เฟิร์นไม้ประดับข้างบ้าน ปลูกสร้างรายได้เสริมได้ไม่ยาก

ไม่ใช่เพียงการปลูกผักในบริเวณบ้านเท่านั้นที่จะถูกนำเสนอในคอลัมน์ เกษตรในเมือง แต่หมายถึงการปลูกพืชชนิดไหนก็ได้ ขอเพียงให้สามารถใช้ประโยชน์จากการปลูกทั้งในแง่ความมั่นคงทางอาหารหรือสุขภาพที่ได้บริโภคผักปลอดภัย หรือในแง่สันทนาการเพื่อความเพลิดเพลินสามารถคลายเครียดจากการทำงานในเมืองได้เป็นอย่างดี

เริ่มเป็นฟอร์ม

ไม้ดอกไม้ประดับส่วนใหญ่จะถูกปลูกไว้หน้าบ้านหรือในสวนข้างบ้านอยู่แล้ว จะมากจะน้อยแล้วแต่ความชอบกับความเหมาะสมของสถานที่ ภูมิอากาศสภาพแวดล้อมก็มีส่วนด้วย ตามข้อมูลของเฟิร์นสกุล Platycerium หรือชายผ้าสีดา ที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด คือ เฟิร์นหูช้าง เฟิร์นปีกผีเสื้อ ที่มีมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนเฟิร์นชายผ้าสีดาใต้ที่มีชายห้อยลงยาวกว่าชนิดอื่นและเฟิร์นเขากวางตั้งซึ่งมีชายตั้งตรงขึ้นไม่ได้ห้อยเหมือนชนิดอื่นพบในภาคใต้ ผู้เขียนเคยนำเฟิร์นทั้ง 4 ชนิดมาปลูกในภาคกลางปรากฏว่าเฟิร์นที่เติบโตได้ดีคือ เฟิร์นปีกผีเสื้อและเฟิร์นหูช้างของภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนเฟิร์นที่มาจากภาคใต้ คือเฟิร์นชายผ้าสีดาใต้และเขากวางตั้งปลูกค่อนข้างยาก เพราะตามถิ่นกำเนิดเดิมเฟิร์นเหล่านี้อยู่ในธรรมชาติที่มีฝนตกชุกของภาคใต้ การปลูกเลี้ยงจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ความชอบเรื่องการปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีในแทบทุกคน แต่ความชอบต้นไม้แตกต่างกัน เช่น กล้วยไม้ บอนไซ ไม้ใบ กระบองเพชร ชวนชม เป็นต้น แต่ คุณธานี เจริญภักดี หรือ คุณเด่น เลือกเฟิร์นเป็นไม้ประดับข้างบ้าน เนื่องจากพบเห็นมาตั้งแต่เด็กในบริเวณป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เคยนำมาเลี้ยงบ้างแต่ยังไม่เป็นกิจจะลักษณะ คุณเด่น เล่าให้ฟังว่า “เรียนมาทางสายอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งชั้น ปวช. และ ปวส. ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาได้มาเรียนปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อจบแล้วได้ทำงานที่กรุงเทพฯ ในสำนักงานกฎหมาย และจบปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ที่สถาบันนี้ด้วย ต่อมารู้สึกเบื่อหน่ายถึงจุดอิ่มตัวก็เลยลาออกกลับบ้านที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและได้ทำงานธนาคาร 3 ปี จนแต่งงานมีครอบครัว มีลูก 1 คน ตอนระหว่างเลี้ยงลูกมีเวลาว่างมาก จึงสนใจที่จะเลี้ยงเฟิร์นไว้ข้างบ้าน

ความรู้ที่ได้นำมาเพาะเลี้ยง ได้มาจากการเรียนรู้ในสื่อออนไลน์ และการเข้ากลุ่มเฟซบุ๊กต่างที่มีเรื่องราวการปลูกเฟิร์นทำให้ได้ความรู้มาทดลองปลูกเลี้ยง ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม้ต้นแรกที่เริ่มเลี้ยงอย่างเป็นทางการก็ได้จากเพื่อนมาบ้าง เก็บออกมาจากป่าข้างบ้านในสวนผลไม้บ้าง เช่น เฟิร์นหูช้าง เฟิร์นสายม่านใต้บ้าง และบางส่วนที่เป็นเฟิร์นลูกผสมหรือเฟิร์นต่างประเทศก็หาซื้อเอาในกลุ่มเฟิร์น”

บ้านเดี่ยว 100 ตารางวาของคุณเด่น ได้ทำโรงเรือนเฟิร์นไว้ 2 โรง โดยใช้เสาหน้า 4 มีซาแรนล้อมรอบ ด้านบนใช้โครงแป๊บน้ำที่เคลือบกัลวาไนซ์ป้องกันสนิม แล้วนำพลาสติกสำหรับมุงหลังคามุงไว้ พร้อมซาแรน 50 เปอร์เซ็นต์ โรงเรือนมีขนาด 6 เมตร คูณ 12 เมตร ทั้ง 2 โรง

การเพาะสปอร์

จากประสบการณ์ที่เรียนรู้ในการปลูกเลี้ยงเฟิร์นมาหลายปี คุณเด่น บอกเล่าว่า “การเพาะสปอร์ต้องเลือกเอาสปอร์ที่แก่ คือดูได้จากอับสปอร์มีสีน้ำตาลเข้ม ดูฟูฟู พร้อมที่หลุดถ้ามีอะไรไปกระทบ โดยใช้มีดสะอาดๆ ขุดออกมาบนกระดาษแล้วเทใส่ถุงซิป หรือใส่ใบเฟิร์นที่มีสปอร์ลงไปในถุงแล้วเขย่าให้สปอร์หล่นลงในถุง จะนำไปใส่ไว้ตู้เย็นหรือไว้ในที่ร่มไม่โดนแดดก็ได้ เฟิร์นบางชนิดสามารถเก็บไว้ได้หลายปี”

เชื้อราในกล่องเพาะ

วัสดุที่ใช้ในการเพาะสปอร์คือ ขุยมะพร้าว พีทมอส หรือสแฟกนั่มมอส นำมาแช่น้ำแล้วบีบออกพอหมาดๆ อย่าให้วัสดุปลูกแฉะ หรือเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อจะนำมาต้มในน้ำเดือด 5 นาทีแล้วปล่อยให้เย็น แล้วนำมาใส่ภาชนะเป็นกล่องพลาสติกใสหรือเป็นตะกร้า โดยโรยสปอร์บางๆ ให้ทั่ววัสดุปลูก แล้วนำฟ็อกกี้พ่นน้ำเพิ่มอีกเล็กน้อย แล้วปิดฝาหรือสำหรับตะกร้าใช้ถุงร้อนใสขนาดใหญ่สวมแล้วมัดปากไว้ นำไปไว้ในที่ร่มที่พอมีแสง ไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง ใช้เวลาประมาณ 20 วันก็จะเริ่มเห็นปื้นเขียวๆ ในวัสดุเพาะ

ขั้นตอนการย้ายต้น

ปื้นเขียวที่เห็นคือต้นอ่อนขนาดเล็กของเฟิร์น ประมาณ 45 วันปื้นเขียวนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ควรเปิดฝากล่องออกดูเพราะจะมีการปนเปื้อนของเชื้อรา แต่เมื่อขนาดของต้นเริ่มใหญ่ขึ้นก็ควรหมั่นสังเกตว่าวัสดุเพาะแห้งหรือไม่โดยดูจากหยดน้ำที่เกาะถุง ถ้าไม่มีหยดน้ำเกาะแสดงว่าแห้ง ต้องคอยฉีดน้ำเพิ่ม น้ำจะมีส่วนทำให้มีการผสมพันธุ์กันเองระหว่างต้นที่แตกต่างกับพืชอื่น ช่วงนี้จะเริ่มแยกเฟิร์นโดยการใช้ที่หนีบ หนีบต้นเฟิร์นเป็นกระจุกออกมายังไม่ได้แยกต้น นำมาดำในกล่องหรือตะกร้าที่เตรียมไว้โดยใช้วัสดุเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น ดำในวัสดุปลูกห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร เพาะเลี้ยงไปประมาณ 2-3 เดือน เฟิร์นก็จะเริ่มมีใบจริงอย่างน้อย 2 ใบ จึงค่อยๆ หนีบต้นที่มีขนาดใหญ่ลงมาเพาะในวัสดุเดิมอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยต้นมีระยะห่างประมาณ 1 นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ในช่วงนี้จะเริ่มให้ปุ๋ยละลายช้าในปริมาณที่น้อยมาก หรือใช้ปุ๋ยละลายน้ำบางที่สุดฉีดพ่น การเปิดฝาหรือถุงพลาสติกออกดูควรทำให้น้อยที่สุดเนื่องจากเสี่ยงต่อความเสียหายจากรา ในช่วงนี้จะยังไม่ให้ยาป้องกันรา แต่ถ้ามีปื้นขาวๆ ก็ให้หนีบออก โดยนำไปทำนอกโรงเรือนเพราะเสี่ยงกับการกระจายของเชื้อรา แต่ถ้ามีหลายตะกร้าก็นำไปทำลายภายนอกทั้งตะกร้าเลยก็จะเป็นการดี รอประมาณ 3-4 เดือนก็จะนำมาใส่กระถาง 2-4 นิ้ว หรือใส่ในถาดเพาะเมื่อต้นมีขนาด 3-4 เซนติเมตร โดยใช้สแฟกนั่มมอสห่อรากแล้วใช้มะพร้าวสับเล็กที่แช่น้ำจนชุ่มแล้วรองภายในกระถาง เลี้ยงไปอีกระยะหนึ่งต้นเฟิร์นก็พร้อมจำหน่าย

การให้ปุ๋ยละลายช้า

การดูแลรักษา ค่อนข้างง่าย มีการรดน้ำ 3-4 วันครั้ง หรือดูความชื้นในโรงเรือนเป็นหลัก ส่วนยาจะใช้ยาฆ่าแมลงและยากันรา ปีละประมาณ 2 ครั้ง ผสมฉีดพร้อมกันในฤดูฝน ในช่วงเช้า นอกนั้นก็ดูความชื้นและการระบายอากาศควบคู่กันไป ส่วนปุ๋ยจะใช้ปุ๋ยละลายช้าทุก 3 เดือน

เก็บสปอร์

คุณเด่นฝากถึงผู้สนใจปลูกเลี้ยงว่า ตนเองเป็นคนชอบเฟิร์นและปลูกเลี้ยงมาเพียงไม่กี่ปี จะต้องหาประสบการณ์อีกมาก แต่ด้วยใจที่รัก จึงอยากบอกถึงคนที่รักเฟิร์นทุกท่านว่า การปลูกเลี้ยงเฟิร์นทำให้เราคลายเครียดจากงานได้เป็นอย่างดี และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย ถ้ารักเฟิร์นให้เริ่มหัดปลูกต้นที่มีราคาไม่แพงลองดูก่อน แล้วค่อยขยับไปเรื่อยๆ การเข้าร่วมกลุ่มการปลูกเลี้ยงจะทำให้เราได้รู้เห็นถึงประสบการณ์ที่สมาชิกเข้ามาโพสต์ได้เป็นอย่างดี และเมื่อประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งก็จะสามารถปลูกเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย ปัจจุบันคุณเด่นมีงานประจำทำในบริษัทลิซซิ่ง แต่ก็ยังไม่เลิกที่จะปลูกเลี้ยงเฟิร์นเพราะเป็นต้นไม้ที่ชอบ

สนใจสวนคุณเด่น หรือ คุณธานี เจริญภักดี สวน FERN FOLLOW อยากเรียนรู้การปลูกเฟิร์นในเบื้องต้นก็สามารถสอบถามได้ สามารถพูดคุยได้ที่เฟซบุ๊ก : “อาเด่น เจริญภักดี” ได้ในช่วงหลังเวลาทำงาน

เจริญเติบโตได้ดี
ลูกเฟิร์นที่เพาะไว้
เพิ่งย้ายกระถางปลูก