ที่มา | ไม้ดอกไม้ประดับ |
---|---|
ผู้เขียน | น.ต.หญิง ปริมลาภ ชูเกียรติมั่น |
เผยแพร่ |
ดอกไม้สีสวยๆ ให้ดอกเหนือผิวพื้นน้ำที่เราเรียกกันว่า บัว นั้นมีความผูกพันกับคนไทยเรามานานมาก อีกทั้งยังเป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาบูชาในศาสนาพุทธ คงทำให้มีหลายๆ คนที่สนใจและชอบที่จะปลูกเลี้ยงบัว สำหรับผู้เขียนซึ่งเกิดในบ้านที่มีบัวประดับหลากหลายสายพันธุ์ หลายชนิด ก็เลยเห็นความแตกต่างระหว่างบัวหลายแบบที่ปลูกเลี้ยงอยู่ในบ่อ-อ่าง สระน้ำในบ้าน
ยิ่งเห็นยิ่งดู ก็รู้สึกว่าบัวแต่ละชนิดมีข้อเหมือนและแตกต่างกัน และเป็นต้นไม้ที่น่าสนใจศึกษาทำความเข้าใจ ก็เลยมานั่งสรุปเล่นๆ เป็นเรื่องนิสัยของบัวประดับประเภทและชนิดต่างๆ ที่มีการนำเข้า หรือปรับปรุงสายพันธุ์ปลูกเลี้ยงบัวประดับ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาในการหุบและบาน ลักษณะการเจริญเติบโตและสภาพแวดล้อมที่ชอบ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากจะเข้าใจความต้องการของบัว เพื่อจะได้ปลูกบัวได้ดอกให้เราชื่นชม แต่ต้องขอแก้ตัวไว้ก่อนว่า เนื่องจากเป็นคนปลูกเลี้ยงที่ไม่ใช่นักวิชาการหรือนักพฤกษศาสตร์ ดังนั้น การสรุปเรื่องราวต่างๆ ขอใช้ภาษาง่ายๆ แบบที่ตัวเองเข้าใจ ก็ต้องขออภัยผู้รู้ลึกมา ณ โอกาสนี้
ถ้าจะให้อธิบายในเรื่องนิสัยของบัวแล้ว ก็คงต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า บัวประดับในประเทศไทยนั้นมีกี่ประเภท และเป็นประเภทอะไรบ้าง ว่ากันง่ายๆ ก็ดูจากที่ตาของเรามองเห็นว่าแตกต่าง ก็จะขอแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทของบัวที่มีก้านแข็ง (Nelumbonaceae) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อทั่วไปว่า บัวหลวง ถ้าจะเรียกให้ฟังดูสละสลวยก็คือ ปทุมชาติ บัวพวกนี้จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่เห็นได้ชัดก็คือ มีก้านใบ-ก้านดอกที่แข็ง แถมยังมีตุ่มหนามเล็กๆ ส่งใบ-ดอกชูพ้นน้ำสูง อีกอย่างที่เด่นชัดก็คือ ลักษณะของผิวหน้าใบที่คล้ายๆ จะมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ทำให้น้ำไม่เกาะผิวหน้าใบ จนเป็นที่มาของสำนวนว่า น้ำกลิ้งบนใบบัว บัวหลวงก็คือ บัวที่เรานิยมนำมาไหว้พระนั่นเอง
ส่วนบัวอีกประเภทก็คือ บัวก้านอ่อน (Nympheaceae) ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มของบัวสาย เรียกอย่างสละสลวยก็คือ อุบลชาติ พวกนี้มีความหลากหลายในเรื่องนิสัยกันอย่างมาก แต่ก็มีลักษณะร่วมกันที่ทำให้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากพวกบัวหลวงก็คือ ก้านใบ-ก้านดอกจะไม่แข็งมาก โดยมากก้านใบจะไม่สามารถส่งใบให้ชูพ้นน้ำได้สูง และใบมักจะปูลอยบนผิวน้ำ (ก็เลยเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า บัวก้านอ่อน-ผู้เขียน) พวกบัวก้านอ่อนนี้มีหลายแบบมาก ทั้งพวกที่เจริญเติบโตได้ในเขตหนาวสามารถผ่านหิมะได้โดยไม่ตาย ศัพท์ตามความเข้าใจของชาวบ้านเรียกว่า บัวฝรั่ง
สำหรับพวกที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น มีทั้ง บัวที่บานกลางวัน บางทีชาวบ้านเรียกว่า บัวผัน-เผื่อน และกลุ่มที่บานกลางคืน บางทีก็เรียกกันว่า บัวกินสาย ก็คือบัวที่เราเก็บสายบัวมาทำแกงสายบัวได้
บัวอีกกลุ่มที่มีก้านอ่อนใบลอยน้ำก็คือ บัวที่มีใบโตมากๆ ขอบใบตั้งขอบเหมือนกระด้ง กอโตๆ บางทีเรียกกันว่า บัวกระด้ง หรือ บัววิคตอเรีย
นิสัยของบัวประดับในประเทศไทย
ทีนี้ก็จะขอกลับมาเล่าเรื่องนิสัยของบัวประดับในประเทศไทย แต่ละประเภทแต่ละกลุ่มเพื่อให้เป็นความเข้าใจในภาพรวมก่อน นิสัยที่เหมือนกันสำหรับไม้น้ำที่เรียกว่าบัวทุกประเภท ก็คือ
1. ลักษณะการบานจะเป็นการบานแล้วหุบ โดยมีเวลาการบานระหว่าง 2 วันครึ่ง ถึงไม่เกิน 4 วัน ซึ่งลักษณะการบานแล้วหุบนี้จะเป็นไปโดยตลอดถึงแม้ว่าจะตัดดอกบัวมาปักแจกันก็ตาม เพียงแต่ช่วงเวลาในการเริ่มบานของบัวแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน ถึงตอนนี้ผู้อ่านหลายท่านก็คงจะสงสัยว่า อ้าว! แล้วทีบัวหลวงที่ตัดมาไหว้พระล่ะ ไม่ค่อยเห็นบานเลย คำตอบก็คือ บัวหลวงที่เราเอามาไหว้พระนั้น ยังเป็นช่วงดอกตูมอยู่ เขาก็เลยไม่มีโอกาสบานให้เราเห็น
2. นิสัยร่วมของบัวทุกชนิด ก็คือชอบแดด ดังนั้น ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ดี มีดอกสวย ก็คงต้องไว้กลางแจ้ง ถ้าเอาไปไว้ในร่ม ผลคือบัวจะงามใบ ไม่งามดอก เจ้าของผู้ปลูกจะหมดกำลังใจในการปลูกไปกันเปล่าๆ
3. บัวทุกชนิดชอบน้ำนิ่งๆ ไม่ชอบน้ำพุ น้ำตก ถ้าไปอยู่ใกล้น้ำพุมากๆ ดีไม่ดีอาจจะตายได้ ข้อนี้รวมถึงน้ำฝนที่ตกจากชายคาบ้านด้วย โดยเฉพาะพวกบัวกระด้งนี่ละก็ เขาเกลียดน้ำพุเป็นที่สุดเลย
4. บัวชอบน้ำและดินปลูกที่มีคุณสมบัติเป็นกลางถึงด่างอ่อน (เทียบเป็นค่า pH ระหว่าง 6.5-8.5 ก็พออยู่ไหว) ไม่เค็มหรือเปรี้ยวเกินไป
5. อุณหภูมิน้ำที่บัวทุกชนิดอยู่ได้ดี มีดอกให้เห็นก็คือ ระหว่าง 27-35 องศาเซลเซียส ถ้าน้ำร้อนเกินไป มีสิทธิ์ตายนึ่ง แต่ถ้าน้ำเย็นไปก็จะเกิดอาการหยุดการเจริญเติบโต
6. บัวทุกต้นมีนิสัยไม่ถูกกับปลากินพืชทุกชนิด เพราะบัวจะโดนกินหมด โดยเฉพาะตระกูลปลานิล เป็นของต้องห้าม ปล่อยลงบ่อเมื่อไรบัวไม่เหลือ
7. ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังเป็นนิสัยร่วมของบัวทุกชนิด แต่หากเราจะเจาะลึกเข้าไปที่บัวแต่ละประเภทแล้ว เขาจะมีนิสัยเฉพาะที่ต่างกัน ดังนี้
นิสัยของประเภทบัวก้านแข็ง หรือบัวหลวง
ระยะเวลาการบานระหว่าง 04.00-14.00 น. โดยช่วงวันบานประมาณ 3-4 วัน การเจริญเติบโตมีการเจริญไปทางแนวนอน ขยายพันธุ์ด้วยไหล
นิสัยของประเภทบัวก้านอ่อน แบ่งเป็น
บัวฝรั่ง บานในตอนกลางวัน ระยะเวลาการบานระหว่าง 06.00-14.00 น. โดยช่วงวันบานประมาณ 3 วัน การเจริญเติบโต มีการเจริญไปทางแนวนอน ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า หน่อ ในช่วงฤดูหนาว หากอุณหภูมิลดต่ำกว่า 19 องศาเซลเซียส จะพักตัวไม่ให้ดอก
บัวผัน-เผื่อน บานในตอนกลางวัน ระยะเวลาการบานระหว่าง 06.00-14.00 น. โดยช่วงวันบานประมาณ 3 วัน การเจริญเติบโต มีการเจริญไปในแนวดิ่ง ขยายพันธุ์ด้วยต้นอ่อน หัว หากอุณหภูมิลดต่ำลงมากๆ มีโอกาสที่จะตายได้
บัวกินสาย บานในตอนกลางคืน ระยะเวลาการบานระหว่าง 18.00-10.00 น. โดยช่วงวันบานประมาณ 3 วัน การเจริญเติบโต มีการเจริญไปในแนวดิ่ง ขยายพันธุ์ด้วยต้นอ่อน หัว ไม่ชอบอากาศหนาว
บัวกระด้ง บานในตอนกลางคืน ระยะเวลาการบานระหว่าง 19.00-14.00 น. โดยช่วงวันบานประมาณ 2 วันครึ่ง คือ คืนแรกบานตอนกลางคืน มาหุบเอาประมาณ 10 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น บานอีกที 14.00 น. แล้วหุบตอนเย็น แล้วบานใหม่เข้าวันต่อไปแล้วดอกโรย การเจริญเติบโต มีการเจริญไปในแนวดิ่ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ไม่ชอบอากาศหนาว ไม่ชอบน้ำลึกเกินกว่า 1.50 เมตร และชอบที่กว้างๆ อย่างน้อย 5 เมตร
ที่เขียนมาทั้งหมดคือ การสรุปนิสัยของบัวประดับชนิดต่างๆ ถ้าเราอยากจะปลูกบัวให้ได้ดอกสวยดี เราก็ควรจะเข้าใจนิสัยของบัว แล้วจัดหาสถานที่ สภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการทั้งหมดแล้ว ในที่สุดเขาก็จะให้ดอกสวยงามมาให้เจ้าของเป็นการตอบแทน
แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ที่ น.ต.หญิง ปริมลาภ ชูเกียรติมั่น ([email protected]) “ปางอุบล” 150/5 ซอยติวานนท์ 46 อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ (02) 591-5601 โทรสาร (02) 952-4392 www.thaiwaterlily.com