สาวเมืองขอนแก่น ผันตัวเลี้ยงปูนา สร้างตลาดหลายทาง ปูขายได้ทุกตัว

ปูนา ยังเป็นอีกหนึ่งสัตว์น้ำที่ยังได้รับความนิยมในเรื่องของการเลี้ยงสร้างรายได้ จะเห็นได้ในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ยังนิยมนำปูนามาเป็นส่วนประกอบของอาหารอยู่เป็นประจำ อาทิ ส้มตำ น้ำพริก ที่มีการนำปูนามาเป็นเครื่องเคียงทำให้รสสัมผัสที่อร่อยลงตัวไม่น้อย จากความนิยมบริโภคนี้เอง จึงทำให้ปูนาได้มีการเลี้ยงเป็นเชิงการค้ามากขึ้น โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงเข้าใจในอุปนิสัยของปูนาว่าต้องการอยู่ในพื้นที่แบบใด และน้ำที่ใช้เลี้ยงต้องมีความสะอาดอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้การเลี้ยงปูนาประสบผลสำเร็จ เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะสามารถทำการตลาดได้หลากหลาย

คุณสุรีย์พิชา คำมูลมาตบ์ หรือ คุณแตงโม อยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ที่ 1 บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้ช่วงโควิด จึงได้มาศึกษาการเลี้ยงปูนาจากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ และเข้าไปดูงานจากหลายๆ ฟาร์มที่เลี้ยงปูนาประสบผลสำเร็จ จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้ปรับเข้ากับสถานที่เลี้ยงของเธอเอง พร้อมทั้งค่อยๆ สร้างตลาดอย่างเป็นขั้นตอน จนปัจจุบันมีการทำตลาดออนไลน์เข้ามาช่วยอีกหนึ่งช่องทาง จึงทำให้เกิดรายได้อยู่กับบ้าน

 

 เพราะโควิด-19

ทำให้มีมุมมองทางอาชีพ

คุณแตงโม เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่โรงงาน เมื่อโควิด-19 ระบาดเข้ามาภายในประเทศช่วงแรก ในช่วงนั้นทำให้การทำงานของเธอก็มีการสะดุดบ้าง เพราะด้วย    สถานการณ์หลายๆ อย่าง ยิ่งเป็นช่วงที่ต้องหยุดบ่อยๆ อยู่กับบ้านทำให้มีเวลามากขึ้น แต่รายได้ลดลงเพราะจากการที่ไม่ได้ออกไปทำงาน จึงเกิดความคิดกับตัวเองในเรื่องมุมมองของอาชีพว่า ถ้ายังมีรายได้เพียงทางเดียวแบบนี้ด้วยสถานการณ์โควิดเช่นนี้ จะยิ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมีเงินเก็บน่าจะลำบาก จึงได้เกิดความสนใจที่อยากจะไปตั้งต้นอาชีพที่น่าจะช่วยให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้มองในเรื่องของการทำเกษตรอยู่ในที่ดินบ้านเกิด จึงได้ตกลงปลงใจที่จะเลี้ยงปูนาในเวลาต่อมา

“พอสถานการณ์บังคับ เรารู้เลยว่าถ้าปล่อยตัวสบายๆ แบบนี้แย่แน่ๆ ก็เลยมองว่าเดี๋ยวนี้ ช่องทางการหาความรู้มีหลายที่มากขึ้น จึงได้มองในเรื่องของการทำอาชีพทางการเกษตรต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดให้เรามีรายได้ ทีนี้ก็ได้ไปดูรายการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงปูนา เห็นเขาเลี้ยงกันแล้วเกิดรายได้ดี มันก็ทำให้เราคิดว่าจริงไหม ก็เลยไปศึกษาการเลี้ยงจากหลายๆ ที่ และนำมาปรับใช้กับพื้นที่บ้านของเราเอง เรียนรู้อุปนิสัยต่างๆ จนสามารถเลี้ยงได้ โดยช่วงแรกขายเองง่ายๆ ก่อนแบบยังไม่ได้ทำตลาดกว้าง แต่เมื่อมีจำนวนมากขึ้น และคนรู้จักมากขึ้นก็ทำตลาดออนไลน์ควบคู่ไปด้วยเวลานี้” คุณแตงโม บอก

ปูนา

 

เน้นเลี้ยงในบ่อปูซีเมนต์

และบ่อดินกึ่งธรรมชาติ

คุณสุรีย์พิชา คำมูลมาตบ์ หรือ คุณแตงโม

สายพันธุ์ปูนาที่นำมาเลี้ยงนั้น คุณแตงโม บอกว่า จะเป็นปูนาสายพันธุ์พระเทพฯ และปูนาพันธุ์กําแพงเพชร โดยจะนำพ่อแม่พันธุ์เข้ามาปล่อยเลี้ยงในบ่อขนาด 2.50×2.50 เมตร ใส่น้ำเลี้ยงในบ่อสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ปล่อยในอัตราส่วน 400-500 ตัว ต่อบ่อ เป็นตัวแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งภายในบ่อที่เลี้ยงก็จะมีกระเบื้องต่างๆ ไว้เป็นที่หลบซ่อนของปู รวมทั้งสามารถนำทางมะพร้าวเข้ามาไว้ภายในบ่อได้

ซึ่งการเลี้ยงของเธอมีทั้งแบบเป็นบ่อที่มีการเลี้ยงแบบบ่อซีเมนต์ และการเลี้ยงในบ่อดินที่ทำเลียนแบบธรรมชาติเข้ามาช่วยด้วย ซึ่งการเลี้ยงไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างในเรื่องของราคา โดยปูที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์จะมีราคาที่แพงกว่าเล็กน้อย

หลังจากที่ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงไปเลี้ยงภายในบ่อแล้ว การที่จะทำให้ปูนาผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปีนั้น การทำเลียนแบบธรรมชาติถือว่าสำคัญมาก โดยบนบ่อที่เลี้ยงจะเปิดน้ำจากสปริงเกลอร์เข้ามาช่วย ทำให้ปูนารู้สึกเหมือนว่าฝนตก เป็นอีกหนึ่งช่องทางทำให้ปูนาผสมพันธุ์ได้ไวขึ้น หลังจากที่ปูผสมพันธุ์อีกประมาณ 1 เดือนกว่าๆ แม่พันธุ์ปูนาก็จะเริ่มมีไข่และตัวลูกปูที่หน้าท้องให้เห็น ถ้าในพื้นที่บ่อเลี้ยงมีความหนาแน่นหลังจากที่ลูกปูออกมาก็จะนำไปอนุบาลต่อในพื้นที่ที่เตรียมไว้ แต่ถ้าพื้นที่บ่อเลี้ยงยังไม่หนาแน่นก็จะทำการเลี้ยงรวมกันภายในบ่อ เพราะการที่ปูนาฟักลูกออกมาเองจะช่วยให้ลูกปูค่อนข้างมีความแข็งแรง โดยลูกปูที่มีตัวเล็กขนาดเท่านิ้วก้อยเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ก็จะได้ขนาดไซซ์ที่ตลาดต้องการ

“สิ่งหลบภัยสำหรับปูนานี่ถือว่าสำคัญมาก เราต้องมีพื้นที่หลบภัยให้เขาเสมอ เพราะช่วงกลางวันเขาจะชอบหลบ ส่วนช่วงเย็นๆ ไม่มีแสงแดดมาก เขาก็จะออกมากินอาหาร ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงปูนา จะเป็นอาหารปลาดุก หรืออาหารกบที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 45 ให้กินในช่วงเย็นอย่างเดียว ส่วนอาหารที่เป็นผลไม้ตามฤดูกาล ก็จะมีให้กินบ้าง เป็นกล้วยสุก มะม่วงสุก ที่หาได้ตามฤดูกาลมาให้กินบ้าง แต่น้ำที่เลี้ยงปูนาถือว่าสำคัญมาก ต้องมีการถ่ายน้ำอย่างน้อยวันเว้นวัน ยิ่งน้ำสะอาดการสะสมโรคจะไม่เกิด และปูนาจะโตได้ดี” คุณแตงโม บอก

โดยปูนาที่เลี้ยงทั้งหมดภายในฟาร์ม คุณแตงโม บอกว่า สามารถกำหนดทิศทางในเรื่องของการทำตลาดได้ ถ้าหากต้องการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ก็จะเลี้ยงมีอายุ อยู่ที่ 4-5 เดือนขึ้นไป ส่วนปูที่ไม่สวยทรงไม่ดีก็สามารถทำตลาดส่งจำหน่ายให้กับร้านอาหารในพื้นที่

บ่อเลี้ยงที่เลียนแบบธรรมชาติ

 

ปูนา ทุกตัว

สามารถทำเงินได้

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปูนาภายในฟาร์มนั้น คุณแตงโม เล่าว่า ช่วงแรกไม่ได้เน้นสร้างตลาดออนไลน์มากนัก เพราะเมื่อคนในพื้นที่รู้ว่ามีการเลี้ยงก็เข้ามาติดต่อขอซื้ออยู่เสมอ โดยลูกค้าบางรายต้องการซื้อไปเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อเลี้ยงต่อ หรือลูกค้าร้านอาหารก็มาติดต่อซื้อเพื่อไปประกอบอาหารด้วยเช่นกัน เธอจึงไม่ได้ละเลยความต้องการของลูกค้าทำตลาดรองรับตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายนี้ด้วยเช่นกัน

ปูนาที่มีอายุ 4-5 เดือน จะนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ ราคาอยู่ที่คู่ละ 60 บาท และถ้าอายุปูนามากกว่า 6 เดือน ราคาจำหน่ายอยู่ที่คู่ละ 80-100 บาท ส่วนปูนาที่มีทรงไม่สวยและมีขาและก้ามที่หักออกไป จะจำหน่ายสำหรับทำเป็นตลาดส่งร้านอาหาร ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-150 บาท ส่วนปูนาที่เลี้ยงในบ่อดิน ราคาจำหน่ายจะไม่เกิน 100 บาท ต่อกิโลกรัม

บ่อเลี้ยงทำที่หลบให้ปู

“ตอนนี้พอมาเริ่มเลี้ยงปูนา ก็รู้สึกว่าสามารถสร้างตลาดให้เราได้จริง มีรายได้อยู่กับบ้านบนที่ดินของเราเอง ซึ่งการเลี้ยงของเรา ก็มีทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงก็ไม่มีปัญหาสามารถเลี้ยงได้ทุกแบบ และสามารถจำหน่ายได้ทุกตัว ถ้าเรามีการจัดการตลาดที่ดี ยิ่งทำออนไลน์ลูกค้าก็ยิ่งเข้าถึง เพราะฉะนั้นคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงปูนา ก็อยากจะบอกว่า การเลี้ยงไม่ยาก เพียงเรามีความใส่ใจเรียนรู้อยู่เสมอ ประสบการณ์ต่างๆ จะสอนเราจนทำให้เราประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก” คุณแตงโม บอก

บ่อเลี้ยงทำที่หลบให้ปู

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปูนา ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสุรีย์พิชา คำมูลมาตบ์ หรือ คุณแตงโม หมายเลขโทรศัพท์ 065-891-0133 ไลน์ ID tang291123