ไซเตสตั้งสถานะ ม้าน้ำไทย ระดับ’ห่วงใยเร่งด่วน’เหตุส่งออกมากเกิน ประชากรวิกฤต

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง แถลงข่าวโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน

นายธัญญากล่าวว่า เนื่องจากสถานภาพของม้าน้ำกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จนมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณแนวหญ้าทะเล แนวปะการัง และป่าชายเลน ที่เป็นเสมือนบ้าน และที่หลบภัย และการนำม้าน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในแถบเอเชีย ที่มีความเชื่อว่านำมาใช้เป็นองค์ประกอบของยาในการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคหืด เส้นโลหิตตีบ กระดูกแตกหัก และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ นำมาทำเครื่องประดับ รวมถึงการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ทำให้มีการซื้อขายม้าน้ำกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นม้าน้ำที่ได้จากธรรมชาติเกือบทั้งหมด จึงได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยจัดม้าน้ำเข้าสู่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ในบัญชีที่ 2

นายธัญญากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ทส. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ และกรมประมง จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 66 มีประเด็นเรื่องการลักลอบค้าม้าน้ำ ให้จัดการประชุมหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการศึกษาม้าน้ำ เน้นในเรื่องการฟื้นฟูประชากร และแหล่งที่อยู่ ซึ่งมอบหมายให้ 2 หน่วยงานดำเนินโครงการ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ สนับสนุนพื้นที่แหล่งที่มีหญ้าทะเล เป็นเขตอนุรักษ์สำหรับฟื้นฟูประชากรน้ำ และให้กรมประมง เป็นผู้เพาะพันธุ์ม้าน้ำ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เลือก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด เป็นศูนย์ปฏิบัติการ

นายอดิศรกล่าวว่า เรื่องม้าน้ำในประเทศไทยถือว่าอยู่ในขั้นใกล้วิกฤต เป็นผลให้มีการจับตามองจากหลายประเทศ ว่าทำไมมีการส่งออกม้าน้ำเยอะ โดยข้อมูลจากกรมประมงพบว่ามีการส่งออกม้าน้ำตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 1.2 ตัน ปี 2557 จำนวน 0.92 ตัน จำนวน 2558 จำนวน 0.95 ตัน กรมประมงจึงได้มีประกาศ วันที่ 25 ธันวาคม 2558 เรื่องการงดออกใบอนุญาตส่งออกม้าน้ำเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกม้าน้ำของประเทศไทย ที่ถูกคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส จัดให้การส่งออกม้าน้ำของประเทศไทยอยู่ในระดับห่วงใยเร่งด่วน

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ส่วนของกรมประมงจะดำเนินการด้านวิชาการ การบังคับใช้กฎหมาย และการเพาะพันธุ์ โดยตั้งเป้าให้ได้ 1 แสนตัวต่อปี และอีกส่วนคือการควบคุม โดยจัดตั้งหน่วยควบคุมขึ้นมา 3 หน่วย คือ 1.ศูนย์เพาะเลี้ยงชายฝั่ง ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ 2.หน่วยตรวจปราบปราม 3.กองวิชาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับม้าน้ำ เป็นปลาชนิดที่มีรูปร่างต่างจากปลาทั่วไป มีหัวคล้ายกับม้า แต่อาศัยอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือก และเคลื่อนที่ด้วยครีบหลังและครีบหูโบกพัดอยู่ตลอดเวลา โดยม้าน้ำที่พบในน่านน้ำไทยมีอยู่ประมาณ 6 ชนิด คือ ม้าน้ำดำ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำสามจุด ม้าน้ำแคระ ม้าน้ำหนามขอ และม้าน้ำยักษ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีถิ่นที่อยู่อาศัยแตกต่างกันไป

ที่มา : มติชนออนไลน์