“ มูเซอคอฟฟี่ ” กาแฟรักป่า  

“ดื่มกาแฟ 1 แก้ว ช่วยรักษาป่า” คงเป็นเพียงถ้อยคำเก๋ไก๋ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยว จนกว่าจะได้ไปเยือน ไปเยี่ยมไปเห็น จึงจะแจ้งใจว่า กาแฟแก้วหนึ่ง มีส่วนรักษาป่าจริงหรือ? อย่างไร?

หมู่บ้านของชาวมูเซอดำ ที่ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ชื่อว่าหมู่บ้านห้วยปลาหลด เป็นหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายมูเซอดำ

ชาวมูเซอดำบ้านห้วยปลาหลด มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ยังยึดถือแนวทางดั้งเดิมของชาว ลาหู่แชแล หรือที่รู้จักกันดีในนามชาวมูเซอดำ เอาไว้ค่อนข้างมาก และอยู่กันแบบเครือญาติ พี่น้อง ทำไร่ข้าว ปลูกผัก สลับกันไปกลางป่าในหุบเขา โดยไม่บุกเบิกพื้นที่ทำกินเพิ่ม จากเดิมที่เคยมีมา มีคณะกรรมการดูแลป่า แบ่งป่าออกเป็นประเภทตามการใช้ประโยชน์ ทั้งป่าใช้สอย ป่าชุมชน ป่าพิธีกรรม ป่าต้นน้ำ ไร่ข้าว และพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก

ทุกวันนี้ ไฟฟ้ายังเข้ามาไม่ถึง อาศัยแสงเทียน ตะเกียง และพลังงานแสงอาทิตย์หรือจากโซลาร์เซลล์    นานมาแล้ว พื้นที่บนดอยบ้านห้วยปลาหลดทำไร่ฝิ่น เรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จนป่าต้นน้ำเหลือเพียงป่าหญ้าคา ในปี พ.ศ.2517 เริ่มได้รับการสนับสนุนให้ปลูกไม้ยืนต้นและกาแฟ

ในยุคแรก ทดลองปลูกกาแฟอาราบิกา สายพันธุ์ทิปปิกา แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงมาก จึงเงียบหายไป ต่อมามีการทดลองปลูกโรบัสตา ซึ่งเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตและรสชาติดีมาก กาแฟโรบัสตาจึงกลายเป็นกาแฟที่พบ เห็นได้ทั้งในป่าและในหมู่บ้าน

ต่อมาเมื่อมีการพัฒนากาแฟอาราบิกา สายพันธุ์คาร์ติมอร์ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ จึงมีความนิยมปลูกกาแฟอาราบิกา เพิ่มมากขึ้นในไร่ ในสวน และในป่า

ปัจจุบันในหมู่บ้านห้วยปลาหลดจึงมีทั้งกาแฟโรบัสตา และอาราบิกาทยอยออกดอกออกผล

ด.ช.จะหมอ หรือ ธนกฤต โชคธรรมชาติ กล่าวว่า “กาแฟธรรมชาติในป่าของเราปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายพ่อแม่ พวกเรารักษาป่า ปลูกต้นกาแฟรอบๆ หมู่บ้าน ในป่า ในสวน มีกาแฟทุกที่เลยครับ”

ขนาดและความสูงของต้นกาแฟโรบัสตา บ่งบอกว่าปลูกมานานปี ในช่วงปลายเดือนมกราคมดอกกาแฟสีขาวทยอยบาน ส่งกลิ่นหอมเย็นอบอวลทั่วหมู่บ้านและผืนป่า หลายต้น หลายพื้นที่ก็ให้ผลสุกแดงเป็นลูกเชอร์รี่ ไล่กันไป ในขณะที่อารา บิกาสุกไปก่อนหน้านี้แล้ว

จักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้นำชุมชนห้วยปลาหลด ตั้งใจให้สวนกาแฟของตนเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องวนเกษตร ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือรักษาป่าเชิงเดี่ยว แต่สอนพี่น้อง ชาวบ้านเรื่องการจัดการป่า สุดท้าย ชาวบ้านได้ป่ากลับคืนมา มีรายได้เพิ่มขึ้น และได้วัฒนธรรมกลับคืนมา

จักรพงษ์กล่าวว่า “คนที่นี่รายจ่ายแทบไม่มี รายรับที่ได้จึงเหมือนเป็นกำไรสุทธิที่เหลืออยู่ในรอบปี เฉลี่ยแล้วผมคิดว่ามากกว่าหมู่บ้าน อื่นๆ นะครับ ผมว่าเราใช้พื้นที่น้อยแต่มูลค่าผลผลิตของเราสูง สังคมส่วนรวมได้อาหารสะอาด ป่าก็ยังเหลือ”

ในความคิดของเด็กน้อย ป.4 เด็กชาย จะหมอบอกว่า “ทำไร่ข้าวโพดป่าหมด ปลูกกาแฟป่าเพิ่ม ข้าวโพดราคาแค่กิโลละ 8 บาท แต่เมล็ดกาแฟราคาเป็นร้อย ปลูกกาแฟดีกว่าทำไร่ข้าวโพดครับ”

เด็กๆ รุ่นลูกหลานเริ่มเรียนรู้และรักกาแฟ ในฐานะที่เป็นพืชที่เข้ามาเสริมชีวิตของครอบครัวให้อยู่พร้อมหน้าในหมู่บ้านกลางป่าที่สงบสุข นั่นคือคำตอบต่อคำถามที่ว่า ดื่มกาแฟ 1 แก้วช่วยพวกเขารักษาป่าได้อย่างไร

ด.ช.จะหมอ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมยิ้มหวานว่า “ดื่มกาแฟมูเซอแก้วเดียวก็เหมือนให้กำลังใจพวกเรา ในการรักษาป่าแล้วครับ”

ทุกวันนี้หมู่บ้านชาวมูเซอดำห้วยปลาหลด เป็นโมเดลคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ในขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่รอบๆ นั้น ผืนป่าถูกปรับเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา และปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนแทบไม่เหลือดอยเหลือป่าอีกต่อไป

นอกจากช่วยผู้ใหญ่เก็บผลกาแฟสุกในฤดูหนาวนี้ เด็กๆ บ้านห้วยปลาหลดยังได้เห็นว่า ร้านกาแฟที่ตลาดดอยมูเซอของพวกเขา มีนักท่องเที่ยวนิยมดื่มและติดใจในรสชาติ กาแฟมูเซอ ที่ร้าน Muser Coffee

เมล็ดกาแฟจากชุมชนห้วยปลาหลดที่ส่งกระจายไปหลายพื้นที่ เรื่องราวเกี่ยวกับหมู่บ้านที่ปลูกกาแฟร่วมกับป่า ล้วนเป็นเรื่องราวที่น่าภูมิใจของเด็กๆ และชาวบ้านทุกคน

พบกับทุ่งแสงตะวัน ตอน กาแฟมูเซอ บอกเล่าเรื่องราวโดย เด็กชายจะหมอแห่งหมู่บ้านห้วยปลาหลด เสาร์ที่ 25 ก.พ.นี้ ทางช่อง 3 ช่อง 33 และช่อง 13 family เวลา 06.20 น.

ที่มา :  คอลัมน์ สดจากเยาวชน : มูเซอคอฟฟี่ กาแฟรักป่า