ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้งของทุกปี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ถึงแม้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.นครพนม จะประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในการเกษตร ทำให้หลายพื้นที่ต่างพากันหาอาชีพเสริม ด้วยการออกล่าของป่าขาย โดยเฉพาะอาชีพที่สร้างรายได้ดีที่สุดอาชีพหนึ่งในช่วงฤดูแล้ง คือ การออกล่าจักจั่นขาย เนื่องจากเป็นอาหารป่า ที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาด ปีไหนหายากจะมีราคาแพงตัวละ 2 -3 บาท โดยในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านจะพากันออกไปล่าจักจั่นตามวิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามป่าเต็ง ป่ารัง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งใช้วิธีนำยางไม้ไปติด หรือจะมีการออกไปส่องหาในเวลากลางคืนตามความถนัด
เช่นเดียวกันกับตลาดสดเทศบาลตำบลนาแก อ.นาแก จ.นครพนม ถือเป็นตลาดศูนย์กลางอาหารพื้นบ้าน ที่สำคัญของ จ.นครพนม ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ต่างพากันนำอาหารป่ามาวางขาย ประกอบด้วย ไข่มดแดง แมงแคง จักจั่น ผักหวาน ถือเป็นเมนูยอดฮิตที่ชาวบ้านนิยมซื้อไปปรุงเป็นเมนูเด็ด โดยเฉพาะจักจั่น ถือเป็นเมนูอาหารป่า ที่หายาก 1 ปี มีครั้งเดียว ในปีนี้มีราคาแพงตกตัวละประมาณ 2 -3 บาท เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง รวมถึงไฟป่า ทำให้จักจั่นหายาก และระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ทำให้จักจั่นจะหายาก ส่วนวงจรชีวิตจักจั่นจะมีการวางไขในช่วงหน้าฝน ตามต้นไม้ และมีการฟักเป็นตัวก่อนคลานลงไปอาศัยในพื้นดิน และมีการขึ้นมาลอกคราบบนต้นไม้ และอาศัยอยู่ในป่า มีวงจรชีวิตประมาณ 4 เดือน ตัวผู้จะสามารถส่งเสียงร้องได้ ส่วนการล่าจักจั่น ชาวบ้าน จะใช้วิธีตามล่าหาเสียงในป่า และใช้ไม้ยาวติดด้วยยางไม้ ไปติดปีกจักจั่นที่ต้องใช้ความชำนาญ และอีกวิธีคือ จะใช้วิธีการนำไฟไปส่องหาในป่าช่วงกลางคืน โดยจะดูจากคราบตัวอ่อนจักจั่นตามโคลนต้นไม้ และใช้ไฟส่องหา และเขย่าต้นไม้ให้บินมาตอมไฟ และเก็บจักจั่นไปขาย
จากการสอบถามบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารป่าในตลาดสดเทศบาล ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม ระบุว่า ในช่วงหน้าแล้ง จักจั่น จะเป็นเมนูอาหารป่าที่ทำเงินให้กับชาวบ้านได้วันละ 3,000 – 5,000 บาท แล้วแต่ความชำนาญในการหา ซึ่งจะนำมาขายให้พ่อค้า แม่ค้า ในราคาประมาณ ตัวละ 1 -2 บาท จากนั้นจะนำมาขายต่ออีก ในราคาตัวละ 2 -3 บาท ตามขนาด ส่วนใหญ่ลูกค้าจะนิยมซื้อตัวเมียของจักจั่นไปรับประทาน เพราะจะมีไข่ และมีรสชาติอร่อยกว่าจักจั่นตัวผู้ และเป็นที่นิยม ตลาดต้องการสูง หนึ่งปีมีครั้งเดียว ทำให้ทุกปี ชาวบ้านจะสามารถสร้างรายได้จากการล่าจักจั่นมาขาย จำนวนมาก ชดเชยการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ จักจั่น ยังเป็นเมนูเด็ดของแซบอีสาน ที่หากินยาก สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูอาหาร ได้ทั้ง คั่ว แกง ตำป่น ทอด ได้ตามความชอบ หากนำไปปรุงเมนูขึ้นร้านอาหาร จะมีราคาแพง ตกจานละ 300 -400 บาท แล้วแต่เมนู