เกษตรกรนครราชสีมา เลี้ยงปลาหมอครบวงจร ผลิตลูกพันธุ์-สร้างตลาดปลาเนื้อ เกิดรายได้ยั่งยืน

ปลาหมอ เป็นอีกหนึ่งปลาน้ำจืดที่มีการเลี้ยงในหลายพื้นที่ เนื่องมาจากหลายปีที่ผ่านมาปลาหมอในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มมีจำนวนที่ลดลง หรืออาจหานำมาประกอบอาหารได้ยากขึ้น จึงทำให้เกิดการเพาะพันธุ์และเลี้ยงกันในหลายพื้นที่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เพราะปลาหมอเป็นปลาที่นำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะแกง หรือปิ้ง ก็มีรสชาติที่ดีและเนื้อนุ่ม อร่อย จึงเป็นปลาที่ตลาดยังมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

คุณณัฐวัฒน์ บำเหน็จพันธุ์

คุณณัฐวัฒน์ บำเหน็จพันธุ์ ทำฟาร์มปลาหมออยู่ที่บ้านหนองนาลุ่ม ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงการเลี้ยงปลาหมอสร้างรายได้ จึงได้ทดลองเลี้ยงปลาหมอบนพื้นที่ว่างของตัวเอง และต่อมาได้เพาะพันธุ์ลูกปลาหมอเพื่อใช้เลี้ยงในฟาร์ม มีบางส่วนผลิตจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ สร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

ลูกปลาหมอ

คุณณัฐวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนยังไม่ได้เริ่มมาทำการเกษตร สมัยนั้นเป็นพนักงานเกี่ยวกับการค้าขายอาหารกุ้ง ต่อมาเริ่มมองเห็นช่องทางการทำอาชีพบนเนื้อที่ของตัวเอง จึงได้กลับมาขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลา เพราะมองว่าที่ดินของเขาเองนั้นยังสามารถทำประโยชน์ได้หลายอย่าง จึงได้ตัดสินใจมาเลี้ยงปลาหมอเพื่อสร้างรายได้ แต่ช่วงแรกเลี้ยงยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะยังไม่มีความชำนาญในเรื่องของการซื้อลูกพันธุ์ เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น จึงทำให้มีภูมิต้านทานและเกิดความชำนาญในการเลี้ยงปลาหมอมามากกว่า 10 ปี

ปลาหมอที่เลี้ยงพร้อมจำหน่าย

“ช่วงแรกที่มาเลี้ยงนี้บอกเลย เป็นบทเรียนกับผมมาก โดนหลอกในเรื่องของการขายลูกพันธุ์ เพราะปลาหมอก่อนที่จะเลี้ยง เราต้องดูให้แน่ใจว่าต้องเป็นตัวเมียอย่างต่ำมากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถ้าเกิดตัวเมียต่ำกว่านี้เราขาดทุนแน่นอน พอได้รู้ว่าเราโดนหลอกขายในเรื่องของลูกพันธุ์ จึงได้คิดที่อยากจะผลิตลูกพันธุ์เอง เราก็ได้หาพ่อแม่พันธุ์มาเพาะพันธุ์เอง จากนั้นก็เข้าปรึกษาจากผู้มีองค์ความรู้ เพื่อให้มีการสร้างพันธุ์ปลาหมอที่สามารถเลี้ยงเป็นการค้าได้ดี โดยช่วงแรกไม่ได้คิดว่าจะทำขายให้ใคร เราต้องการผลิตเลี้ยงเอง พอเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ต่อมาก็เลยมีผลิตขายให้กับเกษตรกรทั่วไปด้วย” คุณณัฐวัฒน์ บอก

บ่อเลี้ยง ขนาด 1 งาน

การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาหมอให้ได้คุณภาพนั้น คุณณัฐวัฒน์ เล่าว่า หลังจากที่จับปลาหมอที่จำหน่ายออกจากบ่อเก่าหมดแล้ว จะมีการพักบ่อเลี้ยงด้วยการตากบ่อสักระยะ จากนั้นเติมน้ำลงไปภายในบ่อ ประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่จุลินทรีย์เสริมปล่อยทิ้งไว้ปนะมาณ 5 วัน เสร็จแล้วเติมน้ำเข้าไปให้มีความลึกอยู่ที่ 1.5 เมตร พร้อมกับปล่อยปลาหมอขนาดไซซ์ 2-3 เซนติเมตร หรือไซซ์ใบมะขามลงไปเลี้ยงทันที

ปลาหมอย่าง หอมๆ เนื้อนุ่มๆ

โดยบ่อเลี้ยง ขนาด 1 งาน ความลึก 1.5 เมตร ปล่อยปลาหมอเลี้ยงอยู่ที่ 30 ตัว ต่อตารางเมตร ในระยะแรกให้กินอาหารลูกอ๊อดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 มื้อ ในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น ประมาณ 10-15 วัน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุก เบอร์ 1 ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 ให้กินในช่วงเช้าและเย็น ประมาณ 1-2 เดือน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุก เบอร์ 2 ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 30 เลี้ยงไปเรื่อยๆ จนถึงจับปลาหมอจำหน่ายได้

“การเลี้ยงปลาหมอจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4-5 เดือน โดยปกติในการเลี้ยงก็จะไม่มีเรื่องโรคจากการเลี้ยง เพราะผมมีการใช้จุลินทรีย์เข้ามาช่วยในการบำบัดน้ำเสีย ทำให้น้ำไม่มีเชื้อโรคที่ทำลายปลาหมอ แต่ปลาหมอจะไม่ชอบในเรื่องของน้ำที่มีส่วนผสมของสารเคมี เพราะปลาหมอจะไวต่อสภาพน้ำเช่นนี้มาก เพราะฉะนั้นปลาหมอถ้าน้ำดี อาหารดี ลูกพันธุ์ดีใช้เวลาเลี้ยงครบตามระยะเดือน ก็จะได้ขนาดตัวที่ใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ” คุณณัฐวัฒน์ บอก

โดยราคาจำหน่ายลูกปลาหมอ ขนาด 2-3 เซนติเมตร ราคาอยู่ที่ 80 สตางค์ ถึง 1 บาท และขนาดของปลาหมอที่จำหน่ายขนาดไซซ์อยู่ที่ 2-4 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาขายส่งตั้งแต่ 100 กิโลกรัม ขึ้นไป ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท และราคาขายปลีกหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งความต้องการบริโภคปลาหมอนั้น คุณณัฐวัฒน์ บอกว่า ยังถือเป็นปลาน้ำจืดที่ตลาดต้องการและราคายังสร้างผลกำไรให้กับผู้เลี้ยงอยู่เช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลาหมอเพื่อเป็นอาชีพทำเงินนั้น คุณณัฐวัฒน์ แนะนำว่า ควรศึกษาในเรื่องของสายพันธุ์ให้ดี พร้อมกับมีแหล่งน้ำและเลือกอาหารที่มีคุณภาพในการเลี้ยง ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จ และเกิดรายได้จากการเลี้ยงปลาหมอแน่นอน โดยหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 732-7579