อาชีพทางประมงให้ยั่งยืน ควรศึกษาเรียนรู้ให้รอบด้าน เน้นสร้างตลาดหลากหลาย ช่วยเสริมรายได้ทุกทิศทาง

จากสภาพแวดล้อมและสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่าสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติกำลังมีจำนวนที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้วิถีชีวิตของการหาสัตว์น้ำในแหล่งธรรมชาติ ค่อยๆ เจือจางหายไปตามกาลเวลา เพราะภายในแหล่งน้ำเริ่มไม่มีความสมบูรณ์เหมือนเช่นครั้งเก่าก่อน

แต่ด้วยวิสัยของการเอาตัวรอดในช่วงที่เกิดการขาดแคลนด้านอาหาร จึงทำให้มีเทคโนโลยีการประมงใหม่ๆ เกิดขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วยสร้างแหล่งโปรตีนที่ได้จากเนื้อปลาให้ยังคงอยู่ และมีพอเพียงแต่จำนวนของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์ปลาให้มีจำนวนมากขึ้น ตลอดไปจนถึงการเพาะเลี้ยงให้สัตว์น้ำเจริญเติบโต ส่งจำหน่ายยังแหล่งค้าขายต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้เกษตรกรผู้จับอาชีพทางด้านนี้มีรายได้จากการทำประมง

ซึ่งทางกรมประมงเองก็ได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีมาตรฐานมากขึ้นโดยทุกขั้นตอนต้องผ่านตามมาตรฐานที่กำหนด และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรยิ่งมีรายได้และทำอาชีพทางด้านนี้ได้อย่างยืนยาว แต่กระนั้นใช่ว่าการประกอบทางอาชีพนี้จะไม่มีอุปสรรคเลย ปัญหาแต่ละช่วงของผู้ทำการเลี้ยงสัตว์น้ำ หากไม่เกิดจากสภาพอากาศก็เกิดจากสภาพแวดล้อม หรือตลาดไปจนถึงการดูแลที่อาจต้องมีความผิดพลาดกันได้

คุณเทียมศักดิ์ สง่ากชกร อยู่บ้านเลขที่ 5/9 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำแม่กลองมากกว่า 20 ปี หรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่า เป็นตัวยงในเรื่องของการเลี้ยงปลากระชังกันเลยทีเดียว

เมื่อสมัยก่อนที่เขาเริ่มทำการเลี้ยงปลากระชังครั้งแรก ได้เลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในช่วงนั้นถือว่ามีความนิยมมาก เพราะปลาทับทิมกำลังเป็นที่รู้จักของตลาดจึงทำให้สามารถส่งจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง และขยายกระชังเลี้ยงออกไปเรื่อยๆ จนทำให้ปลาสามารถมีจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และไม่เพียงจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น ปลาภายในฟาร์มของเขายังส่งไปจำหน่ายยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงปลาในกระชังเพื่อสินค้ามีอย่างเพียงพอต่อความต้องการ

ต่อมาเมื่อระยะประมาณเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากปลากระชัง เริ่มมีจำนวนที่ลดน้อยลง จึงทำให้ปริมาณการจำหน่ายที่มากอย่างสมัยก่อนมีการปรับตัวลดลง จึงทำให้การวางแผนของการเลี้ยงปลาก็ต้องปรับการเลี้ยงให้ลดน้อยลงไปด้วย เมื่อระยะเวลานานวันสภาวะทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ทำให้เกษตรกรบางรายถึงกับต้องปิดกิจการไปอย่างถาวรก็มีเกิดขึ้นให้เห็น

“ปี 60 ที่มานี่เศรษฐกิจค่อนข้างแย่ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ปลาที่ผลิตได้กำลังการส่งออกน้อยลง อย่างที่มาผ่านมาเราจะส่งออกไปทางมาเลเซีย สิงคโปร์ เพราะช่วงที่ผ่านมามีกระแสหลายๆ อย่าง จึงทำให้ตลาดต่างประเทศหยุดสั่งปลาจากประเทศไทย ซึ่งแม้แต่สมัยก่อนการส่งขายในประเทศจะดี แต่ตอนนี้กำลังซื้อของคนในประเทศก็น้อยลงตามไปด้วย เลยทำให้ราคาปลานิล ปลาทับทิมเวลานี้ มีราคาถูกลงอย่างเห็นได้ชัด” คุณเทียมศักดิ์ กล่าว

ซึ่งปลาเลี้ยงในกระชังที่เป็นไซซ์ใหญ่ คุณเทียมศักดิ์ บอกว่า จะเน้นส่งออกยังตลาดต่างประเทศ และไซซ์รองลงมาจะเป็นไซซ์ที่คนอยู่ในประเทศนิยมกินไซซ์ประมาณ 500-600 กรัม โดยตลาดหลักก็ในพื้นที่ แต่เมื่อสภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ จึงทำให้จำเป็นต้องประคองธุรกิจด้วยการลดจำนวนเลี้ยงให้น้อยลง เพื่อไม่ให้จำนวนปลามีมากจนเกินไปจนล้นตลาด

“การลดปริมาณการเลี้ยงน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำในช่วงนี้ อย่างเคยเลี้ยง 100 กระชัง ก็ลดลงมาเลี้ยงแค่ 20-30 กระชังพอ เพราะว่าถ้าจะให้เลิกเลี้ยงเลยคงทำไม่ได้ เพราะเราลงทุนการทำธุรกิจไปแล้ว ทำได้แค่เพียงทำการชะลอการเลี้ยงไป อย่างปลาทับทิมสมัยก่อนขายได้กิโลกรัมละ 82 บาท ตอนนี้เวลานี้อยู่ที่ 65 บาท ต่อกิโลกรัม และมองว่าในปีหน้าราคาน่าจะลงมาอีกเรื่อยๆ หากสภาวะเศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็เลยอยากจะให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ก็จะทำให้คนยังต่างประเทศเห็น รวมทั้งส่งเสริมให้คนในประเทศหันมากิน ก็จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงได้มาก” คุณเทียมศักดิ์ บอก

โดยการเลี้ยงปลากระชังในเรื่องของสภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่มีปัญหา บางพื้นที่สภาพน้ำยังค่อนข้างเลี้ยงปลากระชังได้อย่างดี แต่ช่วงนี้สิ่งที่ต้องแก้มากที่สุดคือเรื่องของการตลาด อาจจะไม่ต้องส่งขายให้กับแหล่งขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้เลี้ยงเองต้องมีการเตรียมตัวรับมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาสภาพเศรษฐกิจ ตลอดไปจนถึงการนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ก็จะช่วยให้สามารถสร้างกำไรจากการเลี้ยงได้

“ตอนนี้ทุกคนที่เลี้ยงปลากระชัง ก็มีคาดหวังกันว่า ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะดี แต่หากไม่ดีอย่างที่หวัง ก็จะมีการรับมือและเตรียมพร้อมกันในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจยังอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาช่องทางการทำตลาด ไปจนถึงการแปรรูปต่างๆ ก็จะช่วยได้บ้าง เพราะฉะนั้นการศึกษาสภาวะเรื่องเศรษฐกิจจึงสำคัญมาก เราจะเลี้ยงและขายอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในเรื่องของการศึกษาทุกอย่างให้ครบวงจรจึงสำคัญมาก ของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในยุคปัจจุบัน” คุณเทียมศักดิ์ แนะนำ