ทำด้วยความรัก “สวนผักคนเมือง”

ผมเคยไปเวียดนาม แถบฮานอย-ซาปา เมื่อหลายปีก่อน และพบด้วยความประหลาดใจว่า ตามตรอกซอกเล็กซอยน้อยหน้าบ้าน ข้างบ้าน หรือริมทางสาธารณะ ไม่ว่าจะในเมืองขนาดย่อม หรือเมืองใหญ่ที่แออัดด้วยตึกรามบ้านช่องของคนเวียดนั้น มีแปลงผัก กระถางดินเผาปลูกผักสวนครัวไว้เป็นหย่อมๆ ทั่วไปหมดเลย เรียกว่าเขาใช้พื้นที่ว่างอันมีจำกัดนั้นทำเกษตรในเมืองเพื่อยังชีพเสริมได้คุ้มค่าเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ

ลักษณะทำนองนี้พบในเมืองขนาดเดียวกันของไทยบ้างเหมือนกันครับ แต่น้อยกว่ามากๆ ผมเองเกิดไม่ทันช่วงที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ กำลังเติบโต เลยเดาไม่ถูกว่า แต่ก่อนคนไทยเคยทำแบบนี้หรือเปล่า แล้วถ้าเคย มาเลิกทำไปตอนไหน เพราะเหตุใด

จะว่ามีผักซื้อจากตลาดกินเพียงพอแล้ว ก็ไม่น่าใช่ ราคาผักแพงที่ยังบ่นอุบอิบกันมานานจนถึงทุกเมื่อเชื่อวันนี้ แสดงว่าเรายังไม่เพียงพอเรื่องผักแน่ๆ

เพราะปกติเรากินผักผลไม้กันไม่มากเท่าไรหรือ อันนี้คงจะจริง ตัวเลขมาตรฐานของผักผลไม้ที่คนควรกินในปริมาณไม่ต่ำกว่า 400 กรัม ต่อวัน หรือ 44 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารทั้งหมดที่กินแต่ละวันนั้น คนในเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพฯ กินกันอยู่ที่ปริมาณเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่ถ้านี่เป็นเหตุผลของการไม่ปลูกผัก ก็นับว่าไม่ค่อยดีเท่าไรนะครับ

หรือการไม่ค่อยปลูกผักเป็นเพราะว่าเราคนไทยไม่รู้สึกว่าเรามีปัญหากับทั้งสองข้อนั้นรวมกันเอาเลย คือทั้งไม่เดือดร้อนเพราะไม่อยากกินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กับทั้งคนส่วนหนึ่งก็ยังพอมีเงินซื้อผักตลาดกิน แถมผมยังมาคิดว่า เหตุผลข้อที่ใหญ่มากๆ ในกรณีนี้ยังมีอีก ก็คือ ผู้บริโภคชาวไทยนั้นแทบไม่ตระหนักเลยว่า “ผักตลาด” นั้น มีสารพิษปนเปื้อนตกต้างมาก จนควรจะระแวดระวังถึงมหันตภัยของการซื้อผักกินกันขนาดไหน

เรียกว่า รายงานการตรวจสารพิษของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN ที่ทำกันบ่อยๆ นั้น ไม่ได้ระคายผิวผู้บริโภคชาวเมืองใหญ่ในประเทศไทยเอาเลย

อย่างไรก็ดี งานเทศกาลสวนผักคนเมือง 2017 (ครั้งที่ 4) ตอน เส้นทางอาหารเมือง ที่ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส สวนจตุจักร กรุงเทพฯ นั้น ได้เปิดช่องให้ผมเห็นคนที่ “ขอไม่ยอม” และวิถีทางออกอันหลากหลายประดามีของพวกเขา รูปธรรมอันก่อร่างขึ้นในเวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ก็คือโครงการที่ขานเรียกกันติดปากในหมู่เครือข่ายและคนนอกผู้สนใจ ว่า “สวนผักคนเมือง” มีศูนย์สำนักงาน อยู่ที่ บ้านเลขที่ 912 ซอยงามวงศ์วาน 31 ซอยย่อย 7 ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมืองนนทบุรี โทร. (02) 591-1195-6

“สวนผักคนเมือง” กำเนิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนของ สำนักงาน สสส. มีเป้าหมายเพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหาร ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ในกลุ่มคนเมืองให้เพียงพอตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยเน้นปลูกผักไม่ใช้สารเคมี สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมือง ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาสุขภาพ การบริโภค วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเมือง โดยงานเทศกาลสวนผักคนเมืองนี้จัดทุกปีเพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่แนวคิดเรื่องการปลูกผักให้กับทั้งสมาชิกโครงการและผู้สนใจทั่วไป

วิธีการของพวกเขานับว่ารวบรัดหมดจด คือปลูกผักเองในหลายลักษณะพื้นที่ ทั้งในเขตบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และด้วยความที่ฐานความสนใจ ตลอดจนรสนิยมการกินผักที่มีต่างกันไป ทำให้เครือข่ายสวนผักคนเมืองมีทั้งกลุ่มที่สนใจปลูกผักงอก เช่น ถั่วเขียว ทานตะวัน มีทั้งที่เน้นปลูกบนพื้นที่ดาดฟ้าอาคาร หรือมีคนทำโครงการ “ปันอยู่ปันกิน” พยายามจัดกิจกรรมเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มาพบกันเป็นวาระ มีโครงการ Farm to You บริการจัดส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ประมงพื้นบ้านแก่ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้า มีศูนย์อบรมบ้านสวนเรียนรู้-โครงการตะกร้าปันผัก ของ คุณพรทิพย์ เพชรโปรี ผู้เคยพัฒนาพื้นที่อู่รถเมล์เขตราษฎร์บูรณะให้สามารถปลูกผักและทำศูนย์เรียนรู้อบรมสำหรับคนทั่วไป

รวมทั้งศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ของ คุณชูเกียรติ โกแมน ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาลาดพร้าว 71 (บ้านเจ้าชายผัก) ของ คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ซึ่งมีการอบรมการทำเกษตรในเมืองแก่ผู้สนใจเป็นระยะๆ ด้วย เรียกว่าเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลยทีเดียว

ตัวอย่างที่สามารถติดต่อเข้าเยี่ยมชมได้ชนิดเห็นรูปธรรมชัดเจน ก็คือ ที่สำนักงานเขตดอนเมือง ซึ่งมีเครือข่าย 5 ชุมชน ที่เข้าร่วมทำสวนผัก สามารถจำหน่ายให้ผู้คนรอบๆ ชุมชนได้ในระดับหนึ่ง

ผมมาลองคิดเล่นๆ ในมุมมองของคนที่ไม่ได้ปลูกผักในเมือง แต่เก็บผักหญ้าข้างทางในเมืองเช่นกัน มาทำอาหารกิน ว่าในขณะที่วิถีแบบผมอาจเรียกว่า การ “เก็บของเมือง” (gathering) กลุ่มสวนผักคนเมือง ก็คือการทำ “เกษตรกรรมในเมือง” (agriculture) และถึงจะเป็นวิถีที่สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่เคยผ่านลำดับวิวัฒนาการมาแล้วเมื่อสามสี่พันปีก่อน ตลอดจนยังสืบเนื่องมีอยู่ในบางแห่งจนปัจจุบัน ทว่า การจะทำแบบนั้นได้สะดวก ก็จำต้องอยู่ในพื้นที่รอบนอกออกไป ที่ไม่ใช่บริเวณ “เมือง” ซึ่งทุกวันนี้ถูกจัดแบ่ง กำหนดนิยามให้เป็นพื้นที่เฉพาะการอยู่อาศัย ไม่ได้ถูกคิดคำนวณเผื่อให้สามารถทำการผลิตอาหารควบคู่กันไปด้วยได้

ดังนั้น วิถีท้องถิ่นทั้งสองแบบนี้จึงตกอยู่ในสภาวะ “หัวอกเดียวกัน” จำต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกสมัยใหม่ ตามปณิธานที่กลุ่มตนได้ตั้งสมาทานไว้

ถ้านิสัยคนเมืองแต่ก่อนคือ ปลูกผักกินเองในพื้นที่เล็กๆ นิสัยคนชนบทก็คงคือ การเก็บผักข้างทาง ผักตามป่าตามทุ่งกิน อย่างแรกที่ผมเห็น คือทั้งสองแบบนี้มีจิตวิญญาณการหาและการผลิตต่างกัน ชนิดของพันธุ์ผักที่เป็นเป้าหมายก็ต่างกัน ผักสวนครัวที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นผักจีนครับ ส่วนผักเก็บทั้งหมดล้วนเป็นผักป่า ผักน้ำ ผักยืนต้น ดังนั้น วิธีกิน-สำรับที่รองรับของที่ปลูกที่หามาได้ ก็ย่อมต่างกันไปด้วยแน่ๆ

เรื่องที่น่าจะเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการหาอยู่หากินแบบพึ่งตนเองในเมืองยุคปัจจุบันทั้งสองทางนี้ ผมคิดแค่ว่า เริ่มแรก เอาแค่กลุ่มปลูกผักลองคิดถึงการผสมผเส ลองเก็บผักมาชิมมากินดูบ้าง หรือก้าวข้ามมารู้จักรสชาติของ “ผักเก็บ” ที่จะเสริมความอร่อยของสำรับผักจีนสักหน่อย ส่วนพวกเก็บผัก ก็ลองคิดถึงการพกเมล็ดพันธุ์ไปหว่านปลูกทดแทนในพื้นที่ที่ตนไปอาศัยเก็บเอามาทุกเมื่อเชื่อวันดูบ้าง

แค่นี้ ก็ต่อยอดประเด็นเรื่องการปลูกผัก-เก็บผักกินในเมืองไปได้โขแล้วล่ะครับ