ครีบปลาวาฬ “วาฬเกยตื้น” ขึ้นมาอยู่ในกระถาง เพื่อ…ฟอกอากาศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sansevieria masoniana Chahin.

ชื่อสามัญ Mason’s Congo Sansevieria.

ชื่ออังกฤษ SAMSE-VIERIA.

ชื่อวงศ์ ASPARAGACEAE

“มีวาฬตัวหนึ่งลอยว่ายน้ำมา ดูเจ็บช้ำทรวงอุรากว่าที่เคย มันพยายามตามหารักทรามเชย แต่สุดท้ายมา…เกยตื้น?” ผมได้ยินขึ้นต้นบทเพลงนี้จากศิลปิน GUN GUN

ไม่น่าเชื่อว่ามีผู้ฟังมาแล้วมากกว่าร้อยล้านวิว ชื่อเพลง “วาฬเกยตื้น” ทั้งๆ ที่ผู้ขับร้องเป็นอดีต “นักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติ” แต่ชอบใจคำแปลภาษาอังกฤษจาก by Mook translation ไว้ว่า There was a whale swimming closer. It look painful more than normal. It tried to search for it’s lover. But, at last it died with running ground. ผมเพิ่งรู้ว่า “วาฬเกยตื้น” เพราะ running ground นี่เอง ก็จึงมาดูตัวเองว่า “ครีบ” ใหญ่ขนาดนีhคงไม่เกยตื้น

ผมสงสัยชื่อผมเองว่า ไม่มีใครเรียกชื่ออื่นๆ เลย เพียงบอกกันว่า เหมือน “ครีบวาฬ” และก็สงสัยอยู่ว่า “ครีบ” นั้นคือหาง หรือครีบส่วนไหน เพราะผมเองก็ไม่เคยเจอกับ “ปลาวาฬ” ตัวจริง แต่สับสนตรงที่ได้ยินนักวิชาการกล่าวว่า “วาฬ” ไม่ใช่ปลา แล้วทำไมเวลาเราพูดว่าปลาวาฬ ก็มีความเข้าใจตรงกันทุกครั้ง ผมจึงค้นคว้าดูซิว่า คืออะไรกัo เพราะเคยเห็นในหนังสารคดีบ่อยๆ ว่า ปลาวาฬเป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในทะเลลึกอ่าวใหญ่ หรือมหาสมุทร เป็นยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล แต่วิวัฒนาการรูปร่างจนว่ายน้ำได้รวดเร็ว เพราะปอดที่หายใจทางช่องจมูกอยู่บนสุดของส่วนหัว แยกท่อหายใจกับช่องปาก มิน่าล่ะก็เข้าใจแล้วว่า ทำไม “วาฬ” จึงพ่นน้ำทางหัวได้ และดำน้ำได้ลึกถึง 3,000 เมตร อยู่ไต้น้ำได้นานมาก

ผมเคยได้ยินปลาวาฬชื่อต่างๆ ก็เพิ่งรู้ว่ามีหลายวงศ์ หลายประเภท ทั้งชนิดมีฟันและไม่มีฟัน มีชื่อเรียกมากมาย เช่น วาฬฟิน วาฬบรูด้า วาฬหลังค่อม วาฬสีน้ำเงิน วาฬหัวทุย วาฬนำร่อง วาฬหัวแตงโม ทะเลเมืองไทยเราก็มีวาฬทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่ผมชอบชื่อมากคือ “วาฬเพชฌฆาต” เห็นมั๊ยครับว่ามีสารพัดชื่อ แต่พอมาเรียกชื่อผม กลับบอกว่าเป็น “ครีบ” น่าจะระบุว่าเป็นครีบของวาฬอะไร ผมจะได้มีชื่ออื่นๆ เรียก เท่ๆ บ้าง

ผมนินทา “ปลาวาฬ” ที่นักวิชาการว่าไม่ใช่ปลา แต่ทีชื่อผมมาเรียก “ครีบปลาวาฬ” ชั่งเถอะ จะปลาหรือไม่ แต่ส่วนของผมที่ใครๆ เห็นแล้ว พูดว่าเหมือนครีบ นั้นไม่ใช่ต้นนะครับ มันเป็นใบ ต้นจริงๆ อยู่ที่โคนใบลงในดิน เพราะผมมีเหง้า หรือไหลใต้ดิน ลำต้น เป็นข้อปล้องสั้นๆ สูงอย่างมากก็ไม่เกินคืบ จึงโผล่โชว์ใบเห็นเหมือนครีบวาฬหางปลาวาฬนั่นแหละที่เรียกกัน

ต้นกำเนิดผมจริงๆ อยู่ที่แถบแอฟริกาใต้ ที่เจริญโดยธรรมชาติจะมีขนาดใหญ่มาก ระดับใบ 50×100 เซนติเมตร แต่มาอยู่ในกระถางประเทศแถบเอเชียผมก็กว้าง ยาว ได้ประมาณ 1×2-3 ฟุต ส่วนของใบนี้จะชูตั้งตรงโดยออกใบเรียงสลับเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ก้านใบใหญ่และแข็ง แต่มีบิดหรือห่อขอบใบบ้าง โดยที่ผิวใบเรียบสีเขียวสด บางสายพันธุ์อาจจะมีลายประ มองดูเหมือนคลื่นน้ำสอดคล้องกับแผ่นใบที่ห่อบิดเล็กน้อย แต่ถ้ารวมเต็มโคนต้นก็ดูเป็นพุ่มหนาชูชันตรง ไม่โบกสะบัดเหมือนหางปลาวาฬ ตีน้ำทั้งๆ ที่ต้นและใบเป็นไม้อวบน้ำ

มีกลุ่มไม้กลายพันธุ์ถาวรที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรียกกันว่า “ครีบปลาวาฬด่าง” วางขายในตลาดต้นไม้ที่ดูแปลกตา เพราะผิวใบจะมีรอยด่างเป็นสีขาว 2 เส้น แทงตรงจากโคนใบขึ้นมาปลายใบเลยมีราคาสูงเพราะหายาก แต่แปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ในแผงต้นไม้มักจะดึงใบครีบปลาวาฬออกมานอนเรียงรายเป็นใบๆ โดยที่ผู้ซื้อก็รู้ว่านำใบเหล่านี้ไปปักชำเป็นต้นไม้ใหม่เลย หรือถ้าหากขุดต้นดึงไหลไปฝังดินก็เป็นวิธีขยายพันธุ์ได้อย่างง่ายๆ ที่สุด เป็นการแยกกอ ฝังในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดีก็จะโตเร็ว ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณโคนต้น ดอกชูได้สูงเป็นฟุต เป็นช่อดอกที่มีดอกย่อยสีขาวอมเขียว พร้อมครีบใบที่ชูเด่นเป็นกอ มองไกลๆ เหมือนใบเรือ หรือครีบฝูงปลาวาฬชูหางเหนือน้ำกลางทะเลสวยงามมาก

อยากจะอวดอีกอย่างว่าช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเมืองไทย ราคาแต่ละกอนับใบขายกันระดับพันบาท ชาวเกาหลีนิยมมาก เพราะเชื่อว่าทุกสายพันธุ์ปลูกได้ทั้งไม้ประดับ และฟอกอากาศได้บริสุทธิ์ และรวดเร็วกว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ เพราะชอบแดดจัด ทนแล้ง เหมาะสำหรับเมืองไทยเรา เป็นที่รู้จักและยอมรับกันแล้วว่าเป็นไม้ปลูกง่าย และปลูกเพื่อฟอกอากาศที่ลงทุนน้อย มีคุณค่าพิเศษ ทั้งปลูกลงดินและปลูกในกระถาง

แต่ขอเตือนนิดเดียวว่า แม้ชื่อจะอยู่ในทะเลและอยู่ใต้น้ำ แต่เมื่อลงอยู่ในกระถาง ถ้าหากว่ารดน้ำท่วมขังเมื่อไหร่ พวกเราจะ “สำลักน้ำ” ตายหมดเลยจ้า

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2564