เกลือสินเธาว์โบราณ ที่ “บ่อกระถิน” แหล่งทำเกลือสินเธาว์แบบพื้นบ้านสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ปลายปีที่แล้ว ผมปั่นจักรยานทัวร์ริ่งไปเที่ยวภาคอีสานนานกว่าสัปดาห์ เริ่มจากอำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่หนองคาย ปั่นช้าๆ แวะเที่ยวหลายแห่งตามเส้นทางเล็กๆ และแห่งหนึ่งที่ตั้งใจไปมากๆ ก็คือบ่อกระถิน ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ ขอนแก่น แหล่งทำเกลือสินเธาว์แบบพื้นบ้านสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ผมเคยไปบ่อกระถินเมื่อ พ.ศ. 2535 ตอนที่ทำงานอยู่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ กับคณะสำรวจซึ่งนำโดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มันก็เกือบ 30 ปีแล้วนะครับ ที่ได้รู้ว่า ใต้พื้นดินภาคอีสานมีแหล่งเกลือมากมาย ซึ่งบรรพบุรุษชาวอีสานก็อาศัยเกลือสินเธาว์ที่ต้องทำด้วยความยากลำบากนี้เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนที่นำความมั่งคั่งมาสู่ชุมชนบ้านเมืองตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานร่องรอยการทำเกลือ ต้มเกลือแบบโบราณอยู่ทั้งในเขตลุ่มน้ำมูล ที่บ่อพันขัน อำเภอสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด และลุ่มน้ำชี ที่บ้านบ่อกระถิน อำเภอบ้านไผ่ ขอนแก่น เป็นอาทิ

จำได้ว่า บ่อกระถินในช่วงต้นปี พ.ศ. 2535 ปรากฏแก่สายตาเป็นลานกว้าง สีขาวโพลนของคราบเกลือจับผิวดินไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา เนื้อที่ประมาณกว่า 500 ไร่ เห็นชาวบ้านตั้งเตาต้มเกลือกันเป็นหย่อมๆ ตามพื้นผิวดินที่เป็นชายเนินเล็กๆ พบเศษภาชนะดินเผาแตกหักกระจายทั่วไป เศษหม้อเหล่านี้คือร่องรอยการทำเกลือตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปีมาแล้ว สืบมาจนถึงราวศตวรรษก่อน ที่ชาวบ้านยังบรรจุเกลือลงในภาชนะดินเผาขนาดย่อมเพื่อส่งขายกันอยู่

นักโบราณคดีเชื่อว่า บ่อกระถินเป็นเครือข่ายชุมชนทำเกลือสินเธาว์ขนาดใหญ่มาก เพราะทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ คือบ้านเมืองเพีย ซึ่งพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานไม่ต่ำกว่าสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12 มีการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) แบบที่พบมากในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อีกทั้งไม่ไกลจากบ่อกระถินนัก ยังมีพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โนนฟ้าระงึม” มีการปักเสมาแบบทวารวดีเป็นวงกลมล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางพิธีกรรมด้วย

อุตสาหกรรมเกลือโบราณของบ้านบ่อกระถินคงสืบเนื่องต่อมายาวนาน เพราะว่าในสมัยหลังลงมาก็ยังพบหลักฐานการตั้งชุมชนต่อเนื่องมาตลอด เช่นที่วัดสนวนวารีพัฒนาราม ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเพียงกิโลเมตรเศษ ซึ่งมีสิม (โบสถ์แบบลาว) โบราณที่เขียนภาพผนังปูนด้านนอกด้านในเป็นเรื่อง “สินไซ” นิทานพื้นบ้านอีสานไว้อย่างมีเอกลักษณ์

ส่วนบ่อกระถินในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผมปั่นไปถึง หลังจากแวะถ่ายรูปการผจญภัยของสินไซบนผนังวัดสนวนวารีพัฒนารามแล้ว มีคราบเกลือขาวๆ ไม่มากนัก ยังไม่มีใครตั้งเตาต้มเกลือ ชาวบ้านบอกว่า ปีนี้ฝนมาก ดินเกลือขึ้นช้า ต้องรอให้แล้งกว่านี้อีกหน่อยถึงจะทำเกลือได้

……

สองเดือนให้หลัง หนึ่งในสมาชิกที่ปั่นไปด้วยกัน คือ คุณแก้วตา ธัมอิน ได้กลับไปเยือนบ่อกระถินอีกครั้ง และพบว่าผืนดินขาวโพลนเป็นลานกว้างเหมือนที่ผมเคยเห็นเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน

มหกรรมต้มเกลือที่บ่อกระถินเริ่มในเดือนมกราคมถึงราวเดือนเมษายน ใครจะทำเกลือก็มาเลือกพื้นที่ที่มี “ดินเอียด” คราบเกลือที่ผิวดินมากๆ ช่วยกันขูดมากองรวมไว้ รอจนแห้งสนิทดี ระหว่างนั้นก็ตัดฟืนมาเตรียมไว้มากๆ ก่อแนวคันดินเป็นแอ่งลำรางสั้นๆ เพื่อพักกรองน้ำเกลือ เจาะรูน้ำไหลออก ปูรองพื้นด้วยหญ้า ฟาง เอาดินเอียดใส่ เทน้ำตามให้เกลือละลายซึมแทรกกรองสิ่งสกปรกผ่านชั้นฟางหญ้า ไหลออกทางรูลงในบ่อพัก ทำแบบนี้ซ้ำๆ กันจนได้น้ำเกลือเข้มข้นเพียงพอแล้วก็ตักไปต้ม เคี่ยว ในกระบะสังกะสีบนเตาฟืนขุดตบแต่งด้วยดินเหนียว จนแห้งเป็นเม็ดเกลือขาวละเอียด

ปัจจุบัน คนมาทำเกลือที่บ่อกระถินน้อยลงมาก ส่วนใหญ่ทำเอาไว้ใช้เอง แลกข้าว หรือขายในหมู่บ้านใกล้เคียง อัตราการต้มด้วยเตากระบะสังกะสีคู่ขนาดเล็ก 1 วัน อาจได้เกลือราว 3 กระสอบปุ๋ยขนาดใหญ่ ต่อช่วงเวลาการผลิต 3 เดือนเศษจึงจะได้ประมาณ 100 กระสอบ ราคาขาย 1 ถัง (18 ลิตร) อยู่ที่ 150 บาท เท่านั้น

ไม่แน่นักว่า คราบดินเอียดสีขาวหม่นบนผิวดินร่วนสีคล้ำ ที่ผ่านการปลุกปล้ำด้วยน้ำมือมนุษย์ให้หมุนเวียนเป็นเกลือสินเธาว์เม็ดเล็กละเอียด ขาวสะอาด ปีแล้วปีเล่า เนิ่นนานนับพันปีนี้ อาจยุติลงได้ในไม่ช้า ทั้งเพราะถูกเกลือสูบตากแบบโรงงานใหญ่ตีตลาดในราคาถูกกว่า ทั้งการขนส่งเกลือทะเลมาจากสมุทรสาครทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น และทั้งจากอาการละเลยในรสของลิ้นคนกินในช่วงหลังๆ

…….

เช่นเดียวกับวัตถุปรุงรสอื่นๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส ฯลฯ เกลือแต่ละแห่งมี “รสชาติ” เฉพาะของตัวเอง ขึ้นอยู่กับธาตุที่สารประกอบเกลือนั้นแฝงฝังตัวอยู่ ไม่ว่าจะดิน น้ำ ความร้อน และสภาพอากาศ ตลอดจนขั้นตอน กระบวนการผลิต
เกลือโบราณอย่างบ่อกระถิน ที่ความเค็มใต้ดินได้ส่งผ่านเนื้อดินขึ้นมายังพื้นผิว ให้มนุษย์ขูดเอาไปละลายน้ำ กรอง ต้ม เคี่ยว จนกลายเป็นเกลืออีกครั้งหนึ่ง ย่อมมีความซับซ้อนอันส่งผลถึงรสชาติที่ลุ่มลึก ต่างจากการสูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มโดยตรง อย่างเช่น นาเกลือแถบบ้านดุง อุดรธานี หรือพิมาย นครราชสีมา แน่ๆ

ผมรู้สึกว่าเกลือบ่อกระถินนั้นเม็ดเล็กละเอียด นุ่มนวล แถมรสชาติ “นัว” มากๆ เลยครับ เรียกว่าตอนนี้ผมเห่อเกลือบ่อกระถินแบบสุดๆ เสียดายที่ว่าเขาไม่ได้วางขายทั่วไป ทั้งยังทำในปริมาณไม่มากนักแล้วด้วย จึงได้แต่บอกกล่าวไว้ว่า หากใครอยากได้มาไว้ในครัว คงต้องแวะเวียนเข้าไปถามซื้อหาเอาที่แหล่งเลยทีเดียว หรือลองถามคนพื้นที่ดูก่อนก็ได้ครับ ว่าช่วงนั้นๆ จะยังพอมีเกลือขายกันอยู่ไหม โทร.ถามที่ คุณจารุนันท์ ชำนาญมะเริง โทรศัพท์ (064) 157-6708 ก็ได้ครับ

อาหารนั้นเป็นของแปลก ถ้าไม่กิน จะค่อยๆ หมดไป แต่ถ้ามีคนนิยมกินอยู่เสมอ ก็จะกลับมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน ไม่สิ้นสุดง่ายๆ

ช่วยกันต่อชีพจรเกลือโบราณ ด้วยการ “กิน” เกลือสินเธาว์อร่อยๆ ที่บ่อกระถินกันเถอะครับ…