หนุ่มเมืองตรัง เพาะพันธุ์กบขาย ลูกกบมีคุณภาพ ลูกค้าสั่งจองข้ามปี

คุณสุวรรณดี ขวัญเมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง ให้ข้อมูลว่า ทางศูนย์ได้มีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดหลายชนิด เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและอีกส่วนส่งจำหน่ายให้กับเกษตรกร พร้อมกันนี้ยังมีการส่งเสริมเกษตรกรคือการให้องค์ความรู้ เพื่อให้สามารถผลิตและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น การส่งเสริมของศูนย์วิจัยฯ จึงมีความสำคัญต่อการทำประมงของเกษตรกรในพื้นที่

“ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีขอบเขตความรับผิดชอบหลายด้าน เพื่อให้การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำมีมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ยังต้องการพัฒนาอีกหลายด้าน ก็จะมีบางท่านหรือเกษตรกรบางรายเข้ามาเรียนรู้ ในเรื่องของการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจากทางศูนย์ จากนั้นนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และปรับใช้กับอาชีพของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น อยากจะฝากถึงท่านใดที่มีความสนใจจะทำอาชีพประมง อยากให้ศึกษาข้อมูลในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการทำตลาด ถ้าสำรวจตลาดไว้เป็นอย่างดี สินค้าประมงที่ผลิตออกมา มีตลาดรองรับได้อย่างแน่นอน” คุณสุวรรณดี กล่าว

คุณสุวรรณดี ขวัญเมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง

คุณชวลิต วรรณบวร หรือ คุณปอ เจ้าของแสงบุญมา กบทองฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 128 หมู่ที่ 5 ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นเกษตรกรที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์กบจำหน่าย โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมมาต่อยอด ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์กบด้วยการเพาะพันธุ์จนเป็นสีทองสวย นอกจากจำหน่ายลูกพันธุ์ให้กับลูกค้าภายในพื้นที่แล้ว ยังเลี้ยงเป็นกบเนื้อเพื่อส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าอีกด้วย

คุณชวลิต วรรณบวร หรือ คุณปอ

คุณปอ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเริ่มเพาะพันธุ์กบและสร้างฟาร์มจนยึดเป็นอาชีพได้ถึงทุกวันนี้นั้น ได้ทำงานเป็นช่างรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ต่างๆ ต่อมารู้สึกอยากทำอาชีพที่สามารถทำอยู่กับบ้านได้ จึงสนใจในเรื่องของการเลี้ยงกบและได้ศึกษาหาข้อมูลต่างๆ จากสื่อโซเชียลมีเดีย พอประมาณปี 2562 จึงเริ่มเลี้ยงอย่างจริงจังและพัฒนาการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนได้ลูกพันธุ์กบเป็นสายพันธุ์ที่นิ่ง และมีโครงสร้างตัวใหญ่สีเหลืองทองสวยในแบบที่ตั้งใจไว้

ลูกอ๊อด

“สายพันธุ์กบช่วงแรกซื้อมาจากพัทลุงบ้าง โดยนำกบนากับกบจานมาผสมพันธุ์กัน เพื่อพัฒนาให้ได้กบที่มีโครงสร้างดี มีโครงสร้างตัวที่ใหญ่ เพราะถ้าเป็นกบทางใต้เลยตัวจะค่อนข้างเล็ก เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาพันธุ์ให้พร้อมใช้งาน จากการเรียนรู้ของผมพอผสมไปได้ประมาณ 4 สายพันธุ์ กบภายในฟาร์มก็มีความนิ่ง และตอนนี้ก็ถือว่าได้เป็นสายพันธุ์ที่ทำการค้าได้ เพราะมีสีเหลืองทองเป็นที่ต้องการของตลาด” คุณปอ บอก

ลูกกบภายในบ่อ

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กบในฟาร์ม คุณปอ เล่าว่า จะเลี้ยงตัวผู้และตัวเมียแยกกัน โดยบ่อที่เลี้ยงจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1 เมตร ความสูง 1 เมตร ปล่อยกบเลี้ยงอยู่ที่ 25-30 ตัวต่อบ่อ เมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน จะนำพ่อแม่พันธุ์กบที่มีอายุ 10 เดือนขึ้นไป มาใส่ลงในบ่อเพาะพันธุ์ที่เตรียมไว้ ปล่อยอัตราส่วนพ่อพันธุ์ 15 ตัวต่อตัวเมีย 10 ตัว

กบที่ผ่านการพัฒนาจนได้สีทองสวย

จากนั้นปล่อยไว้ 1 คืน แม่กบจะวางไข่ทั่วพื้นที่บ่อ ให้จับพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อทันที รอไข่ฟักตัวอีกประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อได้ลูกอ๊อดออกมาแล้ว ช่วงนี้จะให้กินไข่แดงวันละ 1 มื้อ ประมาณ 2-3 วัน โดยให้กินแต่พอดี หากให้กินอาหารมากจนเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย หลังจากที่ลูกอ๊อดโตขึ้นมาอีกระยะหนึ่ง จะเปลี่ยนอาหารเป็นแบบผงสำหรับเลี้ยงลูกอ๊อด ให้กินประมาณ 12 วัน เป็นอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 42-45 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารแบบเม็ดที่มีโปรตีนอยู่ที่ 42-45 เปอร์เซ็นต์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาหารเม็ดเล็กนี้เลี้ยงอีกประมาณ 20-25 วัน ลูกกบก็จะได้เป็นไซซ์ที่พร้อมจำหน่ายได้

Advertisement

Advertisement

“พอลูกกบได้ไซซ์ประมาณ 45 วัน ก็จะได้ไซซ์ประมาณนิ้วโป้ง อายุประมาณนี้สามารถขายได้ โดยจะผลิตส่งขายอยู่แบบนี้ตลอดทั้งปี ส่วนโรคที่เกิดขึ้นกับกบไม่ค่อยเจอปัญหามากนัก เพราะในน้ำที่เลี้ยงภายในฟาร์ม ผมจะถ่ายน้ำวันเว้นวัน จึงทำให้น้ำที่เลี้ยงภายในบ่อค่อนข้างสะอาด และที่สำคัญบนบ่อผมจะมีหลังคาปิดอยู่ด้านบน น้ำจากฝนที่อาจนำเชื้อโรคเข้ามาก็ลงมาไม่ได้ ทำให้ฟาร์มผมค่อนข้างที่จะปลอดโรค กบไม่เกิดอาการเจ็บป่วยหรือตายให้เกิดการเสียหาย” คุณปอ บอก

การผสมพันธุ์ภายในบ่อที่เตรียมไว้

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายลูกพันธุ์กบและกบเนื้อนั้น คุณปอ บอกว่า การเลี้ยงเพื่อทำตลาดมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ 1. เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ลูกกบขาย และ 2. เลี้ยงให้เป็นกบเนื้อที่มีขนาดใหญ่ อายุ 2-3 เดือน ส่งขายให้กับแม่ค้าที่มารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม ซึ่งจุดแข็งของกบที่เลี้ยงในฟาร์มของคุณปอจะไม่มีกลิ่นคาว จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดและยังมีแม่ค้าบางรายมารับซื้อเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

พื้นที่ภายในฟาร์ม

ลูกกบที่จำหน่ายราคาอยู่ที่ตัวละ 3 บาท ส่วนกบเนื้อที่มีแม่ค้ามารับซื้อเพื่อส่งขายที่ประเทศมาเลเซีย ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-65 บาท ซึ่งลูกพันธุ์กบตั้งแต่ทำการเพาะพันธุ์มา ยังถือว่าตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งเวลานี้ทางฟาร์มเองมีกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาติดต่อขอซื้อหรือสั่งจองตลอดทั้งปี

“ตั้งแต่ทำมา 4 ปี วงการเพาะพันธุ์กบถือว่าเป็นอาชีพที่ยังสามารถทำเงินได้ครับ แม้บางช่วงจะมีค่าอาหารที่เลี้ยงปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่าการเลี้ยงยังพออยู่ได้ แม้แต่การเลี้ยงเป็นกบเนื้อที่มีขนาดใหญ่ แม้ค่าอาหารจะสูงไปบ้างแต่พอจับขายแล้ว ยังสามารถทำกำไรได้อยู่ครับ สำหรับคนที่อยากเลี้ยงกบหรือเพาะพันธุ์สร้างรายได้ สิ่งแรกเลยคือเรื่องของน้ำ ต้องมีแหล่งน้ำที่ดีในการเลี้ยง รองลงมาคือพื้นที่บ่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และสภาพอากาศถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่จะทำให้การเลี้ยงกบประสบผลสำเร็จ ถ้ามีสิ่งที่เหมาะสมแบบที่กล่าวมาก็จะช่วยให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จแน่นอนครับ” คุณปอ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงกบหรือเพาะพันธุ์ หรือต้องการพูดคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงกบเนื้อ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชวลิต วรรณบวร หรือ คุณปอ หมายเลขโทรศัพท์ 086-951-0250