มะริด ไม้ชั้นดี เครื่องดนตรีไทย

ชื่อสามัญ มะริด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros philippensis A. DC.

วงศ์ EBENACEAE

 ช่วงนี้ออกจะฮอตฮิตสำหรับไม้วงศ์มะเกลือตัวนี้ ในท้องตลาดเขาขายกันต้นละหลักร้อยกันเลยทีเดียว สำหรับต้นขนาด 1 ฟุต ผู้เขียนรู้จักต้นไม้ใหญ่ต้นแรกก็ มะริด นี่แหละ…จอดรถใต้ต้นไม้นี้ทุกวัน สิบกว่าปีก็ไม่เคยสนใจ จนมาวันหนึ่งลูกมันหล่นใส่หัว (…ฮา)

ดอกตัวผู้

มะริด ค่อนข้างหายาก เพราะมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ เมืองไทยไม่ค่อยมีปลูกกันมากนัก นอกจากนักสะสมไม้ หรือนักอนุรักษ์พันธุ์ ด้วยทรงพุ่มที่แน่นทึบ สวย ลำต้นตรง เด่นเป็นสง่า ผลก็รับประทานได้ จึงมีแต่คนตามหาไปปลูก แถมบางคนได้ขอให้ผู้เขียนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้อีกด้วย   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะริด หรือ Butter fruit มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros philippensis A. DC. เป็นไม้ยืนต้น ในวงศ์ EBENACEAE

ดอกตัวเมีย

ผลัดใบ สูงได้ถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาได้มาก เนื้อไม้แข็งและเหนียว มีลายตามธรรมชาติเป็นสีดำปนสีชมพู หรือสีขาว หรือสีนวลคล้ายสีกาแฟนมคนยังไม่เข้ากัน

เป็นพืชแยกเพศ ใบอ่อนสีเขียวอ่อน หรือออกสีชมพู มีขนเป็นมันปกคลุม หนักมาก เป็นไม้ที่ทนทาน ถ้านำมาขัดเงาจะมีความเงางามมาก

เมล็ดที่เพาะ

ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก ดอกตัวผู้ ออกเป็นกระจุก กลีบเลี้ยงรูปท่อ ปลายเว้าเป็นสี่กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง ดอกตัวเมีย เป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกสั้นมาก ดอกใหญ่กว่าดอกตัวผู้เล็กน้อย มีกลิ่นหอมเปรี้ยวๆ ชื่นใจ ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน ผล ลักษณะกลมแป้นคล้ายผลท้อ มีเมล็ด ผลเปลือกบาง มีขนสั้นๆ สีน้ำตาลแดงปกคลุม กลิ่นคล้ายเนยแข็ง เนื้อสีขาว รสหวานฝาด ผลสุกสีเหลืองหรือสีส้ม รับประทานได้ ผลสุกแก่ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน

เกสรตัวผู้

ต้นมะริดนี่เป็นไม้ที่มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ของเมืองตรัง ว่าเป็นไม้ที่ใช้ส่งส่วยให้กับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้ประเภท ตลับ โถ ที่ทำด้วยไม้มะริด มีการกล่าวถึงไม้มะริดในเมืองตรังว่า “ได้ถามถึงไม้มะริดว่า ไม่มีซื้อขายกัน แต่ต้นที่มีอยู่นั้นไม่ใช่บนเขาสูง ที่ต่ำๆ ก็มี”

ต้นอ่อน

ปัจจุบัน จากข้อมูลของสำนักงานป่าไม้ ไม่ปรากฏว่าไม้มะริดมีที่ใดในป่าเมืองตรัง แต่ยังมีไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับไม้มะริด คือ ไม้ตานดำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ขาวดำ หรือ ไม้สาวดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros transitoria Bakh.

ผล

การนำมาใช้ประโยชน์

ส่วนใหญ่ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ชั้นดี ด้ามเครื่องมือ หีบบุหรี่ หีบประดับมุก กรอบรูป ด้ามปืน เครื่องดนตรี เครื่องรางของขลัง ฯลฯ และด้วยภูมิปัญญาความรู้ของช่างดนตรีไทยในอดีต ได้นำไม้มะริดมาทำเครื่องดนตรี เมื่อครั้งทำระนาดถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังต้องไปนำไม้มะริดมาจากเมืองพม่า ปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ที่เรือนไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะเสด็จฯ มาทรงระนาดรางนี้เป็นประจำทุกปี

เนื้อผล

เขาเล่าขานกันว่า...เครื่องดนตรีที่ทำมาจากไม้มะริดเสียงจะใส และกังวานมาก ฝรั่งนิยมมาหาซื้อกัน ปัจจุบันเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว รางระนาด ที่ทำจากไม้มะริดมักนิยมใช้งาช้างประกอบ ดังเช่นเครื่องดนตรีของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

เมล็ด

ยังมีไม้อีกหลายสกุลที่นิยมนำมาทำเครื่องดนตรีไทย เช่น ไม้มะเกลือ กลองชาตรีไม้มะเกลือของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ สกุลไม้ชิงชัน เช่น ชิงชัน และพะยูง ลูกระนาดไม้ชิงชันเรียกว่า ผืนทับทิม ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ พะยูง เช่น กลองแขกไม้พะยูง อายุราวรัชกาลที่ 7 สมบัติของ อาจารย์สุบิน จันทร์แก้ว ลูกระนาดเอกไม้พะยูง ราวสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นต้น

ใต้ต้นมะริด

ผู้เขียนได้ศึกษาไม้สกุลนี้มานานพอสมควร ทำให้ทราบว่าการเกิดผลของมะริดนั้นเป็นแบบ พาร์ทีโนคาร์ปี (parthenocarpy) ซึ่งผลชนิดนี้จะไม่มีเมล็ด เรียกว่า ผลพาร์ทีโนคาร์ปิก (parthenocarpic fruit)  นอกจากมะริดแล้วก็ผู้เขียนยังได้ศึกษาในมะเกลือ ตะโก มะพลับ มะพลับไทย มะพลับทอง (สาวดำ) มะพลับเจ้าคุณ และเม่าเหล็ก

ยอดอ่อน

เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้เขียน เพราะหน้าตึกที่ทำงานมีอยู่ 2 ต้น ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นคนปลูก เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ในวันเปิดอาคารปฏิบัติการวิจัยกลาง โดยนำกล้าไม้มาจากคณะวนศาสตร์ ซึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีต้นมะริดอยู่ที่นี่ที่เดียว

ถึงแม้ มะริด จะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในไทย อย่างน้อยผู้เขียนก็ได้รู้จักและสัมผัสมันมาแล้วเป็นเวลานาน แถมมีโอกาสได้เห็นทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย และได้เก็บผล และเมล็ด แจกจ่ายให้กับเพื่อนฝูงที่ชื่นชอบ สมกับเป็นนักกระจายพันธุ์พืชตามที่ได้ตั้งใจไว้ และให้สมกับที่ธรรมชาติประทานให้เรามา

ใบด้านหลัง ผล

    เอกสารอ้างอิง

อรไท ผลดี. 2549. โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทย. นิทรรศการ “บนเส้นทางงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2549” ที่มาhttp://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/49_1/Award/aw_04/aw_04.htm วันที่ 28 ตุลาคม 2562