สิ่ว แกะสลัก

ลายไทย เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ

ลวดลายที่ปรากฏและรู้จักกันโดยทั่วไป เช่น ลายก้านต่อดอก ลายกระจังใบเทศ ลายเปลว ลายประจำยาม และลายกนก เป็นต้น แต่ละลวดลาย ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง และลวดลายแกะสลักตามโบราณสถานต่างๆ มากมาย

การสลักลวดลายเราต้องมีเครื่องมือ

เครื่องมือสลักลวดลายมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับประเภทงาน สำหรับไม้เนื้ออ่อนๆ เรามี สิ่วแกะสลัก เมื่อก่อนช่างคงต้องนำเหล็กมาตีขึ้นรูป แต่งรูปร่างออกมาใช้กันเอง แต่ปัจจุบันมีโรงงานทำออกมาขายโดยทั่วไป

ราคาถูก แพง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุที่นำมาผลิต

ลักษณะของ สิ่วสลักลาย แต่ละอันมีด้ามเหมือนกัน ความยาวของตัวใบมีดใกล้กัน ต่างกันเพียงคมหน้าสิ่ว มีทั้งคมแบนเหมือนสิ่วทั่วไป มีหน้าโค้งมน มีหน้าเป็นมุมฉาก และมีหน้าเล็ก ใหญ่ สาเหตุที่มีหลายรูปร่างหน้าตา เพราะว่าต้องการให้เหมาะสมกับการใช้งานประเภทต่างๆ อย่างครอบคลุม

ถ้าลายที่,uลักษณะโค้ง ก็ใช้สิ่วหน้าโค้งสลัก ถ้าต้องการใช้สลักเส้นลายตรงก็ใช้สิ่วหน้าแบนออกมาสลัก ถ้ามีเส้นหักมุมก็นำเอาสิ่วหน้าหักมุมเป็นรูปมุมฉากออกมาใช้ เป็นต้น การเลือกใช้หน้าสิ่วเหมาะสมกับงาน นอกจากจะทำให้มีความรวดเร็วในการทำงานแล้ว ผลงานที่ออกมาก็จะละเอียด ประณีต อีกด้วย

การสร้างสรรค์ลวดลาย แต่ละช่างมีวิธีการแปลกแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับครูของแต่ละคน คำว่า ครูนี้หมายถึง ครูพักลักจำ และครูที่ตั้งหน้าตั้งตาสอนให้ลูกศิษย์มีความรู้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ศิษย์บางคนไม่ค่อยจะสนใจก็ตาม

ตัวอย่าง การสร้างสรรค์ลายที่ผู้เขียนพบมา เช่น ขั้นแรกหาลายที่ถูกใจและตรงกับงานเสียก่อน เมื่อได้ลวดลายตามต้องการแล้วก็นำมาลอกลาย เสร็จแล้วนำลายที่ลอกนั้นไปทาบกับไม้ หรือวัสดุที่ต้องการแกะสลัก

จัดการร่างลายให้เรียบร้อยตามต้องการ

เมื่อได้ลวดลายแล้วก็ลงมือสลักได้เลย โดยแกะสลักไปตามเส้น ตามแนวที่วาดไว้ ค่อยๆ ทำอย่างใจเย็น ถ้าพลาดนิดเดียว ถลำล้ำออกจากเส้นเกิดเรื่องทันที เพราะลวดลายที่ออกมาจะไม่งามตามประสงค์

การดูผลงานว่าประณีตหรือไม่ เราดูกันที่ล้ำเส้นหรือไม่นี่เอง สำนวนที่พูดกันว่า ล้ำเส้น ไม่รู้เหมือนกันว่า มาจากการล้ำเส้นสลักลวดลายหรือมาจากอย่างอื่น เรื่องนี้ค่อยค้นคว้าหาข้อมูลกันต่อไป ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิชาการด้านภาษาไปพลางๆ ก่อน

การใช้เครื่องมือช่าง เมื่อเสร็จแล้วต้องดูแล

การดูแลเครื่องมือที่ทำมาจากเหล็ก สมัยก่อนผู้เขียนเห็นพ่อใช้ถ่านหุงข้าวถู หรือไม่ก็นำน้ำมันเครื่องเก่าๆ มาทาก่อนเก็บไว้ในหีบ หรือกล่องเครื่องมือ สมัยนี้ผู้เขียนเห็นมีน้ำมันออกมาใช้ทากันสนิมมากมาย

เลือกใช้ยากันสนิมชนิดไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องมือที่ซื้อมา

เครื่องมือของใช้ที่ทำด้วยเหล็ก ต้องปลอดสนิม ถ้าสนิมขึ้นเขลอะเมื่อใด ไม่ขัดถูให้ดี ไม่นานก็อาจจะต้องซื้อใหม่ เปลืองเงินเปลืองทองไปเปล่าๆ เครื่องมือประเภทสิ่วดีอยู่อย่าง เมื่อเป็นสนิมก็จะเห็นได้ง่าย ไม่เหมือนจำพวกที่มีบ้อง หรือด้ามจับกลมๆ ภายในโปร่ง พวกนี้บางทีสนิมกินด้านใน เจ้าของมองไม่เห็น เมื่อรู้อีกทีก็บ้องขาดเสียแล้ว

บ้องขาดก็หมายความว่า สิ้นอายุการใช้งาน

สนิมที่แอบขึ้นด้านในนั้น มีสำนวนอยู่ 1 สำนวน ความว่า…สนิมกร่อนแต่เนื้อในตน… หมายความว่า สนิมเกิดจากเนื้อสนิมที่เกิดจากเหล็กด้วยกันเอง ในแง่ความเปรียบคือ เหมือนคนที่ทำลายตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาทำลาย

ส่วนเครื่องมือ สิ่ว ก็มีสำนวนเช่นกัน

สำนวนที่เกี่ยวกับสิ่วคือ หน้าสิ่วหน้าขวาน หมายถึง ผู้ที่อยู่ในระยะอันตราย เพราะอีกฝ่ายหนึ่งกำลังโกรธ ความเป็นมาของสำนวนนี้ คนโบราณคงต้องการเปรียบให้เห็นว่า การอยู่ต่อหน้าคนถืออาวุธและโกรธนั้นเป็นเรื่องอันตราย

เมื่อรู้ว่าเข้าใกล้แล้วอันตราย ก็ต้องถอยดีกว่า ไม่เข้าไปยุ่งด้วยดีกว่า