เกษตรกรตรัง เลี้ยงปลิงทะเล คู่สาหร่ายพวงองุ่นในโรงเรือน

บ้านแหลมไทร ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นชุมชนที่อยู่ติดทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงแบบพื้นบ้านด้วยเรือหางยาวขนาดเล็กเป็นอาชีพหลัก โดยวางอวนจับปู กุ้ง และปลาทราย  เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในทะเล ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศป่าชายเลนและแนวประการัง โดยแหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งวางไข่ และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนของสัตวน้ำนานาชนิด

ต่อมาเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นกับแหล่งหญ้าทะเลจากการทำประมง ตลอดจนการพัฒนาแหล่งชุมชนซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำที่อาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศของแหล่งหญ้าทะเล ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านจับสินค้าสัตว์น้ำได้น้อยลง มีรายได้น้อยลง

นายวสันต์ เตะเส็น ผู้ใหญ่บ้านแหลมไทร เป็นแกนนำรวบรวมชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้านแหลมไทร หมู่ที่ 3 ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมประมง ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆ ในการเฝ้าระวังรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านเชิงอนุรักษ์ การบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพให้แก่ชาวบ้านในชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ร่วมกันทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น เก็บขยะทางทะเล ปล่อยพันธุ์ปลา พันธุ์ลูกปูม้า ปลูกหญ้าทะเล เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและอาหารของพะยูน ตลอดจนแลกเปลี่ยนรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หญ้าทะเล การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

นายวสันต์ กับ ผู้บริหาร วช. และ นักวิจัย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง

 เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

เป็นรายได้เสริมตลอดปี

การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เป็นอาชีพทางเลือกที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  และ ผศ.มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ได้เข้ามาอบรมความรู้ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการในการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เพื่อเป็นอาชีพเสริมของชาวประมงชายฝั่ง ที่ไม่สามารถออกทะลได้ในหน้ามรสุมให้มีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

จากผลสำเร็จดังกล่าว นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์บ้านปากคลอง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมี นายเกษม บุญญา ผู้ใหญ่บ้านปากคลอง เป็นประธานศูนย์วิจัยฯ 2. ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์บ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมี นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย เป็นประธานศูนย์วิจัยฯ 3. ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์บ้านแหลมไทร ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมี นายวสันต์ เตะเส็น ผู้ใหญ่บ้านแหลมไทร เป็นประธานศูนย์วิจัยฯ

สาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงผสมผสานในบ่อเดียวกัน

สาหร่ายพวงองุ่น ดูแลง่าย

นายวสันต์ กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ใช้เวลาเลี้ยงสั้น ต้นทุนต่ำ โรงเรือนเลี้ยงสาหร่ายที่ใช้ป้องกันฝนและแสงแดด ต้องมีโครงสร้างสูงโปร่ง อากาศถ่ายเทดี ใช้หลังคากระเบื้องทึบสลับกับกระเบื้องพลาสติกใส เพื่อให้แสงผ่านไปยังบ่อปูนที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายได้ตลอดทั้งวัน

อุณหภูมิที่เหมาะสมสาหรับสาหร่าย อยู่ระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียล ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายอยู่ในช่วงระหว่าง 28-34 องศาเซลเซียล หากอุณหภูมิของน้ำในอ่างเพาะเลี้ยงสูงกว่า 38 องศาเซลเซียล จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่น

เนื่องจากไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อเจริญเติบโตของสาหร่ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในโรงเพาะเลี้ยงปัจจุบันจึงนิยมใช้ในกระบวนการเลี้ยงสาหร่าย แต่ มทร.ศรีวิชัย แนะนำให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบอินทรีย์ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นปุ๋ยหรือใช้น้ำล้างสัตว์น้ำ เช่น ปลาหรือปู เป็นปุ๋ยในการเลี้ยงสาหร่ายแทน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ทางกลุ่มเลี้ยงสาหร่ายในบ่อซีเมนต์ ใส่น้ำทะเลประมาณ 3/4 ส่วนของบ่อ ใส่สายอากาศ และหัวทรายในบ่อ โดยใช้หัวทราย 1 หัวต่อ 1 ตารางเมตร ใช้พันธุ์สาหร่ายลงไปเลี้ยงในอัตราส่วน 1 ตารางเมตรต่อสาหร่าย 1 กิโลกรัม ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 70-100 เปอร์เซ็นต์ต่อสัปดาห์ โดยน้ำที่นำมาถ่ายต้องมีความเค็ม 25-30 ppt และต้องรักษาความเค็มไม่ให้เกิน 35 ppt

สาหร่ายก้างปลา (ซ้าย) สาหร่ายพวงองุ่น (ขวา)

ข้อควรระวังระหว่างการเลี้ยงสาหร่ายคือ ต้องดูแลไม่ให้สาหร่ายไส้ไก่ สาหร่ายขนนก ฯลฯ ขึ้นปะปนกับสาหร่ายพวงองุ่น คอยระวังไม่ให้ลูกปลาชนิดต่างๆ ปะปนมากับน้ำทะเลเข้ามาอาศัยในบ่อเลี้ยงสาหร่าย โดยเฉพาะหนอนท่อที่มักเข้ามาอาศัยและขยายพันธุ์อย่างเร็วในบ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เมื่อเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่น ยากที่จะกำจัดออก หากมีหนอนท่อติดไปด้วย เมื่อนำไปกิน จะทำให้ผู้บริโภคท้องเสียได้

ข้อดีของการเลี้ยงสาหร่ายในบ่อซีเมนต์คือ สาหร่ายค่อนข้างสะอาด มีตะกอนดิน พืช และสัตว์น้ำขนาดเล็กปะปนในสาหร่ายในปริมาณที่น้อย สามารถเลี้ยงสาหร่ายได้ตลอดทั้งปี ในบ่อซีเมนต์ไม่มีปัญหาเรื่องความเค็มของน้ำเนื่องจากสามารถควบคุมความเค็มและคุณภาพน้ำอื่นๆ ได้ หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว นำสาหร่ายไปผ่านกระบวนการล้างและฆ่าเชื้อเพียงเล็กน้อย

สาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงแบบอินทรีย์สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว สินค้าขายดีเป็นที่ต้องการตลาด จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะสาหร่ายชนิดนี้มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหาร อุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

นายวสันต์ เตะเส็น โชว์ปลิงทะเลขาว

เลี้ยงปลิงทะเลขาว เสริมรายได้

นอกจากนี้ ภายในบ่อเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ยังเลี้ยงปลิงทะลขาว เป็นช่องทางสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากปลิงทะเลเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก เพราะเป็นทั้งอาหารและมีสรรพคุณทางยา ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ปลิงทะเลสด ขายราคา 300-500 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนปลิงทะเลตากแห้ง ขาย 3,000-7,000 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับปลิงทะเล (Sandfish) Holothuria scabra หรือที่รู้จักว่า “ปลิงขาว” อาศัยอยู่หน้าดินบริเวณแนวชายฝั่งทะเล ปลิงทะเลมีส่วนช่วยในการรักษาความสมดุลธรรมชาติจากการกินซากหรือใบที่เน่าเปื่อยของหญ้าทะเลและซากสัตว์ที่ทับถมอยู่หน้าดิน ช่วยในการย่อยสลายอินทรียวัตถุขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง ช่วยปลดปล่อยสารอาหารขนาดเล็กให้กับสัตว์ขนาดเล็กและจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นและในตะกอน

ปลิงทะเลขาวที่เลี้ยงในโรงเรือน

ปัจจุบัน ปลิงทะเลในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างมาก นายวสันต์จึงสนใจศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงปลิงขาว เริ่มจากการนำพ่อแม่พันธุ์ปลิงทะเลมาจากธรรมชาติมาเลี้ยงในระบบปิด ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณปีเศษจนได้ปลิงขาวที่มีขนาดตามที่ตลาดต้องการ

โดยธรรมชาติ ปลิงขาวมีเพศแยกและผสมแบบภายนอกโดยปล่อยไข่กับสเปิร์มออกมาผสมในน้ำ ตัวอ่อนของปลิงขาวมีการดำรงชีวิตแบบแพลงตอน เมื่อเข้าสู่ระยะวัยรุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 มิลลิเมตรจะเกาะบนใบหญ้าทะเล ในช่วงแรกปลิงขาวจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ใน 1 ปี  ปลิงขาวจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และเจริญเติบโตถึง 15 เซนติเมตรภายใน 1-2 ปี

วงจรชีวิตปลิงทะเล

ที่ผ่านมาพบว่า การเลี้ยงปลิงทะเลในระบบปิด จะให้เวลาประมาณ 8-9 เดือน จะได้ปลิงขาวขนาดลำตัว 10-12 นิ้ว หรือความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักตัวละ 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม จึงจะสามารถนำออกมาจำหน่ายได้ เนื่องจากปลิงทะเลมีต้นทุนการผลิตต่ำ เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง ที่ผ่านมา กรมประมง นวัตถกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จึงมุ่งส่งเสริมให้ชาวประมงเลี้ยงปลิงทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย