พฤกษาบูชา วันอาสาฬหะ เหินฟ้ารับบุญเข้าพรรษา

อาสาฬหบูชา วันพระศาสดาทรงแสดงพระธรรม

จักกัปปวัตตนสุนำ โปรดปัญจวัคคีย์ ที่มฤคทายวัน

พระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านได้บรรลุ ซึ่งพระโสดาบัน

เป็นพระสงฆ์องค์แรกอัน ที่พระพุทธะ ประกาศพระศาสนา

 

รุ่งขึ้นวันแรมค่ำหนึ่ง วันนี้แล้วถึง เข้าปุริมพรรษา

สมเด็จพระศาสดา ให้อยู่จำพรรษา เป็นเวลาชั่วคราว

อุ่นธรรมคร่ำไป จัดเจ็บจักไม่เหยียบไร่นาข้าว

ชายหญิงไม่นิ่งอยู่เหย้า ต่างเข้าวัดนั่งฟัง พระเทศนา

พุทธศาสนิกชน ชาวไทย เราเทิดทูนไว้ ซึ่งพระศาสนา

เข้าวัดเราจะพัฒนา ให้พระศาสนาของเรารุ่งเรือง

 

บทเพลงจากสื่อออนไลน์ ไม่ปรากฏที่มาของผู้โพสต์ไว้ แต่รู้ได้ว่า เป็นเวลามากกว่า 3 ปีมาแล้ว กล่าวถึงทั้งวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา พุทธประเพณีของชาวพุทธ ที่จะได้รำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 8 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ในปีใด อาจจะมีเดือนแปด 2 หน ก็โดยทั่วไปจะเป็นกลางปีช่วงเดือนกรกฎาคม ก็จะมีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ประเพณีที่ทรงคุณค่าของชาวพุทธ ที่จะได้ธำรงธรรมเนียมปฏิบัติบูชา ทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นสิริมงคลชีวิตและครอบครัว

นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร สังฆทาน ถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังมีประเพณีหนึ่งที่ชาวพุทธถือปฏิบัติในช่วงวันเข้าพรรษา โดยการ “ตักบาตรดอกไม้” ด้วย “ดอกเข้าพรรษา” หรือที่เรียกรู้จักกันดั้งเดิม คือ ดอก “หงส์เหิน”

ดอกเข้าพรรษา หรือดอกหงส์เหิน (Globba winiti) เป็นพืชในวงศ์ขิง ลักษณะคล้ายต้นกระชาย หรือขมิ้น เป็นพื้นที่มีลำต้นเป็นหัวใต้ดินประเภทเหง้า รากทำหน้าที่สะสมอาหาร อวบน้ำ เรียงอยู่โดยรอบหัว มีใบเรียงตัวกันแน่น จะเจริญเติบโตเป็นกลุ่มกอ มีความสูงไม่เกิน 1 เมตร เมื่อออกดอกจะออกเป็นช่อ โดยแทงจากยอดของลำต้น ช่อจะโค้งและห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบประกอบด้วยดอกจริง มีกลีบประดับที่แตกต่างกันหลายรูปทรงและหลายสีงดงาม เช่น สีขาว ดอกสีเหลือง สำหรับดอกสีม่วงแดงค่อนข้างจะหายาก และดอกมักจะบานในช่วงเข้าพรรษา เมื่อดอกโรยจะมีหัวเล็กๆ สีขาวเติบโตเป็นต้น นำไปขยายพันธุ์ได้ โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด แต่วิธีที่สะดวกก็สามารถขุดเหง้าหรือหัวใต้ดินมาลงแปลงปลูกหรือปลิดแยกหัวฝังดินได้

ต้นหงส์เหิน หรือที่นิยมเรียก ดอกเข้าพรรษา เป็นพืชเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งจะออกดอกสะพรั่งในช่วงนี้ แต่มีการพักตัวในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ซึ่งต้นเหนือดินหรือก้านใบจะยุบแห้งเหลือเป็นหัวฝังตัวอยู่ในดินจนกว่าจะถึงฤดูฝน จะงอกผลิใบออกดอกอีกครั้ง ในธรรมชาติต้นหงส์เหิน เป็นพันธุ์ไม้พื้นบ้าน ไม้พื้นเมือง ที่พบได้เกือบทุกภาคของเมืองไทย เจริญเติบโตได้ดีในป่าร้อนชื้น แต่ชอบอยู่ใต้ร่มเงาป่าไม้ใหญ่ หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค เช่น จังหวัดลำพูน เรียก กล้วยจ๊ะก่าหลวง จังหวัดเลย เรียก ว่านดอกเหลือง สำหรับจังหวัดสระบุรี  เรียกว่า ดอกเข้าพรรษา ซึ่งจะมีบทบาทในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา โดยใช้เป็นดอกไม้สำหรับ “ตักบาตรดอกไม้

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่ชาวพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ยึดถือมาเป็นเวลาช้านาน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2544 ทางจังหวัดสระบุรีได้เพิ่มจำนวนวันตักบาตรดอกไม้ จาก 1 วัน เป็น 3 วัน เพื่อให้ประชาชนมาร่วมทำบุญได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากการจัดงานทำบุญตักบาตรดอกไม้เพียงวันเดียว มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญตักบาตรในวันเข้าพรรษาเนืองแน่น โดยในงานพิธีช่วงเช้าจะเป็นขบวนแห่รถบุปผชาติ ซึ่งที่เคยปฏิบัติ ตั้งแต่ 5-6 ปี ที่ผ่านมา จะมีการตั้งขบวนรถบุปผชาติจากวิทยาลัยการอาชีพสระบุรี ตามถนนพหลโยธิน แล้วเลี้ยวขวาเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร และจะเริ่มตักบาตรดอกไม้ ช่วงเวลาบ่าย ประมาณ 15.00 น. ส่วนในวันที่เพิ่มขึ้นอีก 2 วัน จะมีพิธีตักบาตรดอกไม้ 2 รอบ คือ เวลา 10.00 น. และเวลา 15.00 น. ในพิธีหลังจากพระสงฆ์เดินขึ้นมณฑป เพื่อถวายดอกไม้แด่รอยพระพุทธบาท แล้วตอนขากลับลงมาพุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเดินลงมาจากมณฑป การที่ปฏิบัติบุญโดยชำระล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นเสมือนการได้ชำระล้างบาปให้ตนเอง

จากข้อความที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ สำหรับคำถวายธูป เทียน และดอกไม้ บูชาพระ โดยกล่าวคำอาราธนา ดังนี้

 

อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะ บุปผะ วรานิ

ระตะนัตตะ ยัสเสวะ อภิปู เชมะ

อัมหากัง ระตะนัตตะ ยัสสะ ปูชา ฑีฆะรัตตัง

หิตะ สุขาวะหาโหตุ อาสวักขะ ยัปบัติติยา

 

ชาวบ้านแถบวัดพระพุทธบาท มักจะหาตัดดอกหงส์เหินหรือดอกเข้าพรรษา จากบริเวณเชิงเขา หรือพื้นที่ชายป่า พื้นที่สาธารณะใกล้เคียง ปัจจุบัน ต้นเข้าพรรษา ตามพื้นที่ผืนป่าธรรมชาติเริ่มหายากหรือมีน้อยลง แต่ก็ยังพบอยู่ตามบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ ที่แผ่ร่มเงาบังแดด หรืออาจจะพบเห็นแถบสวนผลไม้เก่าๆ หรือตามชายป่าละเมาะ แต่ปัจจุบันมีแปลงปลูกจำหน่ายมากขึ้น

จากตำนานรอยพระพุทธบาท มีบทกลอนจากนิราศพระบาท ซึ่งท่านสุนทรภู่ ได้พรรณนาไว้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งในช่วงนั้นพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระบรมวงศานุวงศ์ มักจะเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่จังหวัดสระบุรี อยู่เนืองนิจ โดยสุนทรภู่ได้ติดตามเสด็จเจ้านายพระองค์หนึ่งไป จึงได้รจนาเป็นนิราศพระบาท ช่วงบทต้นพรรณนาไว้ว่า

โอ้อาลัยใจหายไม่วายห่วง

ดังศรศักดิ์ปักซ้ำระกำทรวง

เสียดายดวงจันทราพงางาม

เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่

แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม

จนพระหน่อสุริยวงค์ทรงพระนาม

จากอารามแรมร้างทางกันดาร

ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท

จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร

ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร

นมัสการรอยบาทพระศาสดาฯ

 

อย่างน้อยที่สุด ก็พอจะเป็นหลักฐานว่าประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทก็มีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ถ้าศึกษาตำนานรอยพระพุทธบาทแล้ว พบว่า มีมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ในช่วงพุทธศักราช 2163-2171 โดยมีภิกษุชาวสยาม เดินทางไปสักการะพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ ลังกาทวีป ซึ่งภิกษุชาวลังกา กำลังสืบหารอยพระพุทธบาทที่มีในตำนาน 5 แห่ง คือ เขาสุวรรณมาลิก เขาสุมนกูฏ เขาสุวรรณบรรพต เมืองโยนกบุรี และชายฝั่งลำน้ำนัมทานที โดยภิกษุชาวลังกาได้แจ้งว่า มีรอยพระพุทธบาทที่อยู่บนเขาสุวรรณบรรพต บนแผ่นดินสยาม ภิกษุสยามจึงมาทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แล้วพระองค์จึงทรงโปรดให้หัวเมืองกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ค้นหารอยพระพุทธบาทและเขาสุวรรณบรรพต

ความต่อมา มีการเปิดเผยว่า พบรอยพระบาทเมื่อมีนายพรานคนหนึ่ง ติดตามเนื้อสมันที่ถูกยิงบาดเจ็บหนีขึ้นไปบนเขา และเห็นเนื้อสมันตัวนั้นวิ่งลงมาในสภาพที่ไม่บาดเจ็บ จึงตามเข้าไปสำรวจ พบรอยเท้าคนขนาดใหญ่มีน้ำขังอยู่เต็ม เมื่อนำน้ำมาลูบตัว กลาก เกลื้อน ผื่นคันก็หายไปหมด จึงนำความแจ้งเจ้าเมืองสระบุรี ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงเสด็จทอดพระเนตร เห็นรอยพระพุทธบาทสมบูรณ์ จึงโปรดให้สร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และทรงสร้างอุโบสถ พระวิหาร ศาลา อุทิศเป็นเขตพื้นที่สังฆาราม สำหรับพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา และถวายเป็นพื้นที่พุทธเกษตร เพื่อนำผลผลิตจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารอยพระพุทธบาทตลอดสมัย มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีพระมหากษัตริย์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

จากศรัทธานิยมในการนำดอกหงส์เหินหรือดอกเข้าพรรษาใช้ตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษานั้น ก็เริ่มเป็นที่นิยมขยายพื้นที่ออกไปท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ บ้าง จึงมีการเริ่มปลูกลงแปลงหวังขยายผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งมีเทคนิคการดูแลบำรุงรักษา เพิ่มผลิตผลตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา ในแปลงปลูกที่มีอายุต้นเกิน 2 ปี จะมีการตัดแต่ง เนื่องจากจำนวนใบจะหนาแน่น อาจทำให้เกิดโรคได้ จึงต้องตัดแต่งให้ต้นโปร่ง โดยตัดต้นไม่สมบูรณ์หรือตัดใบทิ้งไปบ้าง หากมีการปลูกในแปลงเดิมเกิน 3 ปี ถ้าจะหลีกเลี่ยงโรคและแมลง ก็จำเป็นจะต้องย้ายพื้นที่แปลงใหม่ หรือปลูกพืชอื่นหมุนเวียน เพราะศัตรูต้นหงส์เหินอาจจะมาจากแมลงศัตรูที่สำคัญคือ หนอนและแมลง ซึ่งกัดกินกลีบดอกประดับตั้งแต่เพิ่งแย้มกลีบดอกบาน ก็เสียหายได้ทั้งแปลงปลูก

ในการเก็บเกี่ยวหรือตัดดอกหงส์เหิน จะเลือกตัดดอกที่บานเต็มที่ แต่ไม่แก่เกินไป คือพิจารณากลีบดอกประดับที่บานไม่ถึงปลายช่อดอกที่ยังมีสีสดใส ไม่เหี่ยวโรย โดยใช้กรรไกรตัดก้านช่อดอก หรือตัดตั้งแต่ต้นเหนือผิวดิน สูงมากกว่า 2 นิ้ว ตัดแต่งใบให้เหลือใบบนเพียง 1 ใบ แล้วมัดรวมเป็นกำ ประมาณ 10 ก้านช่อดอก แช่น้ำไว้ในที่ร่ม หรือถ้าหากบรรจุกล่อง ก็ควรผึ่งลมในที่แห้งและร่ม โดยวางช่อดอกตามแนวนอนเรียงสลับหัวท้ายให้เป็นระเบียบ ปิดฝากล่องไม่ให้กดทับแน่นเกินไป สามารถนำส่งไปรษณีย์หรือขนส่งในที่เก็บไม่มีอุณหภูมิสูง ก็ส่งไประยะทางไกลได้ โดยดอกยังสดชื่นดี

ดอกหงส์เหิน ฟังชื่อแล้วมีพลังพลานุภาพให้อารมณ์ที่มีความเคลื่อนไหวหรือพุ่งขึ้นสู่ที่สูง ฟังดูแล้วมีศักดิ์ศรี สง่างาม ถ้าหากวางอยู่บนพื้นบนดินหรือในแปลง ก็พูดจาบรรยายเชิงบวกได้ กลายเป็นว่า “เหิรฟ้ามาสู่ดิน” แต่พอเรียกชื่อเป็น “ดอกเข้าพรรษา” ก็กลายเป็นอารมณ์สะอาด สงบ และอยู่ใน “อารามบุญ” จึงไม่ว่าจะเรียกชื่อไหน ก็ฟังแล้วเป็น “บุญตาพาสู่บุญใจ” ทุกชื่อดอกทั้งนั้นนะคุณโยม!

 

 

 

 

เพลงหงส์เหิร

 

คำร้อง  แก้ว อัจฉริยะกุล

ทำนอง  เวส สุนทรจามร

ขับร้อง  เพ็ญศรี พุ่มชูศรี

 

หงส์เหมราชเอย สง่าผ่าเผยงามสคราญ ณ แดนหิมพานต์ หวงตัวรักวงศ์วาน หิมพานต์สถาน สำราญมา

หงส์ร่อนผกเผิน บินดั้นเมฆเหิรเกินปักษา กางปีกกวักลมท่วงทีสมสง่า เหินลมล่องฟ้านภาลัย

หงส์ทรงศักดิ์เรือง ยามเจ้าย่างเยื้องงามกระไร สวยงามวิไล สวยเกินนกใดใด เยื้องไปแห่งไหน สวยสอาง

หงส์ลงเล่นธาร ต้องสระสนาน ธารสุรางค์ ลงสระอโนดาตชำระร่าง ไซร้ขนปีกหาง สรรพางค์กาย

ทรงหงส์อ่อนงอน ปกปิดช้อนเชยฉอ้อน ช้อนโอบกายเคล้าคู่กันผันเรียงราย พร้อมกันว่ายแหวกธาร ว่ายน้ำฉ่ำกาย ต่างผันผายพากันว่ายฟ้าเบิกบาน เหิรสู่แดนแสนสราญ ถึงหิมพานต์อันสุขใจ

 

 

บทเพลงท่วงทำนองงามสง่า ให้ความรู้สึกทรงศรีสูงศักดิ์ จินตนาการสู่นางพญา หากแต่ถ้ามองเป็นตัวหงส์ ก็คนจะมองเห็นเหมือนพญาหงส์เยื้องย่างได้ยินในเสียงเพลงแล้วไม่ต้องจินตนาการใดใด ดังกับรู้สึกว่านั่งอยู่ ณ ขอบสระอโนดาต มีโอกาสวางเท้าสัมผัสน้ำ นั่งดูฝูงหงส์เล่นน้ำ สรงสนาน ล่องลอยแหวกว่ายดังว่า จวนจะลืมแดนหิมพานต์ ที่เหินลงมาจากแดนสถานตน

จินตลีลาจากฝูงหงส์ในบทเพลงนี้ บันทึกเสียงครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 กว่า 66 ปีมาแล้ว ก็ยังไพเราะสง่างาม เพียงแต่ว่าทั้งผู้แต่งและผู้ขับร้อง ไม่ได้อยู่รอรับฟังคำชื่นชม เพราะท่านอาจจะเหินผ่านแดนหิมพานต์ไปสู่สัมปรายภพ ณ แดนสุขาวดี ทิ้งไว้ซึ่งความไพเราะธำรงศักดิ์ศรีไว้ทั้งท่วงทำนอง เนื้อร้อง และน้ำเสียงอันเหนือจะพรรณนาเชิดชู

สำหรับ “หงส์เหิน” ที่นำมาใช้เรียกชื่อของดอกเข้าพรรษานี้ ก็ชวนให้มองเห็นความสวยสง่างามของช่อดอกยามลมพัดแกว่งไกวสยายกลีบดอก ดั่งหงส์ขยับปีกเยื้องกราย เมื่อก้านช่อดอกส่ายเล่นลมก็ดั่งว่าจะเหินฟ้าหรือเหินลงมาดินเช่นกัน ทั้งหงส์เหินจากแดนหิมพานต์ และหงส์เหินเดินบนแปลงดิน ก็งามสง่าสูงศักดิ์ศรีไม่แพ้กันทุกปีวันเข้าพรรษา