หนุ่มสมุทรปราการ เลี้ยงปลาหมอตัวโต ทรงสวย ตลาดมีความต้องการ ขายได้ตลอดปีมีกำไร

“ปลาหมอ” เป็นอีกปลาน้ำจืดที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถนำมาเลี้ยงเป็นเชิงการค้าได้เป็นผลดี เพราะย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนปลาหมอในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มมีจำนวนลดลง ทำให้ปริมาณความต้องการที่จะนำมาบริโภคไม่เพียงพอ จึงเกิดเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพราะปลาหมอเมื่อมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี มีการแปลงเพศที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเกษตรกรนำมาเลี้ยงแบบมีระบบ จะช่วยส่งเสริมรายได้ให้ผลกำไรไม่น้อยทีเดียว

ปลาหมอขนาดไซซ์ 1-2 ตัว ต่อกิโลกรัม
คุณวิทยา ศรยินดี

คุณวิทยา ศรยินดี หรือ โอ๋ คลองสวน อยู่บ้านเลขที่ 37/1 หมู่ที่ 13 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้สนใจการเลี้ยงปลาหมอสร้างรายได้ เพราะมองไปถึงความต้องการของตลาดว่ามีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปลาหมอสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ปลาหมอย่างทานกับน้ำพริก แกงต่างๆ หรือจะฉู่ฉี่ ก็มีรสชาติความอร่อยที่ลงตัวไม่น้อย จึงทำให้เขาเริ่มมาสนใจและเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ปี 2561

การจับปลาหมอ

ทดลองเลี้ยงปลาหมอ

เพราะบ่อว่างจากใช้งาน

คุณวิทยา เล่าให้ฟังว่า เดิมที่ที่บ้านมีบ่อสำหรับเลี้ยงปลาให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยงมาเช่าอยู่ ต่อมาผู้เช่าได้ยกเลิกไปจึงทำให้เห็นพื้นที่บ่อยังว่างอยู่ จึงคิดว่าน่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในช่วงนั้นเขาเองได้เลี้ยงปลานิลอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง เมื่อมีบ่อเพิ่มขึ้นจึงได้ศึกษาในเรื่องของการทำตลาดว่าต้องการปลาชนิดใด ปลาหมอจึงเป็นคำตอบในการนำมาเลี้ยงในครั้งนี้ เพราะจำนวนคนเลี้ยงยังไม่มากสามารถจำหน่ายได้ตลอดปี

“ช่วงก่อนที่จะมาเลี้ยงปลาหมอ ผมเองก็เลี้ยงปลานิลมาเป็นเวลาจะ 10 ปีเห็นจะได้ เลี้ยงแบบพอดี ต่อมาพอเห็นมีบ่อที่เขาไม่เช่าแล้ว เราต้องมาลงมือทำเอง จึงสนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลาหมอ ดูแล้วน่าจะเลี้ยงง่าย ปลาต้านทานโรคได้ดี รวมไปถึงยังมีคนเลี้ยงน้อยในช่วงนั้น ผมจึงตัดสินใจมาเลี้ยง ตอนแรกจะเลี้ยงเพื่อไว้ทานเองในบ้าน และแจกเพื่อนๆ แต่พอตลาดไปได้ ก็ขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนมีมากกว่า 5 บ่อ ตอนนี้” คุณวิทยา บอก

การล้างดินเลนใต้พื้นบ่อ

หาซื้อลูกพันธุ์ปลาหมอ

จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้

คุณวิทยา บอกว่า การเลี้ยงปลาหมอให้ประสบผลสำเร็จนอกจากมีอาหารที่ดี รวมไปถึงแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการเลี้ยงแล้ว ลูกพันธุ์ปลาหมอต้องหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้เป็นหลักด้วยเช่นกัน เพราะช่วงแรกเขาเองก็มีผู้หลอกจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาให้ แต่เมื่อมีการเข้ารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่เลี้ยงปลาหมอด้วยกัน จึงเกิดความช่วยเหลือซึ่งกันละกัน ช่วยกันแก้ปัญหาอยู่เสมอ ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เจอในการเลี้ยงปลาหมอไม่ได้สู้เพียงลำพัง ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

โดยการเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาหมอนั้น เมื่อจับปลาจำหน่ายหมดยกบ่อแล้ว จะทำการวิดน้ำออกจากบ่อให้หมด จากนั้นฉีดดินเลนใต้พื้นบ่อพร้อมกับดูดออกทั้งหมด เพื่อให้พื้นบ่อมีความสะอาดมากขึ้น นำปูนขาวมาโรยให้ทั่วพื้นบ่อพร้อมกับตากทิ้งไว้ประมาณ 7-14 วัน จากนั้นปล่อยน้ำเข้ามาภายในบ่อทันที พร้อมกับวัดค่าน้ำให้เหมาะสมก่อนที่จะนำลูกพันธุ์ปลาหมอลงมาปล่อยภายในบ่อ

บ่อเลี้ยงปลาหมอ ขนาดตั้งแต่ 1-2 งาน
การคัดไซซ์

ขนาดของบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาหมอมีขนาดตั้งแต่ 1-2 งาน ความลึกมากกว่า 2 เมตร โดยปล่อยลูกปลาหมอไซซ์ใบมะขาม เลี้ยงอยู่ที่ 12,000-15,000 ตัว ต่อบ่อ ซึ่งในช่วงนี้จะให้ลูกปลาหมอกินอาหารลูกกบที่มีโปรตีนอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 ครั้ง ในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น ประมาณ 15 วัน เมื่อลูกปลาหมอเริ่มโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จะเปลี่ยนเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปลาไซซ์ เบอร์ 1 มีโปรตีนอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลาประมาณ 30 วัน จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารปลาไซซ์ เบอร์ 2 โปรตีนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวสุดท้าย ให้ปลาหมอกินจนกระทั่งจับจำหน่าย และเปลี่ยนเวลามาให้กินวันละ 2 มื้อ เป็นช่วงเช้าและเย็น

“ปลาหมอตั้งแต่ไซซ์ใบมะขาม จนถึงขนาดที่ตลาดต้องการจับขายได้ ก็จะใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ 5-6 เดือน ซึ่งการเลี้ยงปลาหมอ ตั้งแต่เลี้ยงมาก็ถือว่าไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของโรคมากนัก เพราะขณะที่เราเลี้ยงเราก็จะมีการถ่ายน้ำเก่าออก พร้อมกับใส่น้ำใหม่เติมเข้าไปอยู่เป็นระยะในช่วงที่เลี้ยง ก็จะช่วยให้น้ำมีการถ่ายเท บวกกับหลังจากที่เราจับปลาขายหมดบ่อแล้ว เรามีการทำความสะอาดบ่ออยู่เสมอ ทำให้ไม่มีการสะสมของเชื้อโรค ก็จะช่วยให้ปลาไม่เจ็บป่วย โตได้ดีมีขนาดไซซ์ที่ใหญ่ตรงตามที่ตลาดต้องการ” คุณวิทยา บอก

เลี้ยงได้น้ำหนัก เฉลี่ยต่อบ่อ 3-5 ตัน

หรือขนาดไซซ์ 2 ตัว ต่อกิโลกรัม

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลาหมอที่เลี้ยงทั้งหมดนั้น คุณวิทยา บอกว่า เมื่อมีกลุ่มผู้เลี้ยงที่เข้มแข็งในเรื่องของการทำตลาด จึงไม่ถือว่าประสบปัญหาในการจำหน่าย เพราะจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาจับถึงที่หน้าบ่อ ซึ่งปลาที่เลี้ยง น้ำหนักเฉลี่ยต่อบ่ออยู่ที่ 3-5 ตัน และขนาดไซซ์ปลาอยู่ที่ 2 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นส่วนใหญ่ และมีขนาดไซซ์ที่ลดหลั่นกันไป ราคาจำหน่ายก็แยกตามเกรดด้วยเช่นกัน

ปลาหมอขนาดไซซ์ 1-2 ตัว ต่อกิโลกรัม

ราคารับซื้อปลาหมอของลูกค้าที่มาจับถึงหน้าบ่อ จะมีราคาตายตัวตลอดทั้งปี โดยปลาหมอที่คัดไซซ์แล้วเป็น 1-2 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นปลาไซซ์ เบอร์ 1 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 71 บาท ส่วนปลาหมอที่มีขนาดไซซ์ 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม จัดเป็นปลาที่อยู่ในไซซ์ เบอร์ 2 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 61 บาท และนอกจากนี้ยังมีจำหน่ายให้กับลูกค้าในพื้นที่ในย่านนี้เข้ามาซื้อภายในบ่อ ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท

ปลาหมอไซซ์ที่ตลาดต้องการ

“ตั้งแต่เลี้ยงปลาหมอมา ลูกค้าก็จะบอกว่า เนื้อปลาที่ผ่านการย่างเกลือ เนื้อปลาค่อนข้างที่นุ่มปุยอร่อย แต่ถ้านำไปแกงก็มีรสชาติที่อร่อยไปอีกแบบ คือตั้งแต่เลี้ยงมา ก็ถือว่าตลาดสามารถไปได้ดีทีเดียว ยังสามารถขายได้เรื่อยๆ ส่วนคนที่อยากเลี้ยง อยากแนะนำว่า อย่างแรกเลยต้องมีความชอบก่อน เพราะปลาหมอค่อนข้างที่จะเป็นสิ่งมีชีวิต เราเองต้องใส่ใจดูแลให้ดี การเลี้ยงก็จะประสบผลสำเร็จแน่นอน ซึ่งหลักๆ เลย สิ่งที่ผมยึดเป็นหลักมี 4 อย่างที่ยึดถือมั่นคือ การใส่ใจเลี้ยง มีลูกพันธุ์ปลาที่ดี อาหารดี และแหล่งน้ำที่ดีเลี้ยงได้ตลอดปี เท่านี้ก็มีรายได้จากการเลี้ยงปลาหมอแน่นอน” คุณวิทยา กล่าวแนะ

ปลาหมอขนาดไซซ์ 1-2 ตัว ต่อกิโลกรัม

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลาหมอ หรือต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงปลาหมอ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลพิ่มเติมได้ที่ คุณวิทยา ศรยินดี หมายเลขโทรศัพท์ 063-396-9292