สิงคโปร์ : ความทุกข์ของเศรษฐี (ตอนที่ 1)

สิงคโปร์กับมาเลเซียนั้นมีความสัมพันธ์แบบตบจูบมาโดยตลอด

เริ่มตั้งแต่ทั้งสองประเทศได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อราว 60 ปีก่อน อังกฤษมัดรวมสองประเทศนี้เข้าด้วยกันแล้วโยนให้ไปอยู่ด้วยกัน (เหมือนที่จับพม่ามัดรวม อินเดียกับปากีสถานมัดรวม และอีกหลายประเทศในแอฟริกามัดรวม) ไปหาทางสร้างเป็นประเทศใหม่ขึ้นมากันเอง เรียกว่าสหพันธรัฐมลายา

ใช้เวลาสองสามปี ก็แพแตก มาเลเซียไล่ให้สิงคโปร์ไปตั้งประเทศตัวเอง ไม่ยอมให้อยู่ด้วย เพราะสิงคโปร์มีคนจีนเยอะ มาเลเซียไม่ไว้ใจ ไม่อยากให้อยู่ร่วมกับชนชาติมุสลิมของตนเอง และตอนนั้นสิงคโปร์ก็เป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากร ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นบ้านเมืองที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้ มาเลเซียไม่อยากต้องเลี้ยงดูอุ้มชูสิงคโปร์ ไม่อยากมีภาระ

วันที่มาเลเซียอัปเปหิสิงคโปร์ออกมาจากประเทศที่กำลังจะก่อร่างสร้างตัวใหม่นั้น ลีกวนยูนักการเมืองสำคัญของสิงคโปร์ ผู้นำการเจรจาก็ต้องแถลงข่าวรันทดนี้ให้คนสิงคโปร์รับรู้ เขาพูดแล้วสะอื้นติดที่ลำคอ แล้วเขาก็ร้องไห้ สิงคโปร์ทั้งประเทศหลั่งน้ำตา พวกเขาไม่มีที่ไป

ไม่มีใคร กระทั่งมาเลเซียจะรู้ว่า 40 ปีให้หลัง สิงคโปร์ภายใต้การนำของลีกวนยิว จะกลายเป็นประเทศเจริญแล้ว ที่ไม่แค่เจริญแล้วธรรมดา แต่เป็นประเทศเจริญแล้วที่จัดอันดับเป็นประเทศโลกที่หนึ่งประเทศเดียวในอาเซียน และที่หนึ่งในเอเชีย ชนะกระทั่งญี่ปุ่นและจีน รายได้ต่อหัวของประชากรสิงคโปร์เป็นรองเฉพาะอเมริกา

สิงคโปร์ไม่เคยลืมความเจ็บปวดนั้น ขณะที่มาเลเซียที่เป็นประเทสมุสลิมและถูกปกครองด้วยนักการเมืองฝ่ายขวามาโดยตลอด ก็แสดงอาการไม่แฮปปี้ที่เห็นสิงคโปร์ข้ามหน้าข้ามตาตัวเองที่เชื่อไปเองว่าเป็นพี่ใหญ่ เชื่อเอาเองว่าตัวเองเหนือกว่าสิงคโปร์ในทุกด้าน และพยายามแสดงออกถึงความเหนือนั้นในทุกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ถึงจุดอ่อนของสิงคโปร์ในความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ มาเลเซียใช้จุดนี้กดสิงคโปร์ไว้เรื่อยมา

ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจนเป็นปกติคือ ยามมาเลเซียหงุดหงิด ต้องการแสดงออกให้สิงคโปร์เห็นในความเหนือ มาเลเซียจะประชดประชันสิงคโปร์ว่าต้องพึ่งพาตัวเองทุกอย่าง น้ำดื่มก็ต้องต่อท่อจากมาเลเซีย อาหารการกินเกือบทุกอย่างต้องนำเข้าจากมาเลเซีย

วันดีคืนดี ก็ขู่จะหยุดส่งน้ำดื่ม หยุดส่งอาหารให้สิงคโปร์ ทั้งที่เขาก็จ่ายเงินซื้อ ไม่ได้กินฟรี และที่จริงบุญแค่ไหนแล้วที่เขาซื้อจากตัวเอง ซึ่งอยู่ไปอยู่มาดันกลายเป็นประเทศยากจนกว่าเขา ต้องอาศัยรายได้จากการส่งออกไปประเทศเขา

เรื่องพูดให้ตัวเองดูดีนี่มันมีในหลายประเทศนะ แถวบ้านเรานี่ก็ไม่เบา

สิงคโปร์อดทนเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ความเจ็บช้ำเหล่านี้ก็แปรเปลี่ยนเป็นพลัง เริ่มจากโรงงานผลิตน้ำดื่มของชาติ ที่ใช้วิธีกลั่นน้ำเค็มเป็นน้ำดื่ม ทำสำเร็จและทำให้สิงคโปร์เป็นไทจากการกดขี่เดิมๆ เสียได้

ใครเคยใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ จะทราบว่าคนสิงคโปร์ประหยัดน้ำประหยัดไฟขนาดไหน เรื่องเปิดก๊อกน้ำทิ้งคนสิงคโปร์ทำไม่เป็น เขาใช้อย่างประหยัดทั้งที่เขามีเงิน มันมาจากจิตสำนึกของคนที่ครั้งหนึ่งแค่จะยกแก้วน้ำดื่มก็มีคนยืนเท้าสะเอวลำเลิกบุญคุณ และขู่จะยึดแก้วน้ำนั้น

และด้วยความกดดันนั้น นอกจากน้ำดื่มแล้ว สิงคโปร์ซึ่งมีพื้นที่เท่าเกาะภูเก็ต แทบจะไม่มีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกใดๆ ก็ประกาศนโยบายชาติว่าจะต้องผลิตอาหารเองให้ได้ และจะต้องมีอาหารสำรองของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการนำเข้าได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เรียกว่าใครจะมาขู่กันอีกไม่ได้อีกต่อไป

แต่สิงคโปร์จะทำอย่างไร มีพื้นที่เท่ากระแบะมือ จะหาอาหารเลี้ยงประชากรกว่า 5 ล้านคนได้โดยไม่ต้องพึ่งใครเลยเป็นเวลา 3 เดือน?

เมื่อไม่มีพื้นที่ แต่มีทุนเยอะ สิ่งที่สิงคโปร์เน้นพัฒนาคืออาหารที่มาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่เน้นใช้พื้นที่ เช่น เนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแล็บ (ไม่ใช่เนื้อเทียม เป็นเนื้อจริงที่เพาะจากเซลล์ของสัตว์เหล่านั้นจริงๆ) นี่เขามีขายในท้องตลาดมาหลายปีแล้ว ฟาร์มกุ้งในทะเลเขามีมากนั้นไม่แปลก เพราะเขาเป็นเกาะ แต่เขามีฟาร์มกุ้งน้ำจืดที่เลี้ยงบนอาคาร ฟาร์มปลาน้ำจืดก็มีบนอาคารสูง 

เขาผลิตผัก เช่น ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักชี และถั่วงอก ได้ประมาณปีละ 21,000 ตัน มีฟาร์มปลูกผักกว่า 70 แห่ง รวมพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ มีทั้งปลูกบนดิน และใช้ระบบไฮโดรโปนิก (hydroponic) แต่ละฟารม์เก็บขายได้ประมาณวันละ 500 กิโลกรัม ถึง 6 ตัน

สิงคโปร์ ยังผลิตไข่ไก่ ได้ปีละ 71 ล้านฟอง จากฟาร์มไก่ 6 แห่ง รวมพื้นที่ 560 ไร่ ปลาและกุ้ง ก็มีฟาร์มรวมประมาณ 50 ฟาร์ม เป็นฟาร์มปลาตามชายฝั่งทะเล ที่เลี้ยงปลาและกุ้งไว้เป็นอาหาร มีฟาร์มเลี้ยงปลาน้ำจืดอย่างปลาดุก ผลผลิตได้ราว ร้อยละ 8 ของการบริโภครวม ประมาณ 56,000 ตันต่อปี

สินค้าออร์แกนิกที่ผลิตในสิงคโปร์คือ ผัก โดยมีฟาร์ม 4 ฟาร์ม คือ Green Valley Farms, Fire Flies Health Farm, Green Circle และ Quan Fa Organic Farm ผลผลิตจากฟาร์มเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผักอากาศร้อนชื้น เช่น คะน้า ผักกาดฮ่องเต้ บวบ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว

คราวหน้าจะคุยต่อให้ฟังว่า เขาเอาจริงเรื่องการผลิตอาหารเองนี้ขนาดไหน