นักวิจัยลงทะเล พบปะการังฟอกขาวกินเกาะพีพีเป็นวงกว้าง ชี้อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น

วันที่ 18 พฤษภาคม นายทิฆัมพร ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เปิดเผยว่า

เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ลงพื้นที่ทางทะเลอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี สำรวจปะการัง ในบริเวณ อ่าวปิเละ อ่าวโละซามะ เกาะยูง ด้านทิศตะวันออก อ่าวลิง เกาะไผ่ เกาะไก่ หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่

จาการสำรวจพบว่าเกิดปรากฏการณ์ ปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างกระจายอยู่ ทั่วทุกพื้นที่ โดยชนิดปะการังที่ฟอกขาว ที่พบประกอบด้วย ปะการังเขากวาง ปะการังวงแหวน ปะการังช่องเหลี่ยม ปะการังดอกเห็ด ปะการังดอกกะหล่ำ และปะการังโขด โดยปะการังเกิดการฟอกขาวมากที่บริเวณเกาะไก่ ประมาณร้อยละ 80 สาเหตุเกิดจาก อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 31-35 องศา จากปกติจะอยู่ที่ 28-30 องศา สิ่งที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ ปะการังโขด ที่พบว่ามีการฟอกขาวเกิดขึ้น

1463563107

ขณะที่เมื่อปี 2553 เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งรุนแรง แต่ปะการังชนิดนี้ ไม่มีการฟอกขาวแต่อย่างใด และไม่เคยมีบันทึกการฟอกขาวในปะการังโขด แต่ปีนี้พบมีการฟอกขาวเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าค่อนข้างเข้าขั้นวิกฤตการฟอกขาวของปะการัง โดยสาเหตุเนื่องมาจากในปีนี้อากาศร้อนยาวนานกว่าปกติ แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าการที่ปะการังฟอกขาว ไม่ได้หมายความว่าปะการังตาย เพียงแต่อ่อนแอเท่านั้น หรือมีอาการโคม่า และหากว่าอากาศยังร้อนต่อไป ก็อาจจะส่งให้ปะการรังอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนตายในที่สุด

นายทิฆัมพรเปิดเผยอีกว่า ในเรื่องของธรรมชาติ เราอาจจะควบคุมไม่ได้แต่เราก็จะช่วยกันได้ในเรื่องของการปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการรบกวนจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการเหยียบย่ำ เรือวิ่งผ่าน ซึ่งจะทำให้ปะการังมีโอกาสปรับตัวฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ และเป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้ ปะการังเขาขวางที่มีการฟอกขาวเป็นจำนวนมาก มีการปรับตัว เกิดการฟอกขาวน้อยลง ซึ่งจะเสนอให้ทางกรมอุทยานพิจารณาในการจัดการปิดพื้นที่ต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์