ส้มป่อย พืชในพิธีกรรม เป็นผักปรุงรสอาหารได้

ปัจจัยที่ใช้กับพิธีกรรมต่างๆ รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ งานมงคล อวมงคลต่างๆ ขันน้ำมนต์ คนเป็นหมอครูจะใช้ “ฝักส้มป่อยแห้ง” ย่างไฟให้หอม ใส่ขันน้ำมนต์ ใบหญ้าคาผูกมัดพอกำเป็นอุปกรณ์ ชุบสะบัดโปรยหยาดหยดเม็ดน้ำมนต์สู่ชาวชนและสถานที่ แม้แต่ผีในโลงยังได้รับอานิสงส์ส่งสู่สุคติ ทุกวันนี้ “ส้มป่อย” เริ่มหายไป คนเคยเด็ดยอดใบก้านแดงเขียว เติมความเปรี้ยวกับต้มส้มปลากด ปลาแค้ ซดฮวบโฮก ซาบซ่านตั้งแต่ปลายลิ้นยันปลายไส้สุด

หลายคนไม่รู้จัก และอีกหลายๆ คนอยากรู้จัก “ส้มป่อย” เป็นพืชเก่า มีเล่าขานในนิทานนิยายปรัมปรา คล้ายว่าในเรื่องผีๆ ที่มีคนสรรค์แต่งขึ้นมาหลายต่อหลายบทตอน เช่น หมอผีทำพิธีไล่ผี หมอพื้นบ้านใช้ทำเป็นน้ำมนต์อาบสะเดาะเคราะห์คนป่วยไข้ คนไทยหลายเผ่าใช้เป็นปัจจัยในการขจัดปัดเป่าเคราะห์กรรมอัปมงคล ดูเหมือนว่าจะใช้รักษาโรคซึมเศร้า ความโชคร้าย ดวงตกต่ำ และอีกสารพัดประโยชน์ เด็กรุ่นหลังมองหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความสงสัยว่าที่พูดถึงส้มป่อยอยู่นี้ มันเป็นอย่างไร

“ส้มป่อย” เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่ม ลักษณะลำต้นเลื้อยหาที่ยึดเกาะขึ้นไปตามกิ่งไม้ แต่ไม่มีมือจับ เถาของส้มป่อยจะแข็งแรงมาก สามารถเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นได้สูงถึง 6-7 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล เถาอ่อนสีน้ำตาลแดงมีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่มอยู่ทั่วต้นกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นๆ อยู่ทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกคล้ายใบกระถิน ใบชะอม ดอกออกเป็นช่อกระจุกทรงกลมออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบข้างลำต้น มีขนนุ่มหนาแน่น มีขนาดเล็กอัดแน่นเป็นแกน กลีบดอกสีขาวนวลเป็นหลอด ออกดอกช่วงหน้าแล้ง มกราคมถึงพฤษภาคม ผลส้มป่อยเป็นฝักแบนยาว เป็นลอนคลื่น เป็นข้อๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหนามแหลม สันฝักหนา ผิวขรุขระย่นเมื่อแห้ง ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ แต่ละฝักมี 5-12 เมล็ด เมล็ดแบนรี สีดำผิวมัน จะติดฝักช่วงหน้าฝนประมาณพฤษภาคมถึงตุลาคม

การขยายพันธุ์ส่วนใหญ่จะได้จากต้นที่เพาะเมล็ด ฝักส้มป่อยแห้งจะมีเมล็ดอยู่ข้างใน เมื่อมาปิ้งไฟ และแช่น้ำมนต์ เมื่อใช้ประโยชน์จากน้ำมนต์แล้วก็จะทิ้งกากฝักและเมล็ดไว้ จะเจริญงอกขึ้นมาหรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจะง่ายกว่า แต่ถ้าจะตัดกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ไปชำก็ได้ จะตอนกิ่งก็ได้ เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิดที่ระบายน้ำดี ความชื้นปานกลาง แสงแดดมากๆ มักพบในป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา ที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี

 

ส้มป่อยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acacia Concinna อยู่ในวงศ์ Leguminosae วงศ์ย่อย Minosaceae มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น หมากขอน หม่าหัน ส้มพอดี (อีสาน) ส้มคอน (ไทยใหญ่) ส้มขอน (เงี้ยว) พิจือสะ พิอีสะ ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง) เผละป่อย เมียงโกร๊ะ ไม้ส้มป่อย (ลัวะ) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าชื่อเรียกต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเหนือกับอีสาน ไม่ว่าชาวราบ หรือชาวดอยรู้จักเรียกขานเรียกหาเรียกใช้กัน

ฝักส้มป่อย คนเก่าแก่ใช้สระผม เพราะเมื่อเอาฝักมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง มีสรรพคุณทำให้ผมเงางามสลวย มีสารกลุ่ม Zaponin เช่น อะคาชินิน สูงถึง 20% เป็นสารแชมพูธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยรักษารังแค ผมหงอกก่อนวัย ซึ่งเมื่อตีส้มป่อยกับน้ำ สารซาโพนินจะแตกฟองที่คงทนมาก ช่วยการชำระล้างได้ดี ไม่ทำลายธรรมชาติของผมและหนังศีรษะ ใช้อาบน้ำทำให้ร่างกายสะอาดปราศจากคราบไคล ช่วยให้สดชื่น แก้ผดผื่นคัน และโรคผิวหนังหลายชนิด

ส้มป่อย เป็นสมุนไพรที่สารพัดสรรพคุณ ใบและฝักใช้เป็นส่วนประกอบของยาที่มีรสเปรี้ยว ช่วยซับเหงื่อ ขจัดสิ่งสกปรกจากร่างกาย เป็นยาประคบลูกประคบแก้ปวดเมื่อย น้ำต้มใบส้มป่อยเป็นยาสตรีถ่ายระดูขาว ฟอกเลือดประจำเดือน ล้างเมือกทางเดินอาหาร เป็นยาระบาย ขจัดพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ช่วยละลายเสมหะ แก้ไอได้ดี แก้ไข้ รักษาโรคลำไส้ แก้ท้องอืด บิด รักษาโรคตาแดง ต่อมน้ำตาพิการ พอกฝีให้แตกยุบเร็ว บดเมล็ดคั่วพ่นจมูกทำให้จาม รักษาริดสีดวงจมูก แก้น้ำลายเหนียว รักษาโรคตับ สระผมแก้อาการคันศีรษะขจัดรังแค

แกงส้มปลาดุก ใส่ก้านตูน หรือคูนกับยอดส้มป่อยสุดยอด ต้มส้มปลากดแม่น้ำ แกงเขียด ต้มยำกบ สำรับกับข้าววันนี้ มีส่วนผสมของสมุนไพรที่เป็นสุดยอดสมุนไพรและนับวันจะหายากเข้าไปทุกที

โอม…ส้มป่อย พืชในพิธีกรรมและเป็นผักปรุงรสอาหาร ตอนนี้กำลังจะสูญหายไปโดยทิ้งไว้ในชื่อ “ส้มป่อย”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561