คืนกลับสู่ชีวิตเดิมๆ และทำธุรกิจแบบเอื้อเฟื้อ

“สบายจังเลยอยากมีชีวิตแบบนี้บ้าง สบายๆ ง่าย” เพื่อนกล่าวขึ้นในขณะที่นั่งลง และกล่าวต่อว่า “แต่ชีวิตง่ายๆ มันยากจังที่จะได้มา เพราะเราทำชีวิตให้ยากเสียแล้ว”

“เริ่มใหม่ได้นี่”

“มันไม่ได้แล้ว พอจะเริ่มต้นใหม่ก็รู้สึกว่ามันยาก ไม่รู้งานอยู่ที่ไหน โกดังเก็บของจะอยู่ที่ไหน”

“อ้าวตกลงมันยากหรือง่าย”

“ดูง่ายๆ แต่มันยาก หรือว่าเราไม่กล้า เอาเป็นว่าแบบชั่วคราวแล้วกันนะ อยู่จริงก็คงไม่ได้” เธอสรุป

อยากมีชีวิตง่ายๆ ชั่วคราว นี่คือช่องว่างของคนกลุ่มหนึ่งและดูเหมือนว่าเป็นกลุ่มใหญ่ด้วย และช่องว่างนี้คือช่องทางทำกินของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบ้านเงียบๆ แบบเดิมๆ เมื่อสองกลุ่มนี้มาเจอกัน ก็จะสบายไปด้วยกัน

ผู้แสวงหาที่สงบสุข เรียบง่ายแบบธรรมชาติแต่ไม่ต้องการอยู่แบบถาวร คือถ้าอยู่จริงๆ ก็คงอยู่ไม่ได้ แต่อยากไปอยู่สักพักสักช่วงหนึ่งเท่านั้น ไปเพื่อเติมพลังกับอีกผู้หนึ่ง มีบ้าน มีที่สงบเรียบง่าย มีธรรมชาติจริงๆ ใช้ชีวิตไปอย่างช้าๆ ไม่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีแค่พอติดต่อกับภายนอก

ฉันคนหนึ่งละที่อยู่ในกลุ่มผู้แสวงหาที่สงบมาตลอดโดยเฉพาะเมื่อครั้งทำงานอยู่กรุงเทพฯ เดือนหนึ่งต้องไปหาที่สงบๆ พักผ่อนครั้งหนึ่ง และต้องเป็นที่ซึ่งอิงธรรมชาติเป็นหลักและมีลักษณะเป็นบ้าน (แต่ไม่ใช่สำนักปฏิบัติธรรมนะคะ เพราะที่นั่นสงบเกินไปและอยู่ในระบบของธรรมะมากจนเกินกว่าจะปฏิบัติได้)

ฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องของการเอื้อเฟื้อของผู้คนที่จะอยู่ด้วยกันได้แบบเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งถ้ามีกลุ่มเล็กๆ แบบนี้กระจายอยู่มากๆ ผู้คนในสังคมก็จะจูงมือกันไปได้ โดยเราไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นธุรกิจแบบเอื้อเฟื้อกันต่อกันที่คนธรรมดาๆ พักได้

หลายเดือนผ่านฉันไปเชียรใหญ่ อำเภอเล็กๆ อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีแม่น้ำไหลผ่าน ถือว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีการปลูกข้าวมากที่สุด และฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าที่นั้น เพราะมีตาเป็นคนเชียรใหญ่ บ้านของตาอยู่ที่นั่นแต่ฉันไม่เคยไป การไปเชียรใหญ่ครั้งนี้จึงไม่ใช่ไปหาที่สงบร่มเย็นเพื่อพักผ่อนชั่วคราวเท่านั้น แต่ไปตามหารากเหง้าของตัวเองด้วย ไปดูบ้านของตาที่ตายไปนานแล้วก่อนที่ฉันจำความได้ จึงไม่มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับตา นอกจากเรื่องเล่าจากแม่และคนเก่าๆ ซึ่งฉันฟังแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่รู้สึกภาคภูมิใจอยู่บ้าง ในส่วนที่คล้ายกันหรือเมื่อใครบอกว่าเป็นหลานตา เพราะตาเป็นนักอ่านสมัยนั้น เรียกว่า คนสวดหนังสือ คือการหนังสือในวัดให้คนอื่นๆ ฟัง

ลุงคนหนึ่งเล่าว่า ตาสวดหนังสือเพราะมาก ฉันยังเด็กจึงไม่ได้ถามต่อว่าสวดอะไร คิดว่าน่าจะสวดหนังสือเรื่องพระอภัยมณี รามเกียรติ์อะไรพวกนั้น จึงไม่แปลกที่ฉันจะเกิดมาเป็นนักอ่าน นักเขียน ฉันยังเหมือนพ่อเฒ่าอีกอย่างหนึ่งคือเป็นนักเดินทาง พ่อเฒ่าฉันเดินทางมาจากเชียรใหญ่ถึงท่าศาลา เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว (ฉันเทียบกับอายุแม่ 96 พ่อเฒ่าฉันคงออกเดินทางเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วในช่วงวัยหนุ่มกว่าจะมาเจอแม่เฒ่า กว่าจะมีลูกเป็นแม่)

การเดินทางอย่างกันดารไม่ได้สะดวกสบายอย่างนี้ ต้องใช้เวลา พ่อเฒ่าฉันมาแสวงหาดินแดนใหม่พบคนรักและสร้างครอบครัว ฉันจึงเป็นหลานพ่อเฒ่าเป็นนักเดินทางคนหนึ่ง และการเดินทางครั้งสำคัญของฉันคือมาเชียรใหญ่ เป็นเรื่องตลกที่ฉันไปมาหลายทีแต่ไม่เคยหยุดลงที่เชียรใหญ่ ซึ่งไม่ไกลเลยสำหรับยุคสมัยนี้

และเชื่อไหมว่า การเดินทางมาเจอรากเหง้าที่ริมแม่น้ำที่เชียรใหญ่นี้มาจากการอ่านเขียนด้วย ฉันจะเล่าให้ฟังนิดหนึ่งนะคะ

นักอ่านคนหนึ่ง เป็นคนน่ารักมาก เราได้คุยกันทางออนไลน์หลายครั้ง วันหนึ่งเราคุยกันเรื่องขนมลาในช่วงเทศกาลเดือนสิบ เธอบอกว่า บ้านเธอมีการทำขนมลาแบบโบราณ ฉันสนใจที่จะทำสารคดีเรื่องขนมลาแบบโบราณ ในวันที่ฉันเดินทางจากเชียงใหม่เพื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน เรานัดหมายการเดินทางไปเชียรใหญ่กัน และเธอนั่นแหละที่ทำให้ฉันได้ไปที่นั่น นอกจากได้ไปดูการทำขนมลาแบบเดิมแล้ว ยังได้ไปบ้านของพ่อเฒ่า ที่ยังมีร่องรอยอยู่ด้วย

“พ่อเฒ่าฉันเกิดในพื้นที่ที่ดีขนาดนี้เชียวหรือ มีคนเล่าว่า พ่อเฒ่าฉันเป็นคนจิตใจดีมาก แกไม่โกรธใคร ถ้าใครโกรธแกจะยิ่งดีกับคนนั้นมากขึ้น”

และนี่แหละคือส่วนที่ฉันต่างดีกับคนที่โกรธเกลียดเราได้ด้วย ซึ่งฉันทำไม่ได้แน่

บ้านนี้ชื่อว่า บ้านยายโฮมสเตย์

“ที่ตรงนี้เป็นบ้านพ่อเฒ่าของพี่” ญาติผู้น้องที่เป็นเจ้าของมรดกบอกฉัน ฉันเดินเข้าไปใกล้ๆ เอามือลูบต้นไม้ที่อยู่บนผืนดินที่เป็นบ้านพ่อเฒ่า ฉันจิตนาการว่าที่ตรงนี้เป็นบ้านไม้เล็กๆ มีบันไดขึ้นมา สะอาด น่าอยู่

แม่น้ำที่ไหลผ่านยังสะอาด ลมพัดเย็นสบาย เจ้าของบ้านบอกว่า ที่นี่คงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด บ้านยายหลังเดิมยังอยู่ ท่าน้ำทำขึ้นมาใหม่ มองออกไปยังเห็นคนหาปลาอยู่ไกลๆ

เดินเล่นริมน้ำดูต้นไม้ใบหญ้า เจ้าของบ้านชอบต้นไม้ เธอบอกว่าไปกับน้ำเยอะแล้วในช่วงน้ำท่วม แต่ที่นี่อยู่กับน้ำมายาวนาน พวกเขาจึงไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรมากกับน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำลด ไปตามวิถีธรรมชาติ ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติชีวิตก็อยู่ได้ไม่ต้องไปเอาชนะธรรมชาติให้เดือดร้อนเพิ่มขึ้น

“ต้นปอและดอกปอ แรกออกดอกจะเป็นสีเหลืองสด และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแล้วก็ร่วง ดอกปอที่อยู่บนต้นจะมีทั้งสีเหลืองและสีส้ม แต่ดอกปอที่ร่วงจากต้นแล้วจะเห็นแต่สีส้มคะ ต้นปอพบเห็นได้ง่าย มักขึ้นอยู่ตามริมคลอง ยิ่งตอนที่ฉันเป็นเด็กดอกปอจะลอยตามลำน้ำตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลงสร้างสีสันให้กับลำน้ำ หน้าฝนช่วงน้ำท่วมชาวบ้านจะตัดกิ่งปอเพื่อเอาใบให้วัวกินแทนหญ้า”

เรื่องเล่าที่มองเห็นภาพได้เลย ดอกปอสีส้มลอยอยู่ในน้ำไปตามสายน้ำที่กระเพื่อมขึ้นลง

“คนที่มาที่นี่จะนอนมุ้ง ไม่ต้องปิดประตูก็ได้ บางคนเลือกที่จะนอนที่ศาลา ที่นี่ไม่มีแอร์ รับลมธรรมชาติ เย็นสบายเย็นตลอด” อาจารย์วิไลศรี รอดเพชร เจ้าของบอกกล่าว คืนนี้เราก็เลยนอนกางมุ้งที่บ้านหลังใหญ่ที่หันหน้ารับลมจากแม่น้ำ

ยามเช้าที่บ้านยายโฮมสเตย์

ชีวิตช้าๆ ที่บ้านยาย เริ่มหกโมงเช้า แช่เท้า ดื่มน้ำสมุนไพรแล้วตามด้วยโยคะ เป็นวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านเมื่อแขกมาพักก็ทำเผื่อแขกด้วย

มีอ่างสำหรับแช่เท้า เติมเกลือลงไป 1 ช้อนโต๊ะ เธอวางกาน้ำร้อนลงตรงกลาง หอมกรุ่นด้วยสมุนไพรหลายอย่างที่ต้มแล้ว เช่น ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบเปล้า ใบหนาด ใบพลับพลึง ตะไคร้ เกลือ แต่ไม่จำเป็นต้องครบทุกอย่างก็ได้ เอาเท่าที่มีเท่าที่หาได้ตามสะดวกก็ได้ และกะละมังใส่น้ำเย็นกับผ้าขนหนูผืนเล็ก

สูดลมหายใจแรงๆ เอากลิ่นสมุนไพรเข้าไป แล้วปล่อยลมหายใจออกทางปาก คิดในใจ ผ่อนคลาย สบายดี มีความสุข แล้วเริ่มแช่มือแช่เท้า ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช็ดแขน เช็ดขา และวางที่เข่าพร้อมเติมน้ำร้อนให้อุ่นจัดไปเรื่อยๆ จนครบเวลา 15 นาที ช่วงยามเช้าเช่นนี้ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นมา แสงสวยที่ขอบฟ้าถูกระบายขึ้นมา เริ่มต้นวันไหมที่ดีงาม ด้วยโยคะเบาๆ ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย

เมื่อถามว่าผู้คนที่มา ชอบที่นี่ไหมเธอ ตอบยิ้มๆ ขำๆ ว่า

“คนมาพักบ้านที่นี่หลายคนเริ่มจากเป็นแขกและเป็นเหมือนญาติในเวลาต่อมา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะสมกับที่นี่ บางคนก็ถูกใจ แต่บางคนก็ไม่ชอบ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่ทุกอย่างทำแบบที่เจ้าของบ้านชอบก่อนเพราะเราอยู่ทุกวัน”

“อยากให้ที่นี่เป็น แบบ Smart home stay  เคยฟังท่านทูต กษิต ภิรมย์ พูดเรื่อง smart city  ว่าในต่างประเทศเขาจะมีเมืองที่ไม่ให้ใช้รถยนต์ ใช้แต่จักรยาน ซึ่งตรงกับที่คิดไว้นานแล้วว่าวันหนึ่งที่โฮมสเตย์จะให้แขกจอดรถไว้ข้างนอก โดยเราทำที่จอดรถและคนดูแลรถไว้ให้ คิดทุกวันว่าฝันต้องเป็นจริง”

Smart City คือ เมืองที่ได้รับการออกแบบ โดยให้ความสำคัญใน 3 องค์ประกอบหลัก คือ การพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดรับกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่ถึงแม้ว่าบ้านยายโฮมสเตย์ จะยังไม่เป็นสมาร์ทโฮมสเตย์แบบที่คุณวิไลศรีฝันไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นโฮมสเตย์ที่มีเสน่ห์มากในวิถีบ้านๆ อาหารดี อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี

เอาล่ะ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มที่หาธรรมชาติแบบชั่วคราว โฮมสเตย์บ้านยายเหมาะสมยิ่งค่ะ หรือคุณเป็นกลุ่มที่มีบ้านเงียบๆ แบบเดิมๆ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สะอาด สวยงาม ก็น่าสนใจทำธุรกิจแบบเอื้อเฟื้อกัน ร่วมแลกเปลี่ยนกัน