ผู้เขียน | มานพ อำรุง |
---|---|
เผยแพร่ |
บทสวดมนต์แผ่เมตตาให้แก่ตัวเราเอง
อะหัง สุขิโต โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข)
อะหัง นิททุกโข โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์)
อะหัง อะเวโร โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร)
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง)
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ (ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกาย สุขใจ รักษากายวาจาใจให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด)
เป็นบทสวดแผ่เมตตา บทที่ 1 ในบทสวดมนต์ 9 บทสวดมนต์ข้ามปี พ.ศ. 2560 ก้าวเข้าสู่ปี 2561 โพสต์ไว้โดยชาว “Sanook! Horoscope” เพื่อคนที่อาจจะไม่สะดวกไปร่วมงานสวดตามสถานที่ในวัด หรือศาสนสถานต่างๆ ซึ่งมีการจัดเตรียมกันไว้ ก็สามารถใช้บทสวดมนต์ 9 บท สวดที่บ้านตนเอง โดยแต่ละบทมีชื่อดังนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านคงจะเคยได้ยินและเคยสวดมาบ้างแล้ว
- คำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย ขึ้นต้นว่า อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิฯ
- บทกราบพระรัตนตรัย ขึ้นต้นว่า อะระหัง สัมมนา สัมพุทธโธ ภะคะวาฯ
- นมัสการพระพุทธเจ้า ขึ้นต้นว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโตฯ
- 4. สมาทานศีล 5 ขึ้นต้นว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทังฯ
- บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ประกอบด้วยบทย่อย 3 บท
– บทพระพุทธคุณ ขึ้นต้นว่า อิติปิโสภะคะวา อะระหังฯ
– บทพระธรรมคุณ ขึ้นต้นว่า สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโมฯ
– บทพระสังฆคุณ ขึ้นต้นว่า สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ
- บทมงคลสูตร (ป้องกันอันตราย เพิ่มสิริมงคลรับปีใหม่)
ขึ้นต้นว่า เอวัมเม สุตังฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวาฯ
- บทโพชฌังคปริตร (หายจากโรคภัย สุขภาพดีรับปีใหม่)
ขึ้นต้นว่า โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานังฯ
- บทพุทธชัยมงคลคาถา (ชนะอุปสรรคทั้งปวง พบความสำเร็จในปีใหม่)
ขึ้นต้นว่า พาหุง สะหัสสะมภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลังฯ
- บทแผ่เมตตา มีทั้งแผ่เมตตาให้แก่ตัวเราเอง (กล่าวไว้ในตอนต้น)
– บทแผ่เมตตาทั่วไป ขึ้นต้นว่า สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายฯ
– บทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ขึ้นต้นว่า อิทังเม มาตาปิตูนัง โหตุฯ
โดยลงท้ายคำแปลว่า ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข
ในปี พ.ศ. 2560 ทางรัฐบาลส่งเสริมให้จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พุทธศักราช 2561 รวมทั้งจัดให้มีพิธีทำบุญตักบาตร เวลา 07.00 น. ของวันขึ้นปีใหม่ ณ สถานที่ต่างๆ มากมาย
ในวิถีธรรมปีใหม่ 2561 มีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีทั่วประเทศหลายสถานที่ รวมทั้งมีการจัดสวดมนต์ข้ามปีอาเซียน 16 จังหวัด ที่ติดกับชายแดน ประกอบด้วย จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว ระนอง สงขลา ตราด และสตูล รวมทั้งวัดไทยในต่างประเทศ ส่วนระดับกระทรวง ก็มีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพระพุทธศาสนา และกรุงเทพมหานคร วัดในต่างจังหวัดทุกจังหวัด สำหรับวัดในกรุงเทพฯ ก็มีการจัดไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล อีกด้วย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีการสวดมนต์ข้ามปี ณ อุทยานแห่งชาติ 140 แห่ง โดยจัดพื้นที่ปฏิบัติธรรม ภายในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวได้ร่วมกิจกรรมสวดมนต์ ทำสมาธิ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนที่แยกออกมาจากการจัดกิจกรรมรื่นเริงในช่วงส่งท้ายปี ซึ่งอนุมานว่าความยิ่งใหญ่ในปีนี้คงไม่น้อยไปกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า “แสงเทียนแห่งสยาม สวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่ วิถีพุทธ” ซึ่งเราจะได้สืบเป็น “วิถีธรรม” ต่อไป
อุทยานแห่งชาติในประเทศไทยที่ประกาศไว้ถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 148 แห่ง แบ่งตามกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกเป็นภาค ได้แก่ กลุ่มภาคเหนือ 59 แห่ง กลุ่มภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก 25 แห่ง กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 แห่ง และกลุ่มภาคใต้ 40 แห่ง ในจำนวนทั้งหมดนี้มีทั้งอุทยานแห่งชาติทางบก และอุทยานแห่งชาติทางทะเล เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีทิวทัศน์สวยงามเป็นที่อัศจรรย์ เหมาะสำหรับการพักผ่อน มีคุณค่าทางการศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าวิจัย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพืชหายาก มีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกตกทอดต่ออนุชนรุ่นหลัง โดยมาตรฐานสากลจะมีพื้นที่อย่างน้อย 10 ตารางกิโลเมตร หรือไม่น้อยกว่า 6,250 ไร่
จากหนังสือ “อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย” โดย ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรแห่งชาติ (ชื่อส่วนราชการขณะนั้น พ.ศ. 2544) โดยกรมป่าไม้ ดูแลรับผิดชอบ “อุทยานแห่งชาติ” ได้ระบุที่มาของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ
- เพื่อรักษาทรัพยากรในพื้นที่ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมอย่างยั่งยืน หรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพธรรมชาติ
- 2. เพื่อรักษาพื้นที่ที่มีความเป็นพิเศษเอาไว้สำหรับใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว
- 3. เพื่อเป็นแหล่งในการศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าวิจัยด้านธรรมชาติวิทยา
อุทยานแห่งชาติ (National parle) หมายถึงพื้นที่ของรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว เป็นพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิม ไม่เคยถูกรบกวนจากมนุษย์ อยู่ห่างไกลชุมชน ประกอบไปด้วยป่าไม้ ภูเขาสลับซับซ้อน มีความงามวิจิตรพิศดารตามธรรมชาติ มีพื้นที่กว้างขวางนับร้อยตารางกิโลเมตร เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพความสมดุลตามธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล
พื้นที่ป่าพงพฤกษ์ไพรตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือพื้นที่ลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งสงวนไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้า ความเป็นไปทางธรรมชาติวิทยา มีส่วนใกล้เคียงกันที่รู้จักและอาจจะเรียกขานสับสนกันมีอีก ได้แก่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (wildleje sanctaury) หมายถึงพื้นที่ที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นพื้นที่คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เป็นการรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า และขยายจำนวนสัตว์ป่าให้มีจำนวนมากขึ้น ข้อสังเกตจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ได้มีการจัดตั้งเพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยว แต่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือชื่นชมธรรมชาติตามพื้นที่ที่กำหนดได้ แต่จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบค่อนข้างจะเข้มงวดมาก ตัวอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้แก่ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร ภูเขียว ฯลฯ ปัจจุบันมีจำนวนเขตถึง 55 แห่ง ทั่วประเทศ
วนอุทยาน (Forest park) หมายถึงสถานที่ในป่าที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีจุดเด่นตามธรรมชาติ เช่น มีน้ำตก หน้าผา มีหมู่ไม้สวยงาม มีธรรมชาติที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน แต่มีเนื้อที่ไม่กว้างใหญ่เหมือนอุทยานแห่งชาติ แต่ทั้งนี้อาจจะเสริมแต่งให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งต้องคงอยู่อย่างเดิม อาจจะมีถนน ทางเดิน ทางเท้า ติดชื่อพันธุ์ไม้ต่างๆ หรือบริการความสะดวกอื่นๆ ปัจจุบัน ประเทศมีวนอุทยาน จำนวน 69 แห่ง เช่น แพะเมืองผี ภูชี้ฟ้า ฯลฯ
จะเห็นว่า ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และวนอุทยานก็เป็นพื้นที่อนุรักษ์เหมือนกัน ซึ่งมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็จุดหมายที่จะคงไว้ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษาผืนป่าที่จะให้ทุกอย่างคงอยู่สมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป ดังนั้น ในการสวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2561 นี้ จากจำนวนอุทยานแห่งชาติ ถึง 140 แห่ง ที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดให้มีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนี้ ก็จะมีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติที่สะดวกที่สุด หรือใกล้บ้านตามแต่ปรารถนาจิต
การสวดมนต์ข้ามปี เป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตามกำลังความสามารถ ศรัทธา ความสะดวก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อจิตใจและสุขภาพ จะช่วยให้จิตใจมีสมาธิ ทำให้เกิดปัญญา ตัดความเห็นแก่ตัว เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองและคนรอบข้าง ไล่ความขี้เกียจ และเหมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และจัดได้ว่าเป็นการได้สืบสานพุทธศาสนาเป็นบุญที่สุด
อานิสงส์อันจะเกิดจากการสวดมนต์ข้ามปี ก็จะเกิดขึ้นมากมาย เช่น
– ได้กล่าวถึงคำที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้
– เกิดผลดี ทั้งทางร่างกายและจิตใจกับตนเอง
– เป็นการบำเพ็ญภาวนาที่จะสอดคล้องกับการบูชาเทวดาและจิตวิญญาณ
– เกิดผลบุญ เมื่อมีการแผ่เมตตา ส่งผลบุญถึงผู้เดือดร้อน
– สร้างสิริมงคลกับตัวเอง เหมือนได้รับพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
– เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม วิปัสสนา กรรมฐาน
สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล ได้กล่าวถึงและเชิญชวนกันเที่ยวทั่วไทย ไปท่องป่ากันมากมาย โดยเฉพาะการได้กล่าวถึงอุทยานแห่งชาติในท้องที่ภูมิภาคต่างๆ ในแง่มุมมองหลากหลาย ที่จะขอนำเสนอให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันกว้างขวางขึ้น พอจะสรุปเก็บตกเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปนี้
อุทยานแห่งชาติ “แห่งแรก” คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมีประกาศในพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 18 กันยายน 2505 และได้รับสมญาว่าเป็นอุทยานฯ มรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน มีอาณาเขตครอบคลุม 11 อำเภอ ของ 4 จังหวัด คือ สระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก มีพันธุ์ไม้ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า และภูเขา
อุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง ท่ายาง เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสภาพป่าสมบูรณ์ อุดมด้วยพืชพันธุ์ ป่าต้นน้ำ ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า ทะเลสาบ เขื่อนเก็บน้ำ
มีอุทยานแห่งชาติที่เป็นที่น่าสนใจน่าเที่ยวชมธรรมชาติมากๆ ได้แก่
– อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา เช่น เขาตะปู
– อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ น้ำตกสิริภูมิ แม่ยะ แม่ปาน
– อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี กบทูด บัวผุด
– อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี น้ำตกเอราวัณ
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุโมงค์ใต้น้ำเชื่อมเกาะ
– อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทะเลภูเขา เกาะหินปูน
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ค้างคาวแม่ไก่ ปูไก่
– อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ
– อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ธรรมชาติป่าสมบูรณ์ เกษตรกรรม
– อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี น้ำตกไทรโยค น้ำตกเขาพัง
เป็นเพียง 10 ตัวอย่างอุทยานแห่งชาติ จาก 148 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทีมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งทางบกและทางทะเลในประเทศไทย ที่ยากจะตัดสินใจที่จะไปเยี่ยมชม สัมผัสความงามตามธรรมชาติ ช่วงเปลี่ยนศักราชปีใหม่นี้ ก็สุดแต่จะเลือกภาวนาสวดมนต์ภายใต้แสงจันทร์ ดวงดาว ใต้ร่มไม้ หรือในเต๊นท์ ในศาลา ณ อุทยานแห่งชาติ ณ วนาลีแห่งไหน ก็เลือกตามดวงจิตที่ปรารถนาเกิดผลบุญที่เกิด ก็ย่อมจะส่งผลดีกลับสู่อัตตบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นแล
ในวาระดิถีสวดมนต์ข้ามปี ณ วนาลีอุทยานแห่งชาติ ส่งท้ายปี พ.ศ. 2560 ต้อนรับปี พ.ศ. 2561 ถือเป็นวาระพิเศษที่ทุกท่านคงจะมีบทสวดมนต์ในมือถือ ปฏิบัติในใจที่จะกล่าวภาวนาเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ไม่ว่า ณ ธรรมสถาน หรือวนาสถานแห่งชาติ ก็ขอร่วมอนุโมทนา
วาระพิเศษนี้ขอเปลี่ยนบทเพลงประจำพฤกษา เป็นวนาอุทยานสงบ ณ อุทยานแห่งชาติ ที่จะขอนำเสนอเพิ่มเติมเพื่อสัมผัสความปรารถนาดีร่วมกัน
– อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดเพชรบูรณ์
– อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดชัยภูมิ
– อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดลำพูน, จังหวัดตาก
– อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย
– อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดปราจีนบุรี
– อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี
– อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
– อุทยานแห่งชาติสิรินารถ จังหวัดภูเก็ต
ทุกผืนถิ่นแดนไทย ก็เป็นอุทยานฯ ในใจ ที่จะสวดภาวนาให้คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป