พฤกษาแม่โพสพ…น้อมนบมหากุศล วันพืชมงคล จรดพระนังคัล

“โอม…แม่โพสพ แม่โพสพ แม่นพดารา แม่จันทร์เทวี แม่ศรีโสภาได้เลี้ยงลูกมา ใหญ่กล้าเพียงนี้ ลูกขอบวงสรวง ด้วยพวงมาลี ธูปเทียนอัคคี ตามมีบูชา ลูกขอนี้ไซร้ ขอยกบุญคุณแม่โพสพ ขึ้นนบนอบเหนือเศียร…ฯลฯ”

เป็นส่วนหนึ่งของการทำขวัญข้าว การทำพิธีบูชาแม่โพสพ ในบางท้องถิ่นอาจจะกล่าวรวมๆ กันว่า เป็นการเชิญขวัญแม่โพสพ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยคำบวงสรวงที่กล่าวไว้เป็นคำปฏิบัติบูชา

แม่โพสพ ตามสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า เทวดาประจำพืชพรรณธัญญาหารทั้งปวง มวลมนุษยชาติเชื่อถือและกราบไหว้มาตั้งแต่โบราณ

ตามตำนานเล่าว่า แม่โพสพเป็นสตรีเพศร่างงาม แต่งกายด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณสมัยโบราณ ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าจีบชายกรอมลงมาถึงปลายหน้าแข้ง ทรงเครื่องทิพยาภรณ์ตระการตา ไว้ผมยาวสลวยประบ่า มีกระจังกรอบหน้าคล้ายมงกุฎ และจอนหูงอนชดช้อย มือข้างหนึ่งชูรวงข้าว ส่วนอีกข้างหนึ่งถือถุงโภคทรัพย์เต็มถุง ประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อยแบบแพนงเชิงอย่างไทยโบราณ เมื่อเกษตรกรชาวไร่ชาวนาปลูกข้าว ได้เก็บเกี่ยวรวงข้าว นวด ฟัด ได้เมล็ดข้าวเปลือก ทุกคนก็ยังถือว่าเป็นสิ่งเคารพน้อมนบบูชา ถือว่าท่านแม่โพสพเป็นเมล็ดข้าวประเสริฐสุด เป็นเทพีกลางท้องทุ่งนา เป็นเจ้าแม่แห่งข้าวผู้ทรงอานุภาพศักดาเรืองฤทธิ์ ช่วยชุบชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาว มีน้ำมีนวล ผิวพรรณผ่องใส ช่วยสำรองท้องให้อิ่ม อีกทั้งเสริมพลังกายาให้มีเรี่ยวแรง ก็ด้วยแรงโภชนาจากเมล็ดข้าว แม่โพสพผู้มีบุญคุณล้ำเลิศได้สงเคราะห์ตราบนิรันดร์

มีบทกลอนจากสื่อออนไลน์อินเตอร์เน็ต โพสต์ไว้ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ใช้นามใต้บทกลอน ว่า “หยาดกวี” ภายใต้หัวข้อเรื่องว่า “รวงข้าว” พรรณนาซาบซึ้งในคุณค่าหยาดเหงื่อแรงงานของชาวนา และ “พี่ทุย” กว่าจะได้เป็นรวงข้าวให้เราได้กิน ว่า…

รวงข้าวมาจากไหน     จากเหงื่อไคลไม่ใช่หรือ

แรงลากจากกระบือ          ช่วยลากยื้อ ต่างร่วมแรง

เหงื่อคนปนเหงื่อควาย      กว่าจะได้ต้องขันแข็ง

รวงข้าวราคาแพง             จากร่วมแรงพลิกพื้นนา

กิน กิน กินกันเถิด           ชาวนาเกิด เพื่อท่านหนา

เหน็ดเหนื่อยหรือเมื่อยล้า  จักอุตส่าห์ ทำต่อไป

เป็นสุขกับไอ้ทุย               นั่งเป่าขลุ่ยกอดคันไถ

ชมวิวทุ่งนาไกล               กำลังใจของชาวนา

ศรัทธาแม่โพสพ               แม่อยู่จบทั่วทิศา

แม่คือแม่ชาวนา              ช่วยชีพคน บนพื้นดิน

จึงขออนุญาตเผยแพร่เพื่อเทิดทูนแรงงานหยดเหงื่อชาวนา และชื่นชมเจ้าของบทกวีที่ร้อยกรองให้มองเห็นคุณค่าของรวงข้าวอย่างดียิ่ง ชวนให้คิดถึงบทกวีอีกบท ที่ขึ้นต้นว่า “เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน…ฯลฯ”

วันพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2561 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ถือเป็นวันมิ่งมงคลสำหรับเกษตรกร เป็นวันที่มีความหมาย ความสำคัญ มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเกษตรกรรมของมวลกสิกร มีกิจกรรมทั้งพิธีหลวงเป็นทางการ และกิจกรรมพิธีของชาวบ้านเกษตรกรที่ปฏิบัติสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีตลอดมา

พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีหลวงส่วนกลางระดับชาติ สำหรับชาวบ้านในช่วงวันสำคัญนี้อาจจะมีการจัดพิธีทำขวัญข้าว เพื่อเป็นสิริมงคลในการทำนา บางหมู่บ้าน บางครอบครัว เกษตรกรอาจจะลงมือทำพิธี “ลงรอยไถแรก” ด้วยว่า ในพิธีหลวงพระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร และวันนี้ทางราชการกำหนดให้เป็น “วันเกษตรกร” ด้วย ตามประวัติประเพณีปฏิบัติพระราชพิธีเดิมมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในพิธีสงฆ์พระองค์ทรงกำหนดให้มีขึ้นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัย และให้อุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงามดี รวมทั้งเป็นกำลังใจแก่มวลเกษตรกร หรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ หลายฝ่าย ได้แก่ สำนักพระราชวัง กรุงเทพมหานคร กรมศิลปากร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมพิธีการทูต กรมพลาธิการทหารบก กรมพลาธิการทหารเรือ กรมพลาธิการทหารอากาศ กระทรวงกลาโหม กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2560)

ในรัฐพิธีพืชมงคล จะประกอบด้วย ตำแหน่งและหน้าที่ของคณะบุคคล และหน่วยงานที่ดำเนินการตามหมายกำหนดการและกำหนดการ ร่วมในรัฐพิธี ได้แก่ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา (พ.ศ. 2503 มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว)

เทพีคู่หาบทอง-เทพีคู่หาบเงิน

ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ

คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา

ริ้วกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา

พระโคแรกนา พระโคสำรอง

คำประกาศรัฐพิธีพืชมงคล, คาถาพืชมงคล

เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

*หมายเหตุ รัฐพิธี หมายถึง งานที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาให้ทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี มีหมายกำหนดการเป็นการประจำเช่นกัน ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปทรงเป็นประธานในงานนั้นๆ หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ก็ได้ ความสำคัญของข้อแตกต่างอยู่ที่ รัฐพิธี รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด แล้วขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ได้แก่ วันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2560)

คำประกาศรัฐพิธีพืชมงคล

(ตัวอย่างคำขึ้นต้น)

ขยมบาทบวร อาทรถวายอภิวาท นาถนายก ดิลกโลกยวิสัย บ่ไหวด้วยโลกยธรรม์ สรรพเกลศลอยมละ สละสิ่งเศร้าโศกสูญสมบูรณ์ธรรมเป็นที่งอกพันลอกล้ำพิไลงาม ยามนรชาติหญิงชาย กระหายร้อนดำกฤษณรัญจวน บ่ควรเป็นที่งอกแห่งผล พระธรรมที่สมเด็จพระทศพล บัณฑูรตรัส อุบัติงอกด้วยงามความนี้ยิ่งควรยอ ผู้ข้าขอบังคมบรมสุคตโคดมนั้น ชั้นเคารพนบ ในธรรมคุณสุนทรศราวกสงฆ์ อันจำนงว่าเป็นเนื้อนา วิเศษเหตุหว่านพืชเจริญผลอนนต คุณูปการเฟื้องฟื้น ในภพนี้ภพหน้า อนึ่งอันว่าพืชคือกุศล อันให้ผลในปรัตยุบัน จงพลันเสร็จแสดงผลกลปรารถนา บรรดาบุพพัณณอปรัณณชาติในมาสนี้ กำหนดมีรัฐพิธีพืชมงคล ขอพืชผลในสยามจงงอกงามด้วยดี อย่ามีพิบัติเบียฬบำราศผล สมเด็จพระทศพลบัณฑูรแถลง แสดงว่าศรัทธาเป็นของปลูกประจำปี…ฯลฯ

…คำลงท้ายประกาศรัฐพิธีพืชมงคล ดังนี้

บัดนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทราเทพยวรางกูร เสด็จสถิตตราไชยศวรรย์ กันอาณาจักร รักษพุทธศาสน์ มีกมลประสงค์ จงจะบำรุงผดุงราษฎร์ ชาติชีพราหมณ์พรหมจรรย์ สรรพสมณเพศให้ไพบูลย์ พูนพันเอิญเจริญศุภผลดลโดยจิต ขอพุทธฤทธิ์เทพยอำนาจราชกฤดาภินิหาร  บุญญาธิการพระมหากษัตริย์แห่งสยามรัฐทุกพระองค์ จงประสิทธิ์ความสมบูรณ์พูนสวัสดิภาพทั่วหล้า ดาลดินฟ้าอุทกธาร เป็นปรกติการทุกขอมพรรษ ถ้วนบรรษัทเกษตรกร อาทรในสรรพกิจ คิดมั่นมุ่งผดุงตน ขวายขวนเร่งริเริ่ม เพิ่มโภคผลเพียบเพ็ญเป็นทางดำเนิน ดลความเจริญทั่วหน้าดั่งประสงค์เจ้าหล้า สฤษฎิ์ได้ทุกสถานถ้วนเทอญฯ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

คำลงท้ายคาถาพืชมงคล               ได้อาราธนาไว้ดังนี้

…ปวุตฺตา พีชชาติโย                     บุพพัณณพืช และอปรัณณพืช

ปพฺพณฺณา จาปรณณา จ              ทั้งหลาย ที่หว่านไว้แล้ว จง

วิรูหนฺตุ ตหึ ตหึ                            งอกขึ้นในที่นั้นๆ

ราชาณกฺเขตฺตภูตสฺมี                     ต้นไม้ ผลไม้ทั้งหลายในแดนดิน

สพฺพตฺถ ภูริมณฺฑเล                      ทั้งปวง ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขต

สมฺปุณฺณา วิปุลา โหนฺตุ                จงเป็นพฤกษชาติสมบูรณ์ไพบูลย์

สมฺปชฺชนฺ เตฺวว สพฺพโสติ               จงถึงพร้อมโดยประการทั้งปวงเทอญ

พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ โดยจะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

ประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เป็นคาถาภาษาบาลี พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 4 อ่านทำนองสรภัญญะ จบแล้วดำเนินความภาษาไทย เป็นคำร้อยแก้ว เนื้อความเป็นคำอธิษฐาน 4 ข้อ พอสรุปว่า

ข้อ 1 เป็นคำนมัสการสรรเสริญพระคุณพระพุทธเจ้าว่าทรงดับทุกข์ได้ ทรงปลูกธรรมให้งอกงาม จำรูญแก่บรรดาสาวกพุทธเวไนยสืบมา ขอให้ข้าวกล้า และบรรดาพืชผลจงงอกงามจำรูญตามเวลา อย่าได้เสียหายโดยประการใดๆ

ข้อ 2 ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้า ตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่พราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่ง

ข้อ 3 ยกพระคาถา อันเป็นภาษิตของพระเตมีย์โพธิสัตว์ ตั้งสัตยาธิษฐาน

ข้อ 4 อ้างพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ข้าวกล้าพืชผลงอกงามบริบูรณ์

ต่อจากนั้นก็กล่าวถึงพระพทธุรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า “พระคัณธารราษฎร์” ที่มีพุทธนุภาพบันดาลให้ฝนตก อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในพระราชพิธีนี้

สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์ จะได้ประกอบพิธีบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ อาทิ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร์ พระลักษมี พระพลเทพ และพระโคอุศุภราช ซึ่งในตอนค่ำพระราชครูจะทำพิธีบวงสรวง เพื่อความสวัสดีแก่พืชผลด้วย

ในขบวนแห่อิสริยยศไปโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญ แล้วจะตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกาย หยิบผ้านุ่งผืนใดให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้น นุ่งอย่างบ่าวขุนเตรียมออกแรกนา ผ้านุ่งนั้นเป็นผ้าลาย มีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งจะวางเรียงบนโตก มีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น

งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่าง 08.19-08.59 น. เมื่อพระยาแรกนาได้ยาตรา พร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคมแล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอกเจิมพระโค และคันไถ จับหางไถ แล้วไถดะ ไถแปร พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว พนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบเมล็ดพันธุ์ข้าว พนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อกินสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์ของกินที่ตั้งเลี้ยงพระโค มี ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า เสร็จแล้วก็ได้เบิกบุคคล คณะบุคคล ตัวแทนสถาบันเกษตรกรดีเด่น เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ หลังจากนั้นได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนออกจากโรงพิธี

เมื่อพระยาแรกนากราบถวายบังคมแล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวง พร้อมด้วยเทพีไปรอเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แปลงนาทดลอง ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงแปลงนาทดลองฯ พระยาแรกนาเข้ากราบถวายบังคม พระยาแรกนาและเทพีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงนาทดลองโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อปลูกไว้ใช้ในพระราชพิธีฯ ในปีต่อไป

จึงขอน้อมรับมิ่งมงคลมหากุศล ที่เหล่ามวลมนุษย์ชาติ จะได้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารจากพระแม่โพสพ และด้วยพระบารมีอันหาที่สุดมิได้ตลอดไป

เพลง ชีวิตกสิกร/กสิกรไทย

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล

ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

ขับร้อง คณะสุนทราภรณ์ (ชวลี ช่วงวิทย์, มัณฑนา โมรากุล, ศรีสุดา รัชตะวรรณ นำหมู่)

 

* (สร้อย) กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม

(หญิง) อันชีวิตของกสิกรนั้น ต่างยึดถือความขยันมั่นหนักหนา ทนทำงานอยู่ระหว่างกลางดินฟ้า ถึงแดดกล้าฝนพรำก็ทำไป

ซ้ำ (สร้อย)

(ชาย) ความเป็นอยู่แสนง่ายสบายนัก  ดวงจิตรักสงบใจไม่มักใหญ่ มุ่งแต่งานเป็นชีวิตและจิตใจ มีนิสัยที่แผ่เผื่อเอื้ออารี

ซ้ำ (สร้อย)

(พร้อม) กสิกรรมจึงประจักษ์เป็นหลักมั่น อาชีพสำคัญคู่ไทยวิไลศรี ไทยจะเข้มไทยจะแข็งแรงทวี ก็ด้วยมีกสิกรรมประจำเทอญ *ซ้ำ (สร้อย)

บทเพลงเชิดชูกสิกรไทย ผู้ซึ่งมีทั้ง “อด” และ “ทน” แต่สำหรับเกษตรกรไทย ผู้ซึ่งรอเข้าฤดูฝน ได้เวลาเริ่มต้นเพาะปลูกข้าวกล้าในนา ก็มีพลังใจกับพิธีพืชมงคล คือการทำขวัญพืชพรรณ ได้ทำพิธีเชิญขวัญแม่โพสพ อาราธนาบูชาคุณ ดังพอจะยกตัวอย่างกระสายบูชา คำขึ้นต้นพอให้เห็นพลังศรัทธา ดังนี้

“ศรีศรี วันนี้เป็นวันเลิศลม ข้าขอเชิญขวัญพระแม่โพสพในนา เข้ามาอยู่ในยุ้งฉางวันนี้ ขวัญแม่อย่าหนีตื่นตกใจ เมื่อลมพัดสะบัดใบไม้ร่วงหล่น…ฯลฯ…(แล้วลงท้ายด้วย) ขอให้เป็นที่พึ่งของมวลมนุษย์สืบไปเทอญ!” (ลั่นฆ้อง 3 ที แล้วโห่ร้องเอาชัย)