขนย้าย เมื่อลำเลียงพันธุ์ลูกกุ้งถึงบ่อ หรือแหล่งน้ำที่จะปล่อยลูกกุ้ง จะต้องปรับอุณหภูมิของน้ำในภาชนะหรือถุงที่บรรจุลูกกุ้งให้ใกล้เคียงกับน้ำภายนอกภาชนะเสียก่อน แล้วปล่อยลูกกุ้งให้คุ้นกับน้ำใหม่ อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้ลูกกุ้งปรับตัวเข้ากับน้ำในบ่อหรือแหล่งน้ำได้ หากไม่ปรับอุณหภูมิของน้ำในภาชนะที่บรรจุลูกกุ้งให้ใกล้เคียงกับน้ำภายนอกภาชนะก่อนปล่อยลูกกุ้งลงไป ลูกกุ้งอาจช็อกตายได้

สำหรับปัญหาที่เกษตรกรพบในขณะนี้คือ

กุ้งทอดกรอบ
  1. ลูกกุ้งสายพันธุ์ดีมีน้อยและราคาแพง (สัดส่วนเพศผู้น้อยกว่า 35%)
  2. อาหารกุ้งราคาแพง
  3. แรงงานหายาก และค่าแรงก็สูง
  4.  ผลผลิตต่ำ ประมาณ 180 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่ภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 281 กิโลกรัม/ไร่
  5. คุณภาพน้ำบางช่วงมีปัญหา ควบคุมได้ยาก
  6. ตลาดรับซื้อค่อนข้างแคบ
  7.  บางช่วงผลิตได้จำนวนมาก แต่ขาดคุณภาพ (เป็นเพศเมีย และกุ้งจิ๊กโก๋มากกว่าตัวผู้)
  8. กุ้งตาย น้ำหนักลด เพราะขังไว้หลายวัน
  9.  ขายดีในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดเท่านั้น

เหล่านี้คือปัญหาที่ทางประมงจังหวัดต้องลงมาช่วยแก้ไข เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และเปิดช่องทางการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มผู้บริโภคหน้าใหม่ให้มากขึ้น ภายใต้ภาพลักษณ์ กุ้งสุพรรณ สด สะอาด ปลอดภัย ที่สำคัญ อร่อยด้วยสิ

จัดสวยๆ ให้ดูดีมีมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมาย
รวมพลคนชอบกินกุ้ง

…………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ.2562

Update 18/07/2021