นักรบสายรุ้ง

เรือลำใหญ่ลอยนิ่งอยู่กลางทะเล ขณะที่เรือหัวโทงของชาวประมงพื้นบ้านกำลังฝ่าคลื่นเข้าไปใกล้ ฉันนั่งอยู่ในเรือลำใดลำหนึ่งในหลายลำเพื่อจะไปให้ถึงเรือใหญ่ลำนั้น แน่ละถ้าเป็นเรือรบหรือเรือพาณิชย์ทั่วไปสำราญทั่วไปคงไม่น่าตื่นเต้นเท่าใด แต่นี่คือ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) หรือนักรบสายรุ้งของกรีนพีซ ฮีโร่ของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม

เรือประมงพื้นบ้านกำลังลอยลำรอบเรือนักรบสายรุ้ง

ในหมู่ผู้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ย่อมคุ้นเคยกับกรีนพีซ องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไล ที่ทำงานรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสขึ้นทุกที พวกเขามีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า เรนโบว์ วอร์ริเออร์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญ ซึ่งจะเดินเรือไปในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการเผชิญหน้าเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้

เพื่อเป็นประจักษ์พยานและหยุดถ่านหินก่อมลพิษต่อทะเลและสิ่งแวดล้อม

กรีนพีซ เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2514 จากกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ เมืองแวนคูเวอร์ ด้วยแนวคิดเรื่องโลกสีเขียวที่สันติสุข พวกเขาเริ่มจากเรือหาปลาเก่าๆ ล่องไป ด้วยความเชื่อว่าคนไม่กี่คนก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ภารกิจในเวลานั้นคือ “เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ” ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในงานครั้งนั้นจุดประกายความสนใจให้ผู้คนได้ระดับหนึ่ง

พวกเขาทำงานเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างเข้มข้น จนทุกวันนี้กรีนพีซมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม มีผู้สนับสนุนนับล้านคนทั่วโลก และมีสำนักงานประจำประเทศและภูมิภาคใน 43 ประเทศ รวมทั้งเปิดสำนักงานในเอเชียอาคเนย์อีกด้วย

จากเรือหาปลาเก่าๆ กรีนพีซ มีเรือเดินสมุทรลำใหญ่ใช้ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เรือสายรุ้งลำแรกเป็นเรือประมงสัญชาติสกอตแลนด์ ชื่อ “Sir William Hardy” ต่อขึ้นในปี ค.ศ. 1955 กรีนพีซซื้อมาปรับปรุง เปลี่ยนชื่อเป็น “Rainbow Warrior” และใช้งานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1978 จนกระทั่งจมลง

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 ที่ท่าเรือออกแลนด์ นิวซีแลนด์ จากการก่อวินาศกรรมโดยสายลับหน่วยอำนวยการความมั่นคงภายนอก (DGSE) ของฝรั่งเศส ระหว่างการเดินทางไปขัดขวางการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ที่เกาะปะการังโมรูโรอา โดยมีผู้เสียชีวิตไปพร้อมกับเรือ คือ ฟีร์นังดู ปือไรรา ช่างภาพชาวดัตช์

เรือนักรบสายรุ้งลำปัจจุบัน เป็นเรือใบ 3 เสา ติดเครื่องยนต์ สัญชาติดัตช์ ชื่อ “Grampian Fame” ต่อขึ้นในปี ค.ศ. 1957 กรีนพีซได้นำมาปรับปรุง และเปลี่ยนชื่อใหม่ เริ่มทำการตั้งแต่ วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1989 ในวันครบรอบ 4 ปี การอับปางของ เรนโบว์ วอร์ริเออร์ลำแรก

และเรือลำนี้เองที่มาจอดลอยลำอยู่กลางทะเลของประเทศไทย ภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” เพื่อเป็นประจักษ์พยานในการปกป้องสองฝั่งทะเลไทย เป็นอีกพลังเสียงบอกเล่าถึงเรื่องราวของการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมของประชาชนเพื่อหยุดพลังงานถ่านหิน และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืน และเป็นธรรม

ชายหาดสวนกง อำเภอจะนะ

เรือนักรบสายรุ้งมาจอดที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในระหว่าง วันที่ 16-20 พฤษภาคม 2561จังหวัดภูเก็ต ในระหว่าง วันที่ 9-12 มิถุนายน 2561 แล้วต่อไปจังหวัดกระบี่

ฉันมีโอกาสลงเรือนักรบสายรุ้งร่วมกับชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ช่วงที่เรือเรนโบว์เข้ามาจอดอยู่กลางทะเลจะนะ ระหว่างเทพากับสวนกง ชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในพื้นที่เตรียมงานกันอย่างอลังการ ภายใต้สโลแกน “เทใจให้ทะเล”

ชาวบ้านเทพาและสวนกงประกาศเจตนารมณ์ปกป้องสิ่งแวดล้อมบนเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์

งานนี้มีศิลปินเข้ามาเป็นกำลังสำคัญมิใช่น้อย โดยศิลปินในพื้นที่อ่าวตือโละปาตานี อันเป็นพื้นที่ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านแถบปัตตานีมาถึงเทพา สวนกง ได้ร่วมกันวาดภาพขนาดใหญ่ที่แสดงถึงความดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมควนป่านาเล

ส่วนพวกเราศิลปินที่เดินทางไปจากกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันเขียนภาพขนาดใหญ่ลงแผ่นกระดานสร้างสีสันให้งานบนชายหาดสวนกง และฉันได้ขึ้นไปร่วมอ่านบทกวีบนเรือก่อนการอ่านแถลงการณ์และแลกธง ด้วยความปลาบปลื้มและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

แลกธง
ภาพวาดขนาดใหญ่จากฝีมือศิลปินในพื้นที่

ช่วงขณะที่อยู่ในเรือประมงพื้นบ้านร่วมขบวนเรือกับเรือนับ 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง จังหวัดสงขลา แลเห็นเรือค่อยๆ แล่นเข้าไปใกล้เรือนักรบสายรุ้ง ความรู้สึกอิ่มเต็มและฮึกเหิมปรี่ขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูกสัมผัสถึงความร่วมมือร่วมใจของคนที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านที่ปกป้องบ้านเกิดตัวเองด้วยชีวิต ทุกคนมาจากคนละฝั่งมหาสมุทร ทว่ามาร่วมหายใจและส่งเสียงด้วยกัน กู่ก้องไปด้วยกัน

เราอาจแตกต่างแต่เราเหมือนกัน
เราต่างสูดดมลมหายใจของกันและกัน
เรามาที่นี่เพื่อหายใจในจังหวะเดียวกัน
ให้ก้องดัง ดัง ดัง ดัง ดัง และ ดังขึ้นอีก
ดังขึ้นอีก
แล้วโลกจะหยุดฟัง
เสียงหัวใจที่ปกป้องดินน้ำป่ามหาสมุทร
เดียวกัน
(ส่วนท้ายของบทกวีที่ฉันเขียน)

ถ้าหากทั้งโลกมีแนวคิดพ้องต้องกันเช่นนี้ และร่วมแรงร่วมใจกู่ก้องพ้องกัน เราคงจะหยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่หยุดสงครามได้