เยือนชุมชนท่าระแนะ@ตราด ลิ้มลองอาหารถิ่นในตำนาน Gastronomy Tourism

เพื่อขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคของรัฐบาล ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดทำเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy  Tourism) กำหนดไว้ 10 เส้นทาง กระจายไปทั่วภูมิภาค และ ปี 2561 เริ่มสำรวจ เส้นทางนำร่องใน 5 ภูมิภาค คือ ตราด (ภาคตะวันออก) ตาก (ภาคเหนือ) สุรินทร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สตูล (ภาคใต้) และ ลพบุรี (ภาคกลาง) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คุณคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ได้นำคณะสื่อมวลชนตระเวณชิมอาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) และสัมผัสประสบการณ์แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่จังหวัดตราด
คุณละมุน-คุณคมกริช-ผญ.สายชล
กระแส Food Tourism มาแรง
อาหารถิ่นในตำนาน จุดขายนักท่องเที่ยว
คุณคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหาร Food Tourism มีแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2560 นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายอาหาร เครื่องดื่ม สูงถึง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายรวม จังหวัดตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองรอง (1 ใน 55 จังหวัด) รัฐบาลมีเป้าหมายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยใช้การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เป็นอาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป้าหมายคือเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย จากที่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมุ่งท่องเที่ยวทะเลที่เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก ให้มาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบนฝั่ง มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองตราด น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น หาดทรายดำ มี 1 ใน 5 ของโลก แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบางแห่งได้รับรางวัลระดับประเทศ อย่างชุมชนรักษ์คลองบางพระ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว หรือชุมชนทั่วๆ ไป เช่น ชุมชนบ้านท่าระแนะ ชุมชนบ้านช้างทูน หากเชื่อมโยงอาหารถิ่นในตำนานกับเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนจะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจมาเรียนรู้และสร้างประสบการณ์
ผอ.คมกริช ด้วงเงิน กับใบโกงกางทอด
“อาหารถิ่นในตำนานเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ต่างจาก Food Tourism ที่เป็นอาหารทั่วไปไม่สนใจว่าจะมาจากพื้นถิ่นหรือไม่ ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบในพื้นถิ่น ศิลปะการกิน สามารถสร้างเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเราพยายามทำเส้นทางท่องเที่ยวเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก ให้เชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบนฝั่งโดยเพิ่มวันพัก ระยะแรกเป้าหมายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย” คุณคมกริช กล่าว
ปี 2560 จังหวัดตราด มีผู้เยี่ยมเยือน 2,756,421 คน เป็นชาวไทย 1,721,540 คน ชาวต่างชาติ 1,034,881 คน มีรายได้ 24,384 ล้านบาท จากชาวไทย 190,709.51 ล้านบาท ชาวต่างชาติ 13,674.49 ล้านบาท จากนี้ฝ่ายผลิตสินค้าจะส่งข้อมูลการสำรวจให้ฝ่ายการตลาด จัดทำรูทเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับอาหารถิ่นในตำนาน เป็นโครงการนำร่องก่อนเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปจัดทริป ซึ่ง ททท. มีโครงการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาองค์ความรู้ เช่น มัคคุเทศก์น้อย เจ้าบ้านที่ดี ข้อควรระมัดระวังอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ควรออกแบบสิ่งก่อสร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีอยู่ เช่น ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ชุมชนรักษ์คลองบางพระ คาดว่าจะทำให้มีการกระจายรายได้และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและภาคเกษตรได้มากขึ้น
ทีมกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าระแนะ
ท่าระแนะ ป่าตะบูน 200 ปี
ตะลุยชิมอาหารถิ่น สูตรพื้นบ้านแท้ๆ
จังหวัดตราด มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ได้รับการพัฒนา 21 แห่ง แต่ละชุมชนมีอาหารถิ่นในตำนาน ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น บางเมนูเป็นอันซีน มีความแปลกใหม่สำหรับคนต่างถิ่น ตัวอย่าง ทริปลิ้มลองเมนูนำร่องที่ททท. พาคณะมาครั้งนี้ ที่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าระแนะ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมืองตราด ดูลงตัวที่สุด

ช่วยสร้างความเข้าใจ ความหมายของ Gastronomy Tourism ที่เริ่มจากการเลือกสรรวัตถุดิบและการปรุงอาหาร รวมทั้งการบริโภคที่มีทั้งศาสตร์และศิลปะ เริ่มจาก การพาชมแหล่งท่องเที่ยวป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ไฮไลต์คือลานตะบูนขนาดใหญ่อายุร่วม 200 ปี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลหนองคันทรง จำนวน  6,000 ไร่
คุณสายชล สุเนตร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 และประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนท่าระแนะ และ คุณมาโนช สมุทผา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 รองประธานกรรมการกลุ่ม และ “น้องปอนด์” เด็กชายวีระชัย ธูปชาวนา อายุ 14 ปี มัคคุเทศก์น้อยของกลุ่ม พานั่งเรือประมงขนาดเล็กของชาวบ้านลัดเลาะมาตามคลองซอยเล็กๆ สมบูรณ์ด้วยป่าโกงกาง ป่าลำพู ป่าจาก ถึงลานตะบูน (เส้นทางมาลานตะบูนใช้สะพานทางเดินเท้าได้)
ผช.ผญ.มาโนช กับ น้องปอนด์ มัคคุเทศก์น้อย
ลานตะบูนนี้กว้างใหญ่ ร่มรื่น รากตะบูนจะแผ่กระจายเต็มพื้นที่ให้เดินนวดเท้า มีลานโบว์ลิ่งที่ใช้ลูกตะบูนแทนลูกโบว์ลิ่ง บริเวณชิงช้าจุดถ่ายภาพถูกใช้งานหนัก ทำให้รากตะบูนยุบเป็นพื้นเรียบกว้าง

“ป่าชายเลนบริเวณนี้ พื้นที่หมู่ 2 ดูแลอยู่ 2,000 ไร่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก มี ต้นตะบูน ลำพู ลำแพน ป่าแสม ป่าจาก พื้นที่ 8-9 ไร่ มีต้นตะบูนอายุร่วม 200 ปี บางต้นมีกระเปาะสีดา หัวร้อยรูที่ใช้เป็นสมุนไพรเกาะอยู่ ที่นี่จึงเป็นแหล่งอยู่อาศัยสัตว์น้ำที่เป็นอาหารนานาชนิด เช่น ปูดำ ปูแสม กั้ง หอยพอก ลูกจาก กลุ่มได้มีกิจกรรม “ปลูกหอยปล่อยพันธุ์ปู” ให้นักท่องเที่ยวได้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หอยพอกและปูดำด้วย” ผู้ใหญ่สายชล กล่าว
แพต้อนรับหมู่คณะ
จากนั้นคณะได้กลับมาที่แพต้อนรับคณะ เพื่อดูสาธิตการทำอาหารถิ่น ดูไปชิมไปกับอาหารว่างของขบเคี้ยว ใบโกงกางชุบแป้งทอด ขนมโบราณพิมพ์ข้าวตอกที่ยังใช้พิมพ์ลายไม้โบราณ ดื่มชิลๆ กับชาร้อยรู อยู่ได้ 100 ปี ไปด้วยกันอย่างลงตัว และไม่ลืมที่จะรอชิมแกงคั่วหอยพอกใบชะพลู ที่รสชาติเผ็ดน้อยๆ หวานมันด้วยกะทิคั้นสดๆ กลมกล่อม ไม่เลี่ยน เพราะใส่ใบชะพลู เนื้อหอยหนุบๆ ไม่เหนียวมาก และน้ำแกงซึมซับเข้าถึงเนื้อหอยทำให้อร่อยทุกคำ ฝีมือของเลขากลุ่ม คุณละมุน เพ่งจินดา เล่าไปทำไปว่า ทุกอย่างเป็นสูตรพื้นบ้าน ทำต่อๆ กันมา ด้วยแหล่งท่องเที่ยวและอาหารท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใครและวัตถุดิบต่างๆ ได้มาจากป่าชายเลนผืนใหญ่นี้ กลุ่มขนานนามว่า “มหัศจรรย์ป่าชายเลน”
ผู้ใหญ่สายชล กล่าวตอนท้ายว่า ชุมชนท่าระแนะเปิดรับนักท่องเที่ยวมาปีที่ 4 เริ่มเป็นที่รู้จัก 2 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวยังไม่มากนัก เราได้เตรียมกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยไว้บริการ แต่มีข้อจำกัดที่พัก โฮมสเตย์ จะรับคณะได้ไม่เกิน 80 คน นักท่องเที่ยวควรติดต่อสอบถามมาก่อน อัตราค่าบริการจะแตกต่างกันในรายละเอียด หลักๆ คือ แพ็กเกจ 890 บาท/คน/คืน มีที่พักโฮมสเตย์ 1 คืน อาหาร 3 มื้อ เป็นอาหารท้องถิ่น อาหารทะเล
ใบโกงกางทอด
และกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ มีให้เลือกสรร 5 กิจกรรม คือ ลงเรือชมลานตะบูน ชิมชาร้อยรู ใบโกงกางทอด ปลูกหอยปล่อยพันธุ์ปู ขนมพื้นบ้าน ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล ฤดูผลไม้มีนั่งซาเล้งเข้าสวนเงาะ ทุเรียน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกสรรได้ เมนูอาหารท้องถิ่นแกงคั่วหอยพอกใบชะพลู ซึ่งหอยพอกในป่าชายเลนของหมู่บ้านมีทั้งปี ช่วงสงกรานต์มีการ “เหยียบกั้ง” เป็นอาหารทะเลสดๆ เฉพาะช่วงฤดูกาล
วางลอบดักปู
ผอ.คมกริช กล่าวว่า จังหวัดตราดมีต้นทุนทางด้านอาหารถิ่นดีอยู่แล้ว ตามสภาพการดำเนินชีวิตของวิถีชุมชน เพราะสมบูรณ์ทั้งธรรมชาติ อาหารทะเล สภาพป่าไม้ ป่าชายเลน และมีชุมชนที่เข้มแข็งรวมตัวกัน เมนูอาหารถิ่นในตำนานของจังหวัดตราดมีเอกลักษณ์ชัดเจน จริงๆ แล้วมีอีกหลากหลายเมนูที่สำรวจไว้แต่เวลาจำกัด เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อน้ำจิ้มปู อาหารว่างความอร่อยของเส้นก๋วยเตี๋ยวที่อ่อนนุ่มห่อไส้หน่อไม้ไผ่ตงที่มีรสหวานผัดกับเนื้อปู ก้ามปู และน้ำจิ้มใส่ปูปรุงด้วยส้มมะปื๊ดกินคู่กับแตงกวาดอง (อาจาด) ของชุมชนรักษ์คลองบางพระ
ข้าวเกรียบยาหน้า เป็นข้าวเกรียบย่างกินคู่กับไส้ที่ปรุงจากมะพร้าวและกุ้ง อาหารของชาวมุสลิมที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว แกงไก่ใส่กล้วยพระ ใช้แกนลำต้นกล้วยพระเป็นกล้วยอีกชนิดหนึ่ง แกงกะทิใส่ไก่บ้านกินคู่กับข้าวเหนียวมูนทำให้อาหารมีรสหวานๆ เค็มๆ เผ็ดมากขึ้น และวุ้นหมาน้อยในน้ำเชื่อม ที่ใช้ใบหมาน้อยซึ่งเป็นพรรณไม้เลื้อย นำมาปั่นกับน้ำแยกกากทิ้งเป็นวุ้นสีเขียวเข้ม รสขมเล็กน้อยกินคู่กับน้ำเชื่อม น้ำแข็งช่วยให้ชุ่มคอคลายร้อน ใบจะช่วยบำรุงโลหิตให้ไหลเวียนอย่างดี
ขนมพิมพ์ข้าวตอก
เห็นอย่างชัดเจนว่า การปรุง “อาหารถิ่นในตำนาน” ตำรับสูตรโบราณ ไม่ใช่มีดีที่ความอร่อยเท่านั้น แต่ได้ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรมของท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ เชื่อว่าจังหวัดตราด หากเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางทะเลตามเกาะต่างๆ กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบนฝั่งให้ลิ้มลองอาหารถิ่นในตำนาน โดยเพิ่มจำนวนวันพัก น่าจะสร้างความประทับใจและทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเสน่ห์ความอร่อยของอาหารท้องถิ่นในตำนาน ถ้าไม่มาเยือนถึงถิ่น จะไม่ได้ลิ้มลอง สนใจติดต่อสอบถาม ผญ.สายชล สุเนตร ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าระแนะ โทร. (081) 161-6694
แกงคั่วหอยพอกใบชะพลู เนื้อหอยเด้งดึ๋งดั๊ง
คุณมาโนช สมุทผา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 รองประธานกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนท่าระแนะ เล่าว่า หอยพอกมีในป่าชายเลนตามธรรมชาติ อยู่ในดินป่าชายเลน เมื่อน้ำลงจะเห็นตัวหอย ชาวบ้านจะเดินเก็บเอาไปขายหรือทำอาหารเป็นของธรรมชาติ ใครๆ ก็เก็บได้ตลอดปี ยกเว้นเดือนมิถุนายนที่พ่นไข่จะไม่เก็บ
หากขายให้แม่ค้าในหมู่บ้าน กิโลกรัมละ 15 บาท แม่ค้ารวบรวมขายต่อให้พ่อค้าคนกลาง กิโลกรัมละ 20 บาท มีพ่อค้าคนกลางรับไปขายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 40-50 บาท หากแกะเนื้อได้ 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนใหญ่หอยพอกทั้งเปลือกนิยมนำไปย่างจิ้มน้ำพริกเกลือ (ซีฟู้ด) ที่หมู่บ้านท่าระแนะนิยมมาแกงคั่วใบชะพลู เป็นอาหารพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมด นำมาปรุงน้อยที่สุดเพื่อคงความอร่อยแบบธรรมชาติ โดยแกะเนื้อหอยมาแกงสดๆ หอยพอกทั้งเปลือก 10 กิโลกรัม แกะเนื้อได้ 1 กิโลกรัม

คุณละมุน เพ่งจินดา เลขากลุ่มท่องเที่ยวชุมชนท่าระแนะ แม่บ้านของกลุ่มเปิดสูตรพื้นบ้านโบราณ แกงคั่วหอยพอกใบชะพลู ดังนี้ คือ
เครื่องปรุง 1. เนื้อหอยพอกที่แกะแล้วสดๆ 1 กิโลกรัม ใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ 2. น้ำพริกแกงกะทิ 2 ขีด 3. เครื่องปรุงรส น้ำตาลปี๊บ 2 ขีด น้ำปลา 1 ช้อน เกลือเม็ด 1 ช้อนชา 4. ใบชะพลู ครึ่งกิโลกรัม หั่นเป็นเส้นๆ และแช่น้ำเย็นไว้สักครู่ บีบน้ำออกให้หมด 5. น้ำกะทิคั้นเอาเฉพาะหัวกะทิ 2 ลูก

วิธีการปรุง 1. นำกระทะตั้งไฟใส่หัวกะทิลงในกระทะพอประมาณที่ละลายน้ำพริกแกง คนละลายให้เข้ากัน รอให้เดือดและแตกมัน 2. ใส่เนื้อหอยลงในกระทะคนเบาๆ ปรุงรสด้วยเครื่องปรุง น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ เกลือ รอให้เดือด ชิมดูให้รสกลมกล่อม หวานๆ เค็มๆ และเผ็ดเล็กๆ ใส่ใบชะพลู และเติมหัวกะทิ (ไม่ให้น้ำใส) เคี่ยวต่อให้น้ำกะทิข้นแตกมัน จากนั้นรับประทานได้…กับข้าวสวยร้อนๆ เนื้อหอยที่เด้งดึ๋งดั๊งที่เข้ากับน้ำแกงใบชะพลูหวานๆ มันๆ อร่อยทุกคำทั้งข้าวทั้งแกง