แก่งคุดคู้ ของชาวบ้านน้อย

เคยมาเยือนแก่งคุดคู้ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย หลายต่อหลายครั้ง ก็ได้แต่มายืนชมแก่งสวย แล้วก็กินส้มตำปลาเผาเมนูอาหารอีสานตามธรรมเนียม    

แต่มาครั้งนี้ ได้มานั่งกินส้มตำฝีมือกลุ่มแม่บ้านบ้านน้อย แล้วได้มาชมแก่งกับผู้ใหญ่บ้าน ที่ทำให้ได้รับอรรถรสอีกมุมหนึ่ง ผู้ใหญ่เล่าถึงความเป็นมาของหมู่บ้านน้อยให้ฟังว่า เมื่อประมาณ ปี 2452 หรือราว 109 ปีมาแล้ว มีชาวบ้านท่านาจัน อำเภอเชียงคานกลุ่มหนึ่งได้ชักชวนกันมาตั้งหมู่บ้านใกล้แก่งคุดคู้

รูปปั้นจึ่งขึ่ง ดั้งแดง

สืบเนื่องจากบริเวณแก่งคุดคู้อันเป็นระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่มีปลามาอิงอาศัยอยู่จำนวนมาก ประกอบกับมีลำห้วยเล็กๆ หลายสายหลากไหลลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้บริเวณนี้เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งจับปลาสำคัญของคนที่หาเลี้ยงตัวเองด้วยการหาปลาแม่น้ำโขง จากที่ต่างๆ พากันเดินทางมาหาปลาที่แก่งคุดคู้

จากบ้านท่านาจัน ในสมัยก่อนโน้นกว่าจะมาถึงแก่งคุดคู้ใช้เวลาไม่ใช่น้อย ต้องมาแรมคืนเพื่อให้ได้ปลาพอกินและเหลือเพื่อแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาเค็ม เก็บไว้กินตลอดปี นายฟอง โคตบ้ง ชาวบ้านท่านาจันจึงชักชวนเพื่อนบ้านอีกหกครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนใกล้แก่งคุดคู้ ตั้งหลักแหล่งจนแตกออกเป็นหลายครัวเรือน และนายฟองได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก นับจนถึงปัจจุบันบ้านน้อยมีผู้ใหญ่บ้านปกครองมาถึงคนที่เก้า

แต่ก่อนหมู่บ้านน้อย เดิมชื่อ บ้านน้อยหาดพรม ตามลักษณะของหาดหินริมฝั่งโขงท้ายหมู่บ้านที่ปูลาดด้วยหินกลมสวยงามราวพรมหินที่กว้างใหญ่ถึง 20 ไร่ ต่อมา ปี 2500 ทางราชการเห็นว่าชื่อหมู่บ้านยาวไป จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ หมู่บ้านน้อย นับแต่นั้นมา

แก่งคุดคู้ในมุมของชาวบ้านก็มีตำนานเล่าขานสืบต่อมาว่า นานเติบมาแล้วจนไม่สามารถนับปี พ.ศ. ได้ มีพรานคนหนึ่ง นามว่า จึ่งขึ่ง ดั้งแดง (จมูกแดง) ตัวใหญ่มาก ขนาดนอนตะแคงยังสูงเทียมฟ้า ในรูจมูกนั้นเด็กๆ สามารถเข้าไปเล่นสะบ้าได้ อะไรจะใหญ่โตขนาดนั้น

ป้ายชื่อจึ่งขึ่ง ดั้งแดง

วันหนึ่งพรานจึ่งขึ่งมาล่าสัตว์แถวนี้ ได้เจอควายสีเงินตัวหนึ่งอยู่บนภูเขา จึ่งขึ่งต้องการควายตัวนี้ ขณะกำลังเล็งธนูไปที่ควายเงิน เรือสินค้าลำหนึ่งแล่นผ่านมาบนแม่น้ำโขง ทำให้ควายตกใจวิ่งหนีเตลิดขึ้นภูเขา จึ่งขึ่งไม่ทันได้ยิงธนูเกิดความโมโห จึงปล่อยคันธนูที่ง้างไว้ไปถูกภูเขาอีกลูกพังทลายเป็นหน้าผา เรียกว่าผาแบ่นแต่นั้นมา ส่วนภูเขาที่ควายเงินหนีเตลิดขึ้นไปได้ ชื่อว่า ภูเขาควายเงิน

พรานจึ่งขึ่ง ยังไม่หายแค้นใจ จึงยกก้อนหินทีละก้อนมากั้นแม่น้ำโขง ไม่ให้เรือแล่นผ่าน ร้อนถึงพระอินทร์ผู้ดูแลรักษาแถบนั้น เกรงว่าหากกั้นแม่น้ำโขงสำเร็จ ชาวบ้านแถบนั้นจะเดือดร้อนไปทั่ว น้ำจะท่วมเหนือเขื่อนจมมิด จึงแปลงกายเป็นเณรน้อยออกอุบายมาบอกจึ่งขึ่งว่า ยกหินทีละก้อนเมื่อไรจะเสร็จ ทำไมไม่เอาไม้ไผ่มาทำไม้คานหาบก้อนหินทีละมากๆ มากั้นน้ำโขง จะได้เสร็จเร็วๆ

พรานจึ่งขึ่ง หลงอุบาย ไปหาไม้ไผ่ที่เณรน้อยแนะนำ เป็นไม้ไผ่เหี้ยะที่มีลำข้อยาวเมื่อผ่าออกมาจะคมมาก นำมามัดรวมกันเป็นไม้คานหาบก้อนหินจำนวนมาก ไม้คานทานน้ำหนักไม่ไหวแตกออกคมบาดคอจึ่งขึ่งนอนตายคุดคู้   เป็นนามเรียก แก่งคุดคู้ แต่นั้นมา เป็นตำนานที่มีผู้ผูกเรื่องเล่าเชื่อมโยงสถานที่ต่างๆ ทำให้จดจำสถานที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

กุ้งเต้น อาหารลือชื่อของแก่งคุดคู้

บ้านน้อย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงคาน อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ประกอบกับตั้งอยู่ใกล้แก่งคุดคู้ที่มีทัศนียภาพงดงาม จากที่เป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้าน ต่อมาผู้คนข้างนอกเริ่มรู้จักและชักชวนกันมาพักผ่อน แก่งคุดคู้จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านแถบถิ่นนี้ได้มีอาชีพเสริมเพิ่มจากการทำประมงและเพาะปลูก อาทิ งานหัตถกรรม งานฝีมือ และของกินจำพวกน้ำพริก กล้วยอบ กล้วยทอด    โดยเฉพาะมะพร้าวแก้วของแก่งคุดคู้มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ

แรกก็สงสัยว่า ทำไมต้อง มะพร้าวแก้ว เพราะเมื่อนึกถึงมะพร้าวแก้ว ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงจังหวัดทางภาคใต้หรือแถวจังหวัดประจวบฯ บ้านแพ้ว มากกว่า แต่นี่แก่งคุดคู้ในเขตจังหวัดเลย ภาคอีสานของไทย ต่อเมื่อได้คุยกับกลุ่มแม่บ้าน ฉันจึงได้รู้ว่า แถวนี้เคยมีมะพร้าวขึ้นมากมาย นอกจากไว้ทำแกงทำขนมก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์อื่น   ต่อมาจึงมีคนคิดค้นทำมะพร้าวแก้วขึ้นขายนักท่องเที่ยว เมื่อเห็นผลดี จึงมีหลายคนทำตามและพัฒนาให้มีรสชาติมีความนุ่มหอม แล้วแต่เคล็ดวิธีของแต่ละเจ้า

ทำมะพร้าวแก้ว

เมื่อประชากรหนาแน่นขึ้น ครอบครัวขยายสร้างบ้านเรือนเพิ่มแทนที่ต้นมะพร้าว คนทำมะพร้าวแก้วต้องนำเข้ามะพร้าวจากที่อื่น ที่นำเข้ามากที่สุดคือ มะพร้าว จากหนองคาย ต้องสั่งมะพร้าวที่ไม่อ่อนแก่เกินไป หรือเรียกว่ามะพร้าวทึนทึก ขั้นตอนการทำต้องนำมะพร้าวมาผ่าแล้วเทน้ำออกก่อนจะนำไปฝานเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปต้ม   จากนั้นเคี่ยวกับน้ำตาลทรายจนงวด นำขึ้นมาตากให้แห้งก่อนบรรจุถุงพร้อมจำหน่าย

ถามว่า น้ำมะพร้าว ที่เทออกใส่ถังนั้นนำไปไหน เจ้าของกิจการมะพร้าวแก้วบอกว่า มีโรงงานทำน้ำมะพร้าวมารับซื้อไป ถังละ 40 บาท เห็นกระบวนการนี้แล้วโชคดีที่ฉันชอบดื่มน้ำมะพร้าวสดๆ จากลูกมะพร้าวเท่านั้น

น้ำตาลที่เหลือจากเคี่ยวมะพร้าวแก้วไม่ได้ทิ้ง ยังนำไปเคี่ยวเป็นน้ำตาลแผ่น บางเจ้าเพิ่มถั่วลิสง กลายเป็นแผ่นน้ำตาลหวานมันกินเล่นแกล้มชา กาแฟ ส่วนฉันคิดถึงน้ำมะพร้าวที่ทำจากน้ำตาลเคี่ยวมะพร้าว หั่นเนื้อมะพร้าวลงไปใส่น้ำแข็ง เท่านี้ก็เป็นน้ำมะพร้าวได้

วัดประจำบ้านน้อย

มาแก่งคุดคู้ครานี้ ฉันได้รับสัมผัสใหม่ ไม่แค่แก่งสวยงามยามน้ำโขงลดระดับ ทว่ายังมีเรื่องเล่าถึงพรานจึ่งขึ่ง และมะพร้าวแก้ว หอมนุ่ม…