ของใช้ชาวบ้าน : คราดหอยตลับ เครื่องมือทำมาหากิน ของคนเก็บหอย

หอยตลับ มีชุกชุมในอ่าว ก. ไก่ ชาวอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ไม่น้อยยึดอาชีพหาหอยตลับขาย

หอยตลับ เรียกชื่อต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น หอยหวาน หอยตลับลาย หอยตลับขาว ลักษณะของหอยตลับ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า รูปเหมือนตลับ เปลือกสีลาย พื้นสีขาว หน้าตาสวยงามไม่น้อย นำไปประกอบอาหารก็อร่อยไม่เบา

แต่ก่อนจะได้กินหอยตลับต้องเลี้ยง หรือไม่ก็ออกหาตามโคลนเลนริมทะเลก่อน

ริมทะเลที่มีหอยตลับ เช่น ริมทะเลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตราด ชลบุรี ชุมพร เพชรบุรี ระยอง สมุทรสงคราม และจันทบุรี เป็นต้น

อาชีพหาหอยตลับต้องมีเครื่องมือ เรียกว่า คราดหอยตลับ รูปทรงคล้ายคราดของชาวบ้าน แต่รายละเอียดต่างกัน ด้ามมีทั้งสั้นและยาว ตัวคราดไม่ได้เป็นเงี่ยงเหมือนคราดทั่วไป แต่มีแผ่นโลหะคล้ายๆ ใบมีด สำหรับใช้ครูดแทน

เครื่องมือของใช้ใดๆ ก็ตาม ย่อมตอบสนองต่องาน การคิดค้นเครื่องมือมาใช้ ล้วนมีความประสงค์เพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น อย่างมนุษย์เราเมื่อหลายพันปีมาแล้ว คิดทำล้อเลื่อนได้

แรกๆ คนที่คิดทำล้อเลื่อนได้นั้น ท่านคงไม่ได้นึกหรอกว่า จะต้องมาเป็นรถหรู ราคาแพง และคงยังคิดไม่ออกว่า ล้อเลื่อนที่ทำด้วยไม้ เพื่อใช้บรรทุกพืชผลการเกษตรหรือบรรทุกของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น จะกลายมาเป็นนวัตกรรมยิ่งใหญ่ สามารถเชื่อมโลกให้เข้าหากันได้อย่างทุกวันนี้

เครื่องมือคราดหอยตลับ ทำมาจากเหล็กหรือไม่ก็อะลูมิเนียม ด้านหน้ามีเหล็กยื่นออกมา ลักษณะคล้ายไม้บรรทัด ไว้สำหรับครูดโคลนเลน ตัวครูดจะยื่นออกมาจากตัวคราด ประมาณ 4 นิ้ว ส่วนด้านหลังที่ตัวคราดยื่นออกมา มีความกว้างเท่ากัน และมีด้ามเชื่อมต่อสำหรับจับถือ ด้ามนี้มีสองขนาดคือ ขนาดยาวสำหรับเดินครูดหา และขนาดสั้นสำหรับนั่งยองๆ ครูดหา

การใช้งาน เราชาวบ้านเดินลงไปบริเวณโคลนเลนที่มีหอยตลับอยู่ เมื่อถึงถิ่นฐานแล้ว เราก็ใช้คราดครูดไปตามโคลนเลน ลักษณะการครูด เราดึงคราดเข้ามาหาตัว ทำไปเรื่อยๆ ไม่นานหอยตลับที่แฝงตัวอยู่ในโคลนเลนก็จะโผล่ออกมา คราวนี้เราก็จับตามอัธยาศัย

ชาวบ้านจับหอยตลับกันตอนไหน คำตอบคือ เมื่อน้ำทะเลลง ไม่ใช่ “น้ำลง น้ำลงเมื่อเดือนยี่ น้ำแห้งปีนี้…” อย่างเนื้อเพลงลูกทุ่ง แต่เป็นน้ำทะเลลงตามธรรมชาติในแต่ละวัน เมื่อน้ำทะเลขึ้นมา ประดากุ้ง หอย ปู ปลา ก็จะออกมาหากินตามริมฝั่ง เมื่อน้ำลดระดับลง บรรดาปลาเล็กปลาน้อยก็ว่ายลงทะเลตามน้ำไป แต่หอยไม่ได้ตามปลาลงไปด้วย คุณหอยเธอคุดอยู่ในโคลนเลน เพื่อรอให้น้ำทะเลขึ้นมาใหม่ จะได้ออกหากิน

แต่อนิจจา กว่าน้ำทะเลจะขึ้นมา เราชาวบ้านก็พากันคว้า คราดหอยตลับ ออกไปเดินตามโคลนเลน แล้วครูดหาเอามาประกอบอาหารกันอร่อยปาก ส่วนมืออาชีพก็หาเอาไปขาย

หอยตลับจะอยู่ในโคลนเลน มันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้รอให้เราจับ แต่มันอยู่และหากินตามประสาของมัน

ชาวอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และบางอำเภอในจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากหาหอยตลับขายแล้ว บางครอบครัวยังยึดอาชีพเลี้ยงหอยตลับด้วย การเลี้ยงหอยตลับของชาวบ้าน ดูเหมือนไม่ต้องลงทุนมาก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่น้อยเหมือนกัน

การลงหอยแต่ละครั้ง ไหนจะค่าพันธุ์ ค่าอาหาร ค่าเสียเวลาไปดูแล และอื่นๆ ตามมาอีกไม่น้อย บางคราวโชคไม่ดีหอยเป็นโรคขึ้นมา ทุนที่ลงไปก็อันตรธาน

การเลี้ยงหอยตลับ ต้องหาพันธุ์ตัวเล็กๆ มาก่อน จากนั้นหาที่เลี้ยง ก็ไม่ต้องอื่นไกล ทะเลไทยของเรานั่นเอง หย่อมย่านที่เพาะเลี้ยงได้สังเกตง่ายๆ ก็คือ แหล่งที่มีหอยตลับอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เพราะสภาพน้ำ ดิน ฟ้า อากาศเหมาะสม

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จังหวัดที่เลี้ยงหอยตลับเป็นจังหวัดในชายทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอ่าวไทย หรือบริเวณที่นักวิชาการไทยเรียกว่า อ่าว ก. ไก่ นั่นเอง

กว่าจะได้กินหอยหวาน ถ้าเราไม่เลี้ยงหอยเอง ก็ต้องใช้คราดหอยหามาปรุงอาหาร ชีวิตคนเราถ้าไม่เกิดมาบนกองเงินกองทอง ไม่ทำหรือจะมีกิน