“กุ้งปีระกา” ประเดิมบุกยึดตลาดจีน เอกชนคาดผลิตพุ่ง 15% จี้รัฐเร่งเจรจาลดภาษีแวต

กุ้งไทยสดใสถึงปีหน้า คาดผลผลิตปี′60 ขยับขึ้นเป็น 3.5 แสนตัน ลุยเจาะตลาดจีนเพิ่มทดแทนอียู สมาคมกุ้งไทยเสนอรัฐ 3 ข้อ เร่งประชาสัมพันธ์ในการแก้ไขปัญหาแรงงาน เจรจาจีนยกเลิกเก็บแวต และผลักดันกุ้งดิบเข้าออสเตรเลีย

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งไทยในปี 2559 ว่า ผลผลิตกุ้งไทยปีนี้ คาดว่าจะมีประมาณ 3 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2558 ที่ผลิตได้ 2.6 แสนตัน ทั้งนี้จากการปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงจนแก้ปัญหาโรคระบาดอีเอ็มเอสได้สำเร็จ โดยการปรับปรุงฟาร์มและการจัดการการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ คาดว่าปี 2560 จะเป็นปีที่ดีสำหรับเกษตรกร ทั้งราคาดีและผลผลิตน่าจะอยู่ในระดับ 3.5 แสนตัน

ส่วนการส่งออก จากข้อมูลเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้อยู่ที่ 160,935 ตัน มูลค่า 54,483 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2558 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.86 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.11 คาดว่าปีนี้จะส่งออกกุ้งได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยตลาดจีนเป็นความหวังของไทยในอนาคต เพราะจีนขยายพื้นที่เลี้ยงลำบากจากระบบนิเวศไม่เอื้อ ผลผลิต 5 แสนตัน/ปี ไม่พอป้อนผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่ง 3 ไตรมาสปีนี้ จีนนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้นถึง 73%


ฟ้าหลังฝน – ผู้บริหารสมาคมกุ้งไทย นำโดย ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคม (ขวาสุด) พร้อมอุปนายกสมาคมหลายท่าน แถลงสถานการณ์กุ้งไทยปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 หลังฟื้นตัวจากโรคระบาด EMS ซึ่งมีแนวโน้มสดใสทั้งราคา ปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น หลังจากภาครัฐและเอกชนร่วมกันฟื้นฟูอุตฯนี้มานานกว่า 4 ปี ซึ่งต่อไปนี้อนาคตกุ้งไทยจะมีความยั่งยืนมากขึ้น

“ตลาดปีหน้ายังสดใส แต่ทางสมาคมต้องการให้รัฐช่วยเหลือ 3 เรื่อง คือ 1.เร่งประชาสัมพันธ์มาตรฐานแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับปรุงแก้ไขเรื่องแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น มาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี (GLP) หรือมาตรฐาน TLS8000 2.เจรจารัฐบาลจีนยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% หากนำเข้าผ่านด่านจีนโดยตรง ขณะที่เวียดนามส่งเข้าจีนไม่ต้องเสีย ทำให้ไทยเสียเปรียบ 3.เจรจารัฐบาลออสเตรเลียนำเข้ากุ้งดิบจากไทย โดยให้กรมประมงเร่งเจรจาสร้างมาตรฐานในการนำเข้ากุ้งดิบให้ผู้ส่งออกไทยไปปฏิบัติในการส่งออก” ดร.สมศักดิ์กล่าว

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึงภาพรวมการเลี้ยงกุ้งไทยปี 2559 ว่า ภาคที่มีผลผลิตกุ้งมากที่สุดในปีนี้ คือ ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยประมาณร้อยละ 38 ภาคตะวันออกร้อยละ 25 ภาคกลางร้อยละ 19 และภาคใต้ฝั่งอันดามันร้อยละ 18 ทั้งนี้ ลูกกุ้งในปีนี้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณภาพและการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น รวมถึงการตรวจคุณภาพการผลิตและตรวจโรคที่เป็นอันตราย ให้ลูกกุ้งมีความแข็งแรง นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีการศึกษาข้อมูลและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงวิธีการเลี้ยงที่เหมาะสม โดยเฉพาะระบบการเลี้ยงแบบ 3 สะอาด ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่เลียนแบบการอนุบาลกุ้ง ที่ต้องมีความสะอาดของบ่อ น้ำ และลูกกุ้ง

“ก่อนเกิดโรคอีเอ็มเอสระบาด การเลี้ยงไม่มีการเปลี่ยนแปลงและดูแลเท่าที่ควร จึงเกิดโรคระบาดขึ้น มีพื้นที่ 10 ไร่ เลี้ยงกุ้งถึง 7 ไร่ ผลผลิตกุ้งขาวต่อไร่ 1-2 ตัน แต่หลังจากเกิดโรคอีเอ็มเอสระบาด มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เลี้ยงกุ้งจริง 2 ไร่ อีก 8-13 ไร่ เอาไว้พักน้ำ บำบัดน้ำให้สะอาดไว้คอยเติมบ่อกุ้ง ผลผลิต 2 ไร่ได้กุ้งสูงถึง 20 ตัน ผลผลิตสูงกว่าการเลี้ยงแบบเดิม เพราะมีน้ำสะอาด พันธุ์ลูกกุ้งแข็งแรง มีการนำลูกกุ้งมาอนุบาลเพิ่ม 20-30 วันหลังเพาะฟัก ทำให้มีขนาดการนำมาเลี้ยงจาก P12 เป็น P25-P30 เลี้ยงต่ออีก 2 เดือน ก็ได้กุ้งขนาด 60-80 ตัว/กก. แล้วแต่การปล่อยลูกกุ้งหนาแน่นแค่ไหน ซึ่งราคาจะดีกว่ากุ้งขนาด 100 ตัว/กก. ที่มีราคาในขณะนี้ 140 บาท/กก.มาก และที่สำคัญการเลี้ยงระบบใหม่ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการตีน้ำเพิ่มออกซิเจนได้มาก ลดแรงงานที่คอยดูแลบ่อกุ้ง แนวโน้มในปีหน้า คาดว่าเกษตรกรจะมีการขยายเพิ่มพื้นที่เลี้ยงของแต่ละรายแน่”

ทางด้าน นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทยและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ฝั่งอันดามันที่มีพื้นที่ประมาณ 5 หมื่นไร่ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ผลผลิตกุ้งปีนี้เพิ่มจากปี 2558 ถึงร้อยละ 30 พื้นที่เลี้ยงเท่าเดิม ปัจจุบันฝั่งอันดามันมีการส่งกุ้งกุลาดำมีชีวิตและกุ้งขาวไปจีนถึงร้อยละ 20 ของผลผลิตฝั่งนี้ อนาคตจีนจะเป็นตลาดผู้ซื้อกุ้งไทยรายใหญ่แทนยุโรป ส่วนอีกร้อยละ 10 ขายในประเทศโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ที่เหลือส่งโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกหลายประเทศทางด้าน นายสมชาย ฤกษ์โภคี เลขาธิการสมาคมกุ้งไทยและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดโรคอีเอ็มเอสทางชมรมมีการเดินทางไปดูงานที่จีน และทั่วประเทศไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าจะไปรอดหรือไม่ จนถึงต้น

ปี 2558 ผลผลิตกุ้งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้นมาเป็น 8.07 หมื่นตัน การเพิ่มขึ้นครั้งนี้ถือว่าผู้เลี้ยงเดินมาถูกทาง โดยการทำระบบน้ำโปร่ง ดูแลความสะอาดในบ่อเลี้ยงมากขึ้น

จากก่อนหน้านั้นเลี้ยงมา 20 ปี ไม่เคยสนใจสุขลักษณะของบ่อ ดังนั้นการเลี้ยงกุ้งในอนาคต จึงต้องปรับประยุกต์ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การปรับปรุงบุคลากร 2.โครงสร้างของฟาร์ม 3.การจัดการฟาร์ม และ 4.ลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพแทนเพราะพื้นที่เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ 3 แสนไร่ ขยายไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไรในการเพิ่มปริมาณผลผลิต ขนาดไซซ์ของกุ้ง และการเลี้ยงที่สั้นลง

“ทางชมรมมี 2 แนวทางในอนาคต หากต้องการเลี้ยงกุ้งให้ยั่งยืน คือ 1.จะต้องพัฒนาวิศวกรรมเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง และ 2.ทำด้านชีววิทยาในเชิงรุก จากโรคอีเอ็มเอสที่เราไม่ป้องกัน ทำให้เสียหายนานกว่า 4 ปี ต่อไปต้องทำเชิงป้องกันการเกิดโรคล่วงหน้า”