กล้วยไม้ดินสายพันธุ์ใหม่ ของคณะเกษตรศาสตร์ มช.

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เริ่มต้นจาก ท่านรองศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ อาภาวัชรุตม์ ท่านได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มกล้วยไม้ดิน เพราะเห็นว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นกล้วยไม้เศรษฐกิจต่อไปได้ในอนาคต

เมื่อท่านเกษียณอายุราชการ รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐา โพธาภรณ์ ได้สืบสานงานปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้กลุ่มนี้ต่อมา มีนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเข้ามาทำการศึกษางานทางด้านการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้และเรียนจบไปจำนวนหนึ่งแล้ว มีการผสมข้ามชนิดและข้ามสกุลเพื่อให้ได้ลูกผสมชนิดใหม่ และนำไปขึ้นทะเบียนพันธุ์ ที่ Royal Horticultural Society, UK ไว้จำนวนหนึ่งแล้ว ขณะนี้มีลูกผสมที่นำไปขอขึ้นทะเบียนไว้เพิ่มเติม โดยการนำเอาพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 คือ ฮาเบนาเรีย ลานนาแองเจิล (Habenaria Lanna Angel) มาพัฒนาต่อยอดให้ได้สายพันธุ์ที่สวยมากขึ้น ฮาเบนาเรีย ลานนาแองเจิล เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยไม้ดินนางกราย (Habenaria lindleyana) และลิ้นมังกร (Habenaria rhodocheila) ดอกมีสีสันสวยงามในโทนสีส้มโอโรส ซึ่งโทนสีดอกดังกล่าวหาได้ยากในสภาพธรรมชาติ ดอกมีขนาด 2.0-2.5 × 2.5-3.0 เซนติเมตร มีจำนวนดอก เฉลี่ยประมาณ 10-20 ดอก ต่อช่อ ดอกบานในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ดอกบานนาน 2-3 สัปดาห์

ต่อมา ได้มีการนำเอาฮาเบนาเรีย ลานนาแองเจิล มาผสมกลับไปยังต้นพ่อ คือ ลิ้นมังกร (Habenaria rhodocheila) ได้ลูกผสมที่มีลักษณะเด่นขึ้น ดอกขนาด 2.5-2.8 × 2.8-3.2 เซนติเมตร มีจำนวนดอกเฉลี่ย ประมาณ 10-20 ดอก ต่อช่อ ดอกมีโทนสีส้มโอโรสเข้ม มีกลีบปาก (lip) ที่ใหญ่และโดดเด่น ดอกบานในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ดอกบานนาน 2-3 สัปดาห์ ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ลูกผสมใหม่นี้ว่า ฮาเบนาเรีย ลานนาไพรด์ (Habenaria Lanna Pride)

ในปีเดียวกันได้นำเอา ฮาเบนาเรีย ลานนาแองเจิล ไปผสมข้ามสกุล กับ นางอั้วสาคริก ‘ปากขาว’ (Pecteilis hawkesiana) ได้ลูกผสมใหม่ข้ามสกุล ที่มีลักษณะของดอกและแปลกไปจากเดิม ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ในชื่อ เพคตาบีนาเรีย ลานนาแฟรี่ (Pectabenaria Lanna Fairy) ดอกมีขนาด 2.0-2.5 × 2.5-3.0 เซนติเมตร มีจำนวนดอกเฉลี่ยประมาณ 8-12 ดอก ต่อช่อ สีดอกสวยงามในโทนสีส้มโอโรสเช่นกัน แต่มีกลีบปาก (lip) ที่โดดเด่นสวยงาม ดอกบานในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ดอกบานนาน 2-3 สัปดาห์

กล้วยไม้กลุ่มนางอั้ว มีดอกที่สวยงาม มีความหลากหลายทั้งลักษณะช่อดอก สีสันของดอก รูปทรงดอก บางชนิดมีใบลายสวยงาม สามารถนำมาพัฒนาพันธุ์ต่อยอดเป็นไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้

โปรดติดตามกล้วยไม้ดินกลุ่มนางอั้วพันธุ์ใหม่ ของทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไป