ตะไคร้กอ พืชเป็นยาข้างตัวและเครื่องแกงข้างครัวไทย

อาหารไทยมากมายหลายชนิด ส่วนประกอบของเครื่องปรุงอาหาร ที่จัดอยู่ในชุดเครื่องแกง เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่า และคุณประโยชน์มากมาย เป็นเอกลักษณ์ของอาหารที่ชาวต่างชาติได้ยินกิตติศัพท์ และเฝ้าโหยหาที่จะเข้ามาลองลิ้มชิมรส ชาวต่างประเทศชอบอาหารไทย มาเที่ยวไทย ก็ด้วยเหตุผลชอบรสชาติอาหารไทย จากเครื่องปรุงรสอาหารนั่นเอง มีนักปรุงอาหารที่นำเอาสมุนไพรมาเป็นตัวชูโรงมากมาย ยิ่งคนในยุคสมัยปัจจุบัน ที่สรรหาอาหารการกิน เพื่อสุขภาพอนามัยสำหรับตนเอง อาหารการกินในทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “ภักษาหาร” ที่กินเพื่อความอยู่รอด มีแรงทำมาหากินเท่านั้น แต่เป็นอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย ขจัดความผิดปกติของร่างกาย รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เรียกว่า อาหารเป็นยานั่นเอง

เครื่องแกง เครื่องปรุงอาหารของบ้านเราอย่างหนึ่ง ที่หาง่าย ราคาถูก ปลูกได้ง่าย ขยายได้เร็ว คือ “ตะไคร้กอ” แกงหลายชนิด อีกต้มยำหลากหลาย ขาดตะไคร้กอไป จะดูไม่ครบองค์ประกอบ ตะไคร้กอ เป็นพืชที่พ่อครัวหัวป่าก์ ตัดเอาส่วนที่เรียกว่า ต้น มาปรุงน้ำพริกแกง ใช้สดๆ ควบคู่กับเครื่องแกงอื่น มะกรูด ข่าเหลือง กระชาย ขมิ้น พริก หอม กระเทียม หม้อแกงที่เดือดพล่าน ส่งกลิ่นไอเครื่องปรุงโชยเข้าจมูก กระตุ้นต่อมน้ำลาย ให้เรียกหาข้าวปลาอาหารเข้าปากลงท้องอย่างดีเยี่ยม ให้ประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพด้วย

ตะไคร้กอ หรือตะไคร้ต้น หรือตะไคร้แกง เป็นพืชในวงศ์ Gramineae ชื่อสามัญ Lemongras,Lapine ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus.(DC.) Stapf. ชื่อเรียกแต่ละพื้นที่อีกหลากหลาย เช่น ภาคเหนือเรียก จะไคร, จักไค ภาคใต้เรียก ไคร เขมรเรียก, เชิดเกรบ, เหลอเกรย ปราจีนเรียก คาหอม หัวสิงไค เป็นต้น เป็นพืชตระกูลหญ้า ที่มีต้นขึ้นเป็นกอ ออกจากเหง้าอัดรวมกันเป็นกอแน่นชอบแสงแดดจัด ต้นคือกาบใบที่เรียงอัดซ้อนกัน ยาว 30-40 เซนติเมตร มีโคนโตเรียวเล็ก กาบนอกสีเขียว กาบในสีขาว พุ่งยาวออกเป็นใบสีเขียว ปลายใบแหลมสีเขียวมีคาย คล้ายใบหญ้าคา กอที่สมบูรณ์ ต้นและใบยาวกว่า 1 เมตร รากออกส่วนล่างของเหง้า หรือต้นจริงใต้ดิน มีข้อปล้องถี่ๆ รากเป็นรากฝอย งอกออกแรกๆ สีขาว พอแก่เป็นสีน้ำตาล ส่วนดอกพบว่าเป็นดอกย่อยเล็ก ออกเป็นช่อสีน้ำตาล ซึ่งชั่วชีวิตหนึ่งไม่ค่อยพบเห็นดอกตะไคร้เลย จนเป็นความเชื่อของคนเราแต่ก่อนเก่าว่า รออะไร รอใครอยู่ อาจจะรอเก้อ ไม่ได้พบเจอไม่สมหวัง เปรียบเปรยว่า “รอจนตะไคร้บานดอก”

อาหารไทยที่ดึงดูดตลาดนักท่องเที่ยว คือ “ต้มยำกุ้ง” ตะไคร้กอ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่ง นักกินทั่วโลกรู้ดีว่า ตะไคร้ ที่เป็นส่วนประกอบของต้มยำกุ้งนั้นมากมายด้วยคุณค่า มีวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี สารโฟเลต แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม สังกะสี ทองแดง เหล็ก แมงกานีส มากมายที่มีอยู่ในตัวตะไคร้ เป็นประโยชน์ต่อคนกิน หนำซ้ำยังสกัดเอาสารที่เรียกว่า น้ำมันหอมระเหย มาใช้ประโยชน์อีก

ตะไคร้กอ เป็นยารักษาโรค และบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ แก้ไข้ รักษาโรคหืดหอบ ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ ขับลมในกระเพาะ ลมอัมพาต อหิวาตกโรค ขับเหงื่อ บำรุงธาตุไฟ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้เบื่ออาหาร ล้างพิษช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ปัสสาวะบ่อยขึ้น ชงน้ำดื่มเป็นชา หรือน้ำตะไคร้ใบเตย ช่วยดับร้อนผ่อนกระหาย บำรุงไต บำรุงสายตา บำรุงรักษากระดูกและฟัน บำรุงสมอง เพิ่มสมาธิและความจำ สารสกัดตะไคร้ ใช้ป้องกันมะเร็งลำไส้ ช่วยการบีบตัวของลำไส้ เป็นยาทานวด ช่วยให้นอนหลับสบาย ชโลมแก้ผมแตกปลาย ขจัดรังแค ระงับกลิ่นปากที่เกิดจากเชื้อราในช่องปาก รักษาโรคกลากเกลื้อนผิวหนัง ดับกลิ่นคาวปลา และในวงการเกษตรใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหมักสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลง ยุง เหลือบ ริ้น ได้เป็นอย่างดีด้วย

การปลูกตะไคร้ ซึ่งตะไคร้เป็นพืชที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว โดยเฉพาะแหล่งที่มีดิน น้ำสมบูรณ์ดี บางแหล่งมีข้อจำกัดด้านสภาพดิน ก็ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ มูลสัตว์ เศษพืช ใบไม้แห้ง บางที่อาจขัดสนพื้นที่ปลูก ก็ปลูกลงปี๊บ กระถาง อ่าง โอ่ง ก็ได้ขอให้ปากกว้างสัก 30-40 เซนติเมตร ก็ใช้ได้ ปรุงดินปลูกใส่ภาชนะไว้เช่นเดียวกับปลูกลงดินโดยตรง ก่อนปลูกลงดิน ลงกระถาง ควรเตรียมพันธุ์ตะไคร้ก่อน จะซื้อมาจากตลาด หรือแบ่งจากกอบ้านข้างๆ ก็ได้ นำมาใส่กระป๋องแช่น้ำตรงโคนต้น สัก 5-7 วัน จะแตกรากสีขาวๆ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล นำไปปลูกได้ รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ แต่อย่าแก้ผ้าปลูกตะไคร้ หรือปลูกตะไคร้เอาปลายลง ฝนจะตกไม่เป็นปกติ โบราณเขาว่าไว้

บ้านเราเมืองเรานี้มีของดีอยู่ทั่วไป พืชผักสมุนไพร ปลูกง่าย ไม่ยากลำบากในการดูแลรักษาให้เติบใหญ่ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่มีภูมิคุ้มกันในตัวเองเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เหมือนเช่นคนไทยทุกคน ที่ต่างก็มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ทำให้เราอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ คนไทยเป็นคนที่มีความสุขทน และไม่เคยทุกข์นาน จะเป็นเช่นนี้ต่อไป ด้วยตราบใดที่เรายังภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นของไทย เป็นภูมิปัญญาไทย และเราคนไทยรักกันตลอดไป

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564