แคนา ขาวลออ…ต้องตาต้องใจ

ชื่อสามัญ แคนา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dolichandrone serrulata (DC.) Seem.

วงศ์ BIGNONIACEAE

โฉมงามตามท้องเรื่องในวันนี้คือ “แคนา” ใครผ่านไปแถวศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเห็นต้นแคนาปลูกเป็นแถวดูร่มรื่น ดอกสีขาวสวยสง่าทีเดียว กลิ่นก็หอมอ่อนๆ ซะด้วย ยิ่งตอนดอกร่วงหล่นลงพื้นราวกับปูพรมด้วยสีขาว ดูสบายตา และสนุกด้วย (ที่สนุกเพราะต้องไปแย่งกะแม่บ้านที่มาเก็บดอกไปต้มจิ้มน้ำพริก…ฮา) แต่พอผู้เขียนได้กลับบ้านที่ลานสะแบง โคราช เพื่อนเก็บดอกแคนามาให้เป็นกอบใหญ่วางอยู่ตรงหน้า ก็เลยนึกขำๆ นี่มันดอกสีขาวที่เราไปแย่งมาถ่ายรูปนี่นา…ที่นี่มีเยอะจัง แคนานี่ เพื่อนเรียกว่า แคทุ่ง มีรสขม ไม่มีใครเอามากินสดๆ ส่วนใหญ่นำมาลวกน้ำร้อนก่อน แล้วกินเป็นผักคล้ายสะเดา ชื่นชมได้ไม่นานเพื่อนก็แย่งจากมือไปเด็ดเกสรตัวผู้ออกเพื่อลวกต้มจิ้มน้ำพริก แถมบอกว่ายังมีอีกเยอะ จะเอาอีกมั้ย…ดอกบานหล่นบนพื้นเต็มไปหมด เก็บได้ทุกวันเลย เก็บมาแค่พอกินแต่ละมื้อ ปกติชาวบ้านออกเก็บแคนาตั้งแต่เช้าตรู่ ถ้าใครจะเก็บไปขาย ต้องไปเก็บตั้งแต่ตอนดึกๆ ซึ่งจะเก็บดอกแคนาจากต้นอื่นได้มากกว่าคนที่มาสาย   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แคนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) สูง 10-20 เมตร ผลัดใบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อนอมเทา มีจุดดำประ ผิวเรียบ หรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ

เจริญเติบโตดี

ชื่ออื่นๆ แคขาว แคป่า แคทุ่ง (อีสาน) แคยอดดำ (ภาคใต้)

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคลี่ ออกตรงข้าม 3-5 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนใบเบี้ยว กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 6-16 เซนติเมตร ขอบใบหยักแบบซี่ฟันตื้นๆ ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นประปรายบนก้านใบ ก้านใบย่อยยาว 7-10 มิลลิเมตร  ดอก เป็นดอกช่อแบบช่อกระจะ (raceme) ดอกใหญ่ รูปแตร สีขาว ออกตามปลายกิ่ง ยาว 2-3 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 1.8-4 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 2-10 ดอก บานทีละดอก กลิ่นหอม บานตอนกลางคืน รุ่งเช้าร่วง กลีบเลี้ยงหนา และเหนียว ปลายเรียวเล็กโค้งยาว 3-4 เซนติเมตร จะหุ้มดอกตูมมิด เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม เมื่อดอกบานจะมีรอยแตกทางด้านล่าง มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอก ติดกันเป็นท่อ ปลายขยายออกเป็นรูประฆัง และแยกออกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาว 16-18 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกยาว 13-14 เซนติเมตร ส่วนโคนแคบคล้ายหลอด สีเขียวอ่อน ส่วนบนบานออกคล้ายกรวยสีขาวแกมชมพู แฉกกลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 3-4 เซนติเมตร ขอบกลีบย่น เป็นคลื่น ดอกสีขาว ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน กลีบดอกบานใช้ต้มจิ้มน้ำพริก หรือแกงส้ม ผล เป็นฝัก ช่อละ 3-4 ฝัก แบน รูปขอบขนาน โค้ง บิดเป็นเกลียว ยาว 40-60 เซนติเมตร เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ทำสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ เช่น ทำเป็นเสา ไม้กระดาน ฝาเพดาน พื้น ฯลฯ แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ แคนาจัดเป็นต้นไม้ที่พบมากในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ เกือบทุกภาคของประเทศไทย ส่วนภาคใต้พบน้อยมาก สมัยก่อนนิยมปลูกต้นแคนาตามบ้าน และหัวไร่ปลายนากันอย่างกว้างขวาง แต่ตอนนี้ต้นแคนาที่พบตามป่า หรือตามทุ่งนาจะมีน้อยมาก เพราะโดนโค่นทิ้ง จะพบเกิดเป็นหย่อมๆ ในบางพื้นที่เท่านั้น

ดอกแคนา

สรรพคุณทางสมุนไพร

ราก มีรสเย็น ช่วยบำรุงโลหิต

เมล็ด ใช้เป็นยาแก้อาการปวดประสาท ช่วยแก้โรคชัก

ดอก ช่วยในการนอนหลับ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ช่วยในการขับถ่าย ช่วยแก้ไข้ลมหัวได้เช่นเดียวกับดอกแคบ้าน

ปลูกประดับริมถนนได้ดี

ใบ นำมาต้มกับน้ำเป็นยาบ้วนปาก ใช้ตำพอกรักษาแผล

เปลือกต้น ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ฯลฯ

ให้ความรู้สึกสบายตา

สารสำคัญที่พบ แคนามีสารพฤกษเคมี คือ ฟลาโวนอยด์ คูมาริน ซาโปนิน แทนนิน เทอร์ปีนอยด์ สเตียรอยด์ และคาร์ดิแอคไกลโคไซด์ นอกจากนั้นยังพบว่าใบมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด รองลงมาคือ กิ่ง ฝัก เมล็ด และดอก หลายสิบปีมานี้เป็นช่วงเวลาของการบุกเบิกอาชีพนักจัดสวน ต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิดได้รับความนิยมนำไปประดับในโครงการบ้านพักอาศัย โครงการสนามกอล์ฟ หรือโครงการรีสอร์ต และหนึ่งในนั้น แคนา มักจะถูกเลือกเข้าไปในโครงการเสมอๆ

ดอกทะยอยบาน

ที่สำคัญไปกว่านั้น กฎกระทรวงฉบับใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ได้เปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงิน และต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด มีดังต่อไปนี้

ดอกยังไม่บาน

ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาทร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สกุลจำปี แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม จะเห็นว่าแคนา ก็เป็นหนี่งในไม้ 58 ชนิด นั้นด้วย

ใบแคนา

ทีเด็ดของดอกแคป่าอยู่ที่รสชาติขมนิดๆ เหมาะกับผู้สูงวัย…และผู้ที่ชื่นชอบความขมเช่นเดียวกันกับผู้เขียน…คนอีสานชอบนำดอกไปลวกกินกับป่นปู ป่นปลา ป่นกบ ป่นอึ่ง แซบหลาย ครั้นกินกับลาบก็อร่อยอย่าบอกใคร…

ปีนี้อากาศร้อนเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี เห็นทีพวกเราจะต้องปลูกไม้คนละหลายๆ ต้น เพื่อช่วยลดโลกร้อนกันแล้วล่ะ หากกำลังมองหาไม้ใหญ่ที่ให้คุณค่าเยอะ…ปลูกง่าย…ใบ ยอดอ่อน ดอก ทำอาหารได้อร่อย และขายเป็นสินค้าได้ด้วย แคนานี่แหละคือตัวเลือกที่ใช่เลย

ประดับกลมกลืน

เอกสารอ้างอิง ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. แหล่งที่มา http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=28, วันที่ 1 เมษายน 2562. จุฑารัตน์ ศรีประเสริฐ. 2559. การทดสอบสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของแคนา. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยบูรพา. 94 น. ปารณ ชาตกุล. 2553. ต้นไม้ใหญ่ : ความนิยมในงาน ภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น.131-140. หนังสือพิมพ์มติชน online รายงานพิเศษ…ครม.ไฟเขียว ต้นไม้ 58 ชนิด ใช้ค้ำประกันเงินกู้. ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2561. แหล่งที่มา https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_1746949, วันที่ 1 เมษายน 2562.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354