สีข้าวกะเหรี่ยง ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนกินข้าว

ชีวิตชาวกะเหรี่ยงอยู่กับธรรมชาติ แนบแน่นอยู่กับการใช้ชีวิตง่ายๆ ตามป่าดง

บางคนมองว่า ชาวกะเหรี่ยงมีความสุขกับธรรมชาติ ขณะที่บางคนมองว่าอยู่ท่ามกลางความขาดแคลน ต่างคนต่างก็มองกันไปตามความคิดของตน แต่ถ้าไปถามชาวกะเหรี่ยง เชื่อว่าคงไม่น้อยที่บอกว่า อยู่กับป่ากินกับป่ามีความสุขมากกว่าอยู่ในป่าคอนกรีต นี่ก็สรุปเอาเองเหมือนกัน

เมื่ออยู่กับธรรมชาติ เครื่องมือของใช้ย่อมสร้างสรรค์มาจากวัสดุธรรมชาติ จึงไม่ซับซ้อน ไม่มีขั้นตอนการสร้างมาก เนื่องจากวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์ต้องนำมาจากป่าดง ไม่ได้ซื้อหาจากข้างนอก ยกเว้นกรณีที่จำเป็นจริงๆ

สีข้าวกะเหรี่ยง เป็นเครื่องมือที่ทำมาจากไม้ วัสดุที่หาได้ในป่า เพื่อนำมาใช้สีข้าวหุงหากินกัน ตัวสีทั้งหมดทำมาจากไม้เป็นต้นๆ ต้องเลือกต้นขนาดใหญ่ด้วย

เริ่มจากฐานด้านล่าง ทำมาจากต้นไม้ทั้งต้น ตัดให้สูงประมาณ 1 ศอก ทำแกนไว้ตรงกลางยื่นเด่ไว้ ข้างๆ หยักให้เป็นเขี้ยวเล็กๆ รอบๆ ฐาน ด้านบนเจาะต้นไม้ขนาดเดียวกันให้เป็นโพรงตรงกลาง เพื่อรองรับกับแกนฐานเบื้องล่าง ทำช่องใส่เมล็ดข้าวด้านบน ส่วนด้านข้างเจาะเพื่อใส่ด้ามสีเข้าไป

ต้องการสีข้าวเมื่อใด ก็นำข้าวเปลือกใส่ด้านบน จับด้ามสีหมุนไปรอบๆ เมล็ดข้าวเปลือกก็จะถูกเขี้ยวสีด้านบนและล่างบดให้เปลือกข้าวออกจากเมล็ด เมื่อได้เมล็ดข้าวสารแล้วนำไปร่อนเพื่อแยกแกลบที่ปนอยู่ออก ส่วนข้าวสารก็เก็บไว้หุง

สีข้าวกะเหรี่ยง กลไกและวิธีการเหมือนสีข้าวของคนภาคกลาง สมัยเด็กๆ ผู้เขียนยังได้เห็นสีชาวบ้านภาคกลาง จำได้ถนัดตาว่า แต่ละบ้านมักมีสีข้าวอยู่ใต้ถุนบ้าน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะนำเอาข้าวเปลือกใส่ยุ้งไว้ คราใดที่มีเวลาว่างจากงาน ชาวบ้านก็จะนำเอาข้าวจากยุ้งมาตำคราวละถังสองถัง สมัยก่อนนั้นชาวบ้านยังไม่นิยมส่งข้าวให้โรงสี และไม่ใช่ปลูกข้าวได้เท่าไรก็ขาดข้าวออกหมด แล้วก็ไปซื้อข้าวสารมาหุงกันอย่างปัจจุบัน

การสีข้าว ตำข้าว เราชาวบ้านถ้ามีงานมากๆ กลางวันไม่ค่อยว่างก็จะสีและตำกันตอนกลางคืน โอกาสนี้เอง บ้านไหนมีสาวๆ ก็จะมีหนุ่มๆ เข้ามาช่วยตำข้าว ช่วงแรกรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน ไฉนเลยเรี่ยวแรงช่วยสาวสีข้าวตำข้าวของไอ้หนุ่มจะไม่ทุ่มเท บางคืนหนุ่มสาวตำข้าวกันดึกดื่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องไปทำงานไร่นาก็ตาม

เพลงลูกทุ่งชื่อ หนุ่มสุพรรณ เสียงร้องของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ท่อนหนึ่งร้องว่า “ถ้าข้าวสารไม่มีจะใส่สีลงไปบด ถ้าข้าวสารเอ๊ยมันหมดจะลากสากเข้าใส่ พี่จะเป็นคนตำเสียให้รำอ่อน ให้น้องรักคนร่อนคนกระทาย”

เสียงเกี้ยวสาวของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ในเนื้อเพลงบอกขั้นตอนการสีข้าวเอาไว้ได้อย่างครบครัน คือเมื่อข้าวสารไม่มี ก็ “ใส่สีลงไปบด” นั้นหมายถึง การสีข้าวแบบชาวบ้านสมัยก่อน และแบบเดียวกับกะเหรี่ยงนั่นเอง

“ถ้าข้าวสารเอ๊ยมันหมดจะลากสากเข้าใส่” ท่อนนี้หมายถึง ไอ้หนุ่มสุพรรณอาสาตำข้าวให้ว่าที่ศรีภรรยา เรียกว่าอาสาไว้ก่อน ถ้าได้แต่งแล้วไม่รู้ว่าจะทำหรือเปล่า หลังจาก “พี่เป็นคนตำเสียให้รำอ่อน ให้น้องรักคนร่อนคนกระทาย”

เพลงต้องการสื่อว่า เรื่องสีข้าว ตำข้าว งานหนักไอ้หนุ่มเสียงเหน่อสุพรรณขอทำเอง ส่วนงาน เบาๆ อย่าง “ร่อน” และ “กระทาย” ซึ่งเป็นขั้นแยกแกลบและข้าวป่นๆ ออกจากข้าวสารนั้น ให้สาวเจ้าทำไป สาวๆ สมัยก่อนฟังแล้วคงเคลิ้ม ปลื้มปริ่มไปกับไอ้หนุ่มสุพรรณ แต่สาวสมัยนี้เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยนึกภาพไม่ออกว่าเขาสีข้าว ตำข้าว ร่อนข้าว และกระทายข้าวกันอย่างไร

กะเหรี่ยงกว่าจะได้สีข้าว ตำข้าวนั้นต้องผ่านการปลูกข้าวก่อน พันธุ์ข้าวของชาวกะเหรี่ยงแปลกไปจากพันธุ์ข้าวทั่วไป เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงอยู่บนพื้นที่สูง เมื่อปลูกบนที่สูงก็ต้องเลือกพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้องการน้ำมาก เคยได้ยินว่าบางพันธุ์เรียกว่า “ข้าวน้ำค้าง” เป็นคำเรียกที่หมายถึงพันธุ์ข้าวที่ใช้น้ำน้อยมาก แค่ฝนตกลงมาพอมีน้ำให้เมล็ดข้าวงอกได้เท่านั้น หลังจากนั้นแค่น้ำค้างป่าพร่างพรมลงมา ข้าวก็สามารถเติบโต และเก็บเกี่ยวผลผลิตมาสีบริโภคได้

สีข้าวกะเหรี่ยงคือ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนกินข้าว ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ายังมีใช้กันอยู่หรือไม่