Thai – PAN : ผลตรวจผัก ปี 2560 มหันตภัยและทางออก

ผลการตรวจวัดสารพิษกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ประจำปี พ.ศ. 2560 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai – PAN) ซึ่งได้แถลงข่าวที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพฯ ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยืนยันตัวเลขน่ากลัวกว่าที่เคยคิดกันไว้มาก

ปลายเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ Thai – PAN เก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ทั้งจากซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 3 แห่ง รวมทั้งตลาดสดค้าปลีก – ค้าส่งในเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี สงขลา และราชบุรี แหล่งละ 15 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้นถึง 150 ตัวอย่าง แบ่งเป็นผักตลาดยอดนิยม คือ กะเพรา พริกแดง คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักพื้นบ้านยอดนิยม คือใบบัวบก ชะอม ตำลึง สายบัว และผลไม้ คือองุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด

การ “เก็บตัวอย่าง” นี้ หมายถึงบันทึกรายละเอียดบนฉลาก สอบถามที่มาของสินค้า เพื่อสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับที่อ้างอิงได้ จากนั้นส่งวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษ และปีนี้ Thai – PAN ยังได้ส่งตัวอย่างเหล่านี้เพิ่มไปยังห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อตรวจหาสารกำจัดวัชพืชอีกทางหนึ่งด้วย

ผลตรวจซึ่งมีรายละเอียดมากมายจะถูกส่งกลับมาเปรียบเทียบกับค่าสารตกค้างระดับสูงสุด ที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ซึ่งปีนี้ Thai – PAN พบว่ามีสารพิษปนเปื้อนในผักตลาดสูงเกินมาตรฐานที่ว่าถึง 64% ในผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และในผลไม้ 33% ตามลำดับ เฉพาะที่มีความเสี่ยงสูงมาก คือ ถั่วฝักยาว คะน้า กะเพรา ใบบัวบก พริกแดง องุ่น และแก้วมังกร

หากพิจารณาในรายละเอียด ก็อาจเจาะจงให้น่ากลัวขึ้นไปอีกได้ว่า ในพริกแดง 10 ตัวอย่าง ได้พบสารพิษถึง 31 ชนิด, ในตัวอย่างผักคะน้าจากสงขลา  ถึงกับพบสารอันตรายต้องห้าม ซึ่งตามหลักจะต้อง “ไม่พบ” เลย, ในใบบัวบก ผักบ้านๆ ซึ่งน่าจะปลอดภัยที่สุด กลับพบว่านี่คือผักน่ากลัวที่สุดของปีนี้เลยก็ว่าได้ คือพบการตกค้างถึง 9 ใน 10 ตัวอย่าง แถมมีสารพิษตั้งแต่ 5-18 ชนิดทีเดียว

ข่าวดีเล็กน้อยก็คือ ไม่พบสารตกค้างในสายบัวและกระชายนะครับ

ส่วนหายนะของผลไม้ปีนี้ตกอยู่ที่องุ่น ทั้งที่นำเข้าจากอเมริกาและจีน พบสารพิษตกค้างถึง 18 ชนิด แก้วมังกรดีกว่าองุ่นเล็กน้อย พบเพียง 8-10 ชนิด ส่วนกล้วยหอมพบน้อยมาก

ผลไม้ที่ไม่พบสารพิษตกค้างเลย คือสับปะรด และมะพร้าวน้ำหอม

……….

แต่ความวิตกกังวลใหม่สำหรับปีนี้ ก็คือผลตรวจจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เน้นทดสอบการตกค้างของสารกำจัดวัชพืช หรือ “ยาฆ่าหญ้า” นั่นเองครับ

76 ตัวอย่างของผัก ผลไม้ ที่ส่งไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองพิษณุโลกแห่งนี้ พบว่า มียาฆ่าหญ้าตกค้างอยู่สูงถึง 55% และไม่ว่าจะเป็นพริกแดง กะเพรา คะน้า ถั่วฝักยาว ใบบัวบก ล้วนแต่พบเกินค่ามาตรฐานทั้งสิ้น โดยเฉพาะชะอมที่พบสูงเกินไปกว่าหนึ่งพันเท่า ส่วนพืชผักที่ไม่พบสารตกค้าง ก็มีสายบัว ผักหวานป่า กระชาย และใบเหลียง

สารตัวอย่างที่พบมาก คือ พาราควอต พบถึง 38 ตัวอย่าง เรียกว่าครึ่งต่อครึ่ง รองลงมาคือ ไกลโฟเซต พบ 6 ตัวอย่าง และ อะทราซีน พบ 4 ตัวอย่าง

ด้วยข้อมูลชุดนี้ ภาพคนเดินสะพายถังฉีดยาฆ่าหญ้าที่เรามักพบเห็นตามริมทางหลวง จึงน่าจะกระตุ้นเตือนอะไรเราได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผนวกรวมกับข่าวที่กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้ต่อทะเบียนการนำเข้าพาราควอตไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งสวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายฯ ที่ต้องการให้ยุติการต่อทะเบียนสารเคมีอันตรายชนิดดังกล่าวในทันที

ยังมีเรื่องที่เหนือความคาดหมายอีกเรื่องหนึ่งนะครับ นั่นก็คือ ผัก ผลไม้ ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐาน ทั้ง GAP, GMP และ Organic ซึ่งจะต้องไม่พบสารตกค้างใดๆ เลย ก็ยังคงพบในระดับเกินค่ามาตรฐานมากจนชวนตระหนก

……….

ผลการตรวจของปี 2560 นี้ นอกจากจะทำให้เราตระหนักถึงปัญหาวิกฤตยาฆ่าหญ้า ที่มักใช้กันในบ้านเราจนเป็นปกติธรรมดาแล้ว ยังทำให้เราตื่นจากมายาคติเรื่อง “ผักพื้นบ้าน” ที่มักเชื่อว่าปลอดภัยกว่าผักตลาดด้วย

กรณีนี้เข้าใจได้ไม่ยาก คือ เมื่อผู้บริโภคต้องการผักพื้นบ้านมากขึ้น ก็ย่อมมีการปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ มีการโหมใช้ปุ๋ยเคมีและสารฉีดพ่นเช่นเดียวกับผักตลาดอื่นๆ ด้วย

มายาคติที่หลอกหลอนผู้บริโภคชาวไทยอีกประการหนึ่งก็คือ มักเชื่อกันว่า ผักที่ขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้านั้นสะอาดและปลอดภัยกว่าผักตลาดสด ซึ่งการวิเคราะห์ตัวอย่างผักจากแหล่งต่างๆ ของปีนี้แล้ว พบว่าไม่เป็นความจริง

“ผักตลาด” ณ เวลานี้ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า “ผักห้างฯ” นะครับ!

ข้อมูลอันน่าวิตกกังวลเหล่านี้ นำมาซึ่งอะไรหลายๆ อย่าง ดังที่ คุณปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai – PAN บอกว่า หากมองในแง่ดี พบว่าพฤติกรรมการแอบอ้างใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ลดลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอาจอนุมานว่า มาจากผลการตรวจและรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลด้านลบเรื่องนี้ในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการกวดขันจับกุมมากขึ้นจากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือกรมวิชาการเกษตร

ขั้นตอนต่อไปก็คือ ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, กรมวิชาการเกษตร, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ร่วมดำเนินการต่อไป ทั้งการรณรงค์ และฟ้องร้องตามกระบวนการทางกฎหมาย

เนื่องจากยังพบว่ามีตัวอย่างผักที่ตรวจพบสารเคมีที่ถูกแบน – ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ซึ่งจะต้องสืบค้นต้นตอที่มากันต่อไป ว่าเล็ดรอดมาทางไหน

เหล่านี้ คือมหันตภัยที่ผู้บริโภคชาวไทยจำต้องตระหนักรู้ และเตรียมพร้อมจะเผชิญหน้าอย่างมีสติตามสมควรนะครับ

ส่วนจะมีสติอย่างไร แบบไหน คงต้องขอคุยในคราวต่อไปล่ะครับ