การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องของคนอื่น

“สวนดุสิตโพล จัดอันดับ 5 ข่าวทุจริตที่ประชาชนให้ความสนใจ เผยความคิดประชาชน ไม่เชื่อว่ารัฐจะแก้ไขปัญหาทุจริต เนื่องจากสังคมเสื่อมโทรม คนมีค่านิยมในทางที่ผิด มีตัวอย่างที่ไม่ดีให้เห็น และปลูกฝังจิตสำนึกป้องกัน กฎหมายต้องใช้ได้จริง ประชาชนช่วยกัน สอดส่องดูแล นักการเมือง ข้าราชการ ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี…

โดย 5 อันดับข่าวทุจริตที่ประชาชนให้ความสนใจ ได้แก่ อันดับ 1 คือ การทุจริตอาหารกลางวันเด็กนักเรียน 42.03% อันดับ 2 เงินทอนวัด 40.00% อันดับ 3 เงินคนจน เบี้ยผู้สูงอายุ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 37.00% อันดับ 4 การใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล งบโครงการต่างๆ 21.06% อันดับ 5 การทุจริตต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ เช่น คุรุภัณฑ์ นมโรงเรียน กองทุนเสมา 20.68%” ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผมเชื่อและเห็นว่าผลการสำรวจนี้ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ประเด็นข่าวทุจริตที่เกิดขึ้นในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมาเหล่านี้ น่าสนใจ น่าติดตาม และน่าจะนำมาเป็นจุดเริ่มในการรณรงค์เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นให้เกิดขึ้นอย่างเห็นผลจริงจังต่อไป

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านคอร์รัปชั่นให้เกิดผลยั่งยืนและได้ผลอย่างแท้จริงนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานตรวจสอบเพียงอย่างเดียว เพราะตามผลสำรวจ ประชาชนก็ไม่เชื่อว่า รัฐจะแก้ไขปัญหาทุจริตได้อย่างเด็ดขาด และเห็นว่าประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ต้องสร้างค่านิยมในทางที่ถูกต้อง มีตัวอย่างที่ดีให้เห็น ฯลฯ คำถามใหญ่ก็คือ เราจะสร้างให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

ผมอยากจะชวนคิดว่า ความคาดหวังเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในลักษณะที่เราในฐานะประชาชนแต่ละคนมองการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นโดยมองออกจากตัวเราไปสู่คนอื่นๆ มองไปที่สังคม มองไปที่หน่วยงานภาครัฐ แล้วหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ขึ้น

หรือว่าเราควรมองอีกแบบว่า เราควรต้องมองตัวเราเองที่อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง รับรู้ หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทุจริต จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว แล้วเราแก้ที่ตัวเราแต่ละคนๆ เพื่อให้โดยรวมแล้วเกิดผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง

 

จากผลงานวิจัยเชิงพฤติกรรมสู่หนทางแก้ในภาคปฏิบัติ

ผมอยากยกงานวิจัยเชิงพฤติกรรมชิ้นหนึ่ง ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เราเห็นตามว่า แท้ที่จริงแล้วการแก้ปัญหาทุจริตควรเริ่มต้นที่การแก้ไขจากตัวเราแต่ละคนๆ มากกว่า มองอย่างคาดหวังไปยังคนอื่นๆ หรือสังคม หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต

งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำและออกมาเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า “The (Honest) Truth About Dishonesty” เขียนโดย Dan Ariely โดยเขาได้ออกแบบการทดลองพฤติกรรมมนุษย์ไว้หลายการทดลอง ตัวอย่างการทดลองหนึ่ง เขาให้ผู้เข้าร่วมทดลองตอบคำถาม 10 ข้อ แล้วให้ตรวจคำตอบเองว่า ตนเองทำถูกต้องกี่ข้อ และจะได้เงินไปสำหรับข้อที่ตอบถูกข้อละหนึ่งเหรียญ การทดลองกำหนดให้ผู้ตอบคำถามเป็นผู้บอกจำนวนข้อแก่ผู้จ่ายเงินโดยไม่ต้องแสดงกระดาษคำตอบให้เห็น และเมื่อแจ้งจำนวนข้อที่ตอบถูกต้องและรับเงินแล้ว ให้ผู้ตอบคำถามนำกระดาษคำตอบไปทำลายทิ้งโดยเครื่องย่อยกระดาษ ซึ่งถูกดัดแปลงให้ย่อยเฉพาะขอบด้านข้างเท่านั้น โดยผู้นำกระดาษคำตอบไปย่อยไม่ทราบความจริงข้อนี้ เพื่อที่ผู้ทำวิจัยจะมาตรวจสอบได้ว่าผู้ตอบคำถามโกหกหรือไม่ในภายหลัง

ผลการทดลองในลักษณะนี้ (ซึ่งมีอีกหลายการทดลอง) จากการทดลองที่ออกแบบไว้หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลในหลายมิติ ทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า มนุษย์เราตัดสินใจที่จะโกงหรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ใช่ด้วยการคำนวณต้นทุนหรือบทลงโทษที่จะได้รับเพียงอย่างเดียว แต่จะด้วยเหตุผลหรือปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวสนับสนุนอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ เรียกว่า “Fudge Factor” ซึ่งผมขอเรียกว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เราทำสิ่งที่เหลวไหลไม่ถูกต้องขึ้น

 

Fudge Factor ประกอบด้วย

  1. ความรู้สึกหรือข้ออ้างที่ว่าใครๆ ก็ทำสิ่งนั้น ถ้าเราทำเราจะไม่รู้สึกผิด หรือรู้สึกผิดน้อยลง
  2. ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ คือ รู้ว่าไม่ควรทำ แต่มีผลประโยชน์บางอย่างที่เราอยากได้ เราก็จะหาข้ออ้างมาสนับสนุนให้เราทำ
  3. การทำสิ่งนั้นไม่ทำให้ใครเสียหายหรือเดือดร้อน เราก็จะอ้างว่า ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะทำได้
  4. ถ้าสถานการณ์นั้นเราสามารถโกหกคนอื่นโดยไม่มีทางถูกจับได้ เราจะตัดสินใจทำโดยไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
  5. มองข้ออ้างการทำสิ่งนั้นว่า เป็นความคิดสร้างสรรค์
  6. ถ้าการทำสิ่งนั้นไม่ถูกตรวจสอบ เราจะเห็นว่าน่าจะทำได้โดยไม่ผิด
  7. ค่านิยมของสังคมบอกว่า ทำได้ ไม่น่าจะผิด ข้อนี้จะคล้ายๆ กับข้อ 1 ที่บอกว่า ใครๆ ก็ทำกัน
  8. ในสถานการณ์ที่เราเหนื่อยล้า อ่อนแรง หรือจนแต้ม เราจะใช้เป็นข้ออ้างในการทำผิด
  9. สิ่งที่ทำไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “อาชญากรรม” เป็นแค่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ
  10. การหลอกตัวเอง ว่าสิ่งที่ทำนั้น ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย สามารถทำได้

โดยสิ่งที่จะเกื้อกูลสนับสนุนให้เราทำความผิด ก็คือ ตราบเท่าที่เรายังรู้สึกว่า การทำความผิดนั้นยังทำให้เราเป็นคนดีอยู่ กล่าวคือ การที่เราคิดว่าใครๆ ก็ทำกัน เราก็จะไม่รู้สึกว่าเราแย่กว่าคนอื่นๆ หรือการที่เราไม่ถูกจับได้ว่าโกหก เราก็จะยังรู้สึกว่าเราเป็นคนดีอยู่ และมั่นใจว่าจะไม่มีคนมาบอกว่าเราโกหก หรือการทำผิดที่เรารู้สึกว่า ไม่ถึงขั้นเลวร้าย ห่างไกลจากคำว่า อาชญากรรม ก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราทำสิ่งนั้นได้อยู่ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หรือการที่เรามีข้ออ้างที่ดีว่าทำไมเราถึงต้องทำสิ่งนั้น ก็ล้วนเป็นคำอธิบายที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น หรือไม่รู้สึกแย่ว่าเราเป็นคนไม่ดี

ด้วยการอธิบายปัจจัยที่ทำให้เราตัดสินใจทำผิดข้างต้น ทำให้อธิบายต่อไปได้ว่า ทำให้เกิดคนที่ทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก ในขณะที่คนที่กล้าทำผิดใหญ่ๆ มีจำนวนน้อยกว่า และผลก็คือ หากมีคนทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เป็นจำนวนมาก ผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมจะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่าที่เราคาดคิด

ถ้าเราลองนึกดูว่า เราเคยจอดรถในที่ห้ามจอด กรณีที่เราเร่งรีบและหาที่จอดรถไม่ได้ เราเร่งเครื่องยนต์เพื่อฝ่าไฟแดงโดยเรามีข้ออ้างว่าตำรวจจราจรเปิดไฟเขียวน้อยเกินไปและถ้าเราไม่ฝ่าไปเราจะไปทำงานไม่ทัน เราเคยฝากลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่เราต้องการโดยอ้างว่าเงินที่เราให้โรงเรียนเพื่อเป็นการสนับสนุนโรงเรียนและใครๆ ก็ทำกัน เราให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยให้เราได้งานโดยเราบอกว่า เป็นสินน้ำใจในการอำนวยความสะดวกให้เรา และใครๆ ในภาคธุรกิจก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่ได้งาน เราไม่ให้คนอื่นก็ให้อยู่ดี เราเคยตกแต่งตัวเลขในงบกำไรขาดทุน เพื่อให้เราเสียภาษีน้อยลง โดยเราอ้างว่าไม่อยากเสียภาษีให้รัฐมากๆ เพราะท้ายที่สุดข้าราชการเขาก็เอาไปโกงกินกันอยู่ดี

เราไม่เคยบอกหรือคิดว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดการทุจริตในวงกว้าง ในภาพใหญ่ เราหวังว่า “สังคม” (ซึ่งหมายถึงใครไม่รู้) จะช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ให้เกิดการทุจริตกันขึ้น เราหวังว่า หน่วยงานตรวจสอบของรัฐจะเข้มงวดตรวจสอบให้พบการทุจริต และนำคนทุจริตมาลงโทษด้วยบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อให้เข็ดหลาบ และไม่กล้าทำผิดอีก

น่าสนใจว่า แท้ที่จริงสังคมไทยมีการทำผิด หรือทุจริตในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อยู่ดาษดื่นใช่หรือไม่ เราแต่ละคนพร้อมที่จะทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ ตราบเท่าที่มันยังไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนไม่ดี เวลาที่เราพูดคุยกับใครเรื่องคอร์รัปชั่น เรามักจะมีแนวโน้มที่จะชี้นิ้วไปยังคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดคอร์รัปชั่น และส่งผลให้สังคมไทยพัฒนาให้ก้าวหน้าไม่ได้ โดยที่เราไม่เคยกล่าวถึงการกระทำของเราเอง ที่อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะเราคิดและบอกว่าเป็นสิ่งที่พอรับได้ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเรารู้สึกว่า ใครๆ ก็ทำกัน เรามีเหตุผลที่ดีที่จะใช้เป็นข้ออ้างว่า ทำไมเราถึงต้องทำ และสิ่งที่เราทำไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ใช่หรือไม่