เข้าป่าหาน้ำผึ้ง ใครเป็นเจ้าของ

การเข้าป่าหาน้ำผึ้งธรรมชาติเป็นเรื่องปกติของคนในเขตร้อนชื้น หรือในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในบางพื้นที่ เช่น อินโดนีเซีย มันมีเรื่องราวมากกว่านั้น

สำหรับคนพื้นเมือง Olin-Fobia ในเขตอนุรักษ์ภูเขามูติส (Mount Mutis) ในติมอร์ตะวันตก เขตห่างไกลความเจริญเหลือเกินของอินโดนีเซีย การหาน้ำผึ้งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเก่าแก่ และมีพิธีกรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยหลายชั่วอายุคน

ป่านี้ไม่มีต้นไม้มีค่าอย่าง ไม้สัก แต่เจ้าป่าเจ้าเขาก็ให้น้ำผึ้งอันอุดมสมบูรณ์มา ชนเผ่านี้จึงไม่ตัดไม้ (อินโดนีเซีย มีปัญหาตัดไม้ทำลายป่ามากเหลือเกิน จับกันไม่ไหว)

การหาน้ำผึ้งของพวกเขาเป็นการทำงานร่วมกันของคนทั้งหมู่บ้าน ต้องหาด้วยกัน ไปพร้อมกัน และไปในเวลาที่มีฤกษ์ผานาทีชัดเจนจากผู้อาวุโส น้ำผึ้งที่ได้ต้องเอามาแบ่งกันอย่างเท่าเทียม

พวกเขารอเมื่อดอกต้นยูคาลิปตัสบาน เป็นสัญญาณของฤดูกาลเก็บน้ำผึ้ง

ก่อนจะเข้าป่าเขาจะมีพิธีกรรมไหว้ป่าเขา ผู้ชายทั้งหมู่บ้านจะร่ำลาครอบครัว เตรียมตัวสำหรับการเข้าไปอยู่ในป่าร่วมกัน 2-3 สัปดาห์ เตรียมข้าวปลาอาหารให้พร้อม

และที่สำคัญ ทุกคนที่เข้าร่วมกระบวนการหาน้ำผึ้งจะต้องไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน หากมีจะต้องเจรจากันเสียก่อนให้เรียบร้อย โดยมีผู้อาวุโสในหมู่บ้านและผู้นำในการหาน้ำผึ้งเป็นผู้ประสานหลัก

ปกติผู้นำหมู่บ้าน ที่เรียกว่า amaf จะเป็นผู้นำในการออกหาน้ำผึ้งเอง แต่หากผู้นำสูงอายุ อาจมอบหมายให้ใครคนหนึ่งเป็นผู้นำแทน ผู้นำหมู่บ้านต้องไปด้วยอยู่ดี เพราะไม่ไปถือว่าเสื่อมเสีย แต่ไปแล้วจะไม่สั่งอะไรมาก

ผู้นำจะมีอำนาจสูงสุดในการควบคุมทุกคน บอกให้คนไหนไปตรงไหน จะปักหลักพักค้างแรมตรงไหน คนอื่นมีสิทธิ์ในการออกเสียงด้วย แต่การตัดสินใจสุดท้ายจะเป็นของผู้นำคนนี้

การปักหลักพักค้างเขาจะกระทำนอกบริเวณพื้นที่ที่จะเข้าไปหาน้ำผึ้ง เอาตรงจุดที่เรียกว่าเป็นปากประตู เขาบอกว่ามันจะไม่รบกวนผึ้ง ซึ่งฉันว่าถูกต้อง เวลาหนีจะได้หนีง่ายด้วยไง

การตั้งค่าย เขาก็มีพิธีกรรมของเขา ประมาณว่าขออนุญาตเจ้าป่าเจ้าเขา ฝากเนื้อฝากตัวไม่ให้มีอันตรายใดๆ ในการนี้จะมีการฆ่าหมูป่าสังเวยเจ้าป่าเจ้าเขา เสร็จแล้วเนื้อหมูป่านั่นก็เอามาเป็นเสบียงระหว่างที่อยู่ในป่า

ถึงกลางคืนพวกเขาจะออกจากค่ายไปหาน้ำผึ้งกัน โดยไปเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มจะมีคนที่เก่งเรื่องปีนป่าย และคนที่เก่งเวทมนตร์คาถา คนที่ปีนเก่งต้องปีนต้นไม้ขึ้นไป ไล่ผึ้งไปแล้วเอารวงผึ้งลงมา ต้นไม้ในป่าแต่ละต้นจะมีรวงผึ้งหลายสิบรวง บางต้นใหญ่ๆ เขาเคยพบว่ามีมากถึง 120 รวง

ระหว่างที่คนหนึ่งปีนขึ้นไป คนข้างล่างก็บริกรรมคาถากันไป คาถาเขาออกมาประมาณเป็นเพลง เนื้อหาคือ ขออนุญาตเอาน้ำผึ้งจากรวง เป็นการขออนุญาตจากผึ้ง ที่ในเนื้อเพลงเรียกเสียดิบดีว่า เจ้าหญิงแสนงามแห่งพงไพร (beautiful forest princesses)

แต่ระหว่างนั้นเขาก็จุดไฟใช้ควันไล่ผึ้งไปด้วย ผึ้งคงงงพอควร ตกลงแกไล่ฉันแล้วยังมาปากหวานใส่ฉันทำไม

แต่ละปี พื้นที่เขตอนุรักษ์นี้มีน้ำผึ้งออกมา 30 ตัน ให้ชาวบ้านบริโภคและขาย มากขนาด 1 ใน 4 ของน้ำผึ้งที่ผลิตได้ในจังหวัดนี้ หมู่บ้านอื่นในเขตอนุรักษ์นี้ก็หาน้ำผึ้งด้วยเช่นกัน แต่ต่างพื้นที่น้ำผึ้งก็มาจากหลากหลายแหล่ง บางหมู่บ้านไม่ได้ขึ้นกับต้นยูคาลิปตัส แต่เป็นต้นไม้ประเภทอื่น เวลาในการเก็บก็ต่างกันไป

องค์การอนุรักษ์ อย่าง World Wildlife Fund เข้าไปช่วยในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำผึ้ง ให้เป็นผลผลิตที่ดูดีมีราคาเพื่อจะได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชาวบ้าน ตอนนี้น้ำผึ้งใช้ยี่ห้อ Gunung Mutis หรือ ภูเขามูติส ส่งไปขายในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวทั่วอินโดนีเซีย

แต่อย่างที่บอกไปแต่ต้น พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตอนุรักษ์ การที่พวกเขาไม่ตัดต้นไม้ ยังน่ารักไม่พอในสายตารัฐ เพราะในสายตารัฐ (อีกเช่นกัน) และกฎหมาย ทุกอย่างในป่าล้วนเป็นสมบัติของรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร หยิบอะไรออกมาจากป่า จึงต้องขออนุญาตรัฐ การที่ชาวบ้านเข้าไปเอาน้ำผึ้งในป่า ถือว่าผิดกฎหมาย เหมือนกับที่เมืองไทยและเมืองอื่นในย่านนี้ก็เป็น

บ้านเรามีหนุ่มกะเหรี่ยงคนหนึ่งหายไปพร้อมกับน้ำผึ้งป่า เขาหายไปจนบัดนี้

ตอนนี้น้ำผึ้ง Gunung Mutis ยังผลิตออกมาได้ เพราะชาวบ้านพยายามขอความเห็นใจ และองค์กรอนุรักษ์ใหญ่ก็เข้าไปช่วย

แต่ระยะยาว ฉันเห็นอนาคตพวกเขาแกว่งไกวในสายลม

 

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบบางส่วน จาก Center for International Forestry Research (CIFOR)