“กศน.” ส่งเสริมการเรียนรู้ นำพา “ปัตตานีสู่สันติสุข”

ดอกชบา” เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปัตตานี เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนเด็กและเยาวชน ที่ได้รับการพัฒนาให้เบ่งบานอย่างสวยงามด้วย “การศึกษา” ที่จะนำพา “ปัตตานีสู่สันติสุข

“ปัตตานี” อยู่ในกลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับจังหวัดยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและประชาชนในท้องถิ่นยังพูดภาษามาเลย์ หรือภาษายาวี รัฐบาลจึงกำหนดให้พื้นที่แห่งนี้อยู่ในกลุ่มพื้นที่พิเศษของการพัฒนาทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การปกครอง เศรษฐกิจ ฯลฯ เพื่อเข้าถึง เข้าใจและตอบสนองความต้องการของประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

หนึ่งใน “จิ๊กซอว์สำคัญ” ที่มีบทบาทผลักดันให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นคือ คุณเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูแลประสานงานด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา

คุณเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี

บูรณาการส่งเสริมอาชีพชุมชน

ในปีนี้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือ ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก และวิสาหกิจชุมชน (โอท็อป) ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา

ก่อนหน้านี้ ครู กศน.ได้จัดอบรมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่ 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนที่ผ่านการอบรมอาชีพขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้พัฒนาแปรรูปสินค้า กศน.จึงร่วมมือบูรณาการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าร่วมกัน

โดย กศน.ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานกับสถาบันอาชีวศึกษาในท้องถิ่น ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ สถาบันอาชีวศึกษาจะจัดส่งทีมอาจารย์ นักศึกษา เข้ามาช่วยชาวบ้านพัฒนา นวัตกรรมเพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตแปรรูปสินค้า ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการคาดหวังว่า ภายในระยะเวลา 3 ปี (2561-2564) จะพัฒนานวัตกรรมชิ้นงานให้กับผู้ประกอบการอย่างน้อยอำเภอละ 1 ชิ้นงาน

เสริมสร้างการเรียนรู้สู่ปอเนาะ

สถาบันปอเนาะเป็นสถานศึกษาทางด้านศาสนาอิสลามที่มีความสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เน้นอบรมความรู้ด้านศาสนาแก่เยาวชนไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันศึกษาปอเนาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 450 แห่ง (ปอเนาะ มาจากภาษามลายูปัตตานี หมายถึง สำนักสอนศาสนาอิสลามที่มีหอพักนักเรียนอยู่ในบริเวณสำนัก)

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา สำนักงาน กศน. ได้รับมอบหมายให้สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี เป็นแกนกลางในการดำเนินการตามโครงการส่งเสริมการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นจัดการศึกษาทั้งสายสามัญและด้านศาสนาควบคู่กัน

กลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดชายแดนภาคใต้ หารือเรื่องการจัดนิทรรศการในสถาบันศึกษาปอเนาะ

ด้าน “กศน.จังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้เสริมสร้างการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะภายใต้ “โครงการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในสถาบันศึกษาปอเนาะ” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนและประชาชนชายแดนภาคใต้ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน อาทิ จัดงานมหกรรมการจัดการเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะชายแดนภาคใต้ จัดประกวดการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการส่งเสริมการรู้หนังสือไทย การประกวดอานาซีดของนักเรียนปอเนาะ เป็นต้น

จัดอบรมครู กศน.ปัตตานี

นอกจากนี้ กศน.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งเสริมจัดการศึกษาตามข้อเสนอของโต๊ะครู ส่งเสริมมุมเรียนรู้สู่สถาบันศึกษาปอเนาะ กิจกรรม 1 ปอเนาะ 1 โครงการพัฒนา กิจกรรมเสริมทักษะอาชีพให้นักเรียนปอเนาะ กิจกรรมเติมความรู้ให้ผู้สอนในรายวิชาเลือกอิสลามศึกษา พัฒนาครูอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ (ครู กศน.) สนับสนุนให้เยาวชนไทยมุสลิมได้เรียนรู้ทั้งการศึกษาสายสามัญ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต การเรียนรู้ตามอัธยาศัยควบคู่กับการศึกษาด้านศาสนา

ขณะเดียวกัน มุ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจ และสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ศึกษาดูงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งปอเนาะต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เยาวชนไทยมุสลิมดำรงชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีความสุข ซึ่งทุกกิจกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะกรรมการสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ โต๊ะครู บาบอ รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการจัดการศึกษา

มุมส่งเสริมการเรียนรู้ในสถาบันศึกษาปอเนาะ
มุมห้องสมุดในสถาบันศึกษาปอเนาะ

ทุกวันนี้ ครูอาสาสมัครปอเนาะมีบทบาทเป็นตัวแทนรัฐบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโต๊ะครูแล้ว ยังเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกแก่โต๊ะครู สนับสนุนกิจกรรมของสถาบันศึกษาปอเนาะในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ

เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้เยาวชนเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาอิสลาม เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ และมีรายได้อย่างยั่งยืน โดยคาดหวังว่า การศึกษาจะช่วยสร้างสันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง (ยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ปี 2560-2579)

ตรวจเยี่ยมสถาบันศึกษาปอเนาะศอลาฮุดดีน

สร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นว่า การทำงานด้านการศึกษา ต้องประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตระหนักถึงแนวทางการแก้ปัญหาด้านการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายในการสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ เพราะการประชาสัมพันธ์ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสื่อสารให้ประชาชนได้ติดตามรับรู้ข่าวสารอย่างถูกต้อง

โครงการ “กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) เคลื่อนที่”

กศน.จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจัดกิจกรรมอบรมการประชาสัมพันธ์ด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหากประชาชนมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและมีความเข้าใจแล้ว ย่อมจะเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม แน่นอนที่สุดว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีวิทยาการจากโทรทัศน์ทางการศึกษา ETV มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนข่าวโทรทัศน์ เทคนิคการถ่ายภาพ อย่างมืออาชีพ การตัดต่อ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการสร้างการรับรู้ให้ดีขึ้นต่อไป

ดูแลสุขภาวะชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี ได้จัดหลักสูตรอบรมครู กศน. ด้านสุขภาวะอนามัยชุมชน เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดมีคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าทุกจังหวัดในทุกด้าน โดยมีผู้ไม่รู้หนังสือทั้งในระบบและนอกระบบ เพราะมีสุขภาวะต่ำเช่นเดียวกัน โดยมีสาเหตุจากโรคระบาดในท้องถิ่น เช่น โรคเรื้อน วัณโรค โรคเท้าช้าง แม่คลอดลูกตายมากที่สุด โรคไอคิวต่ำ เด็กขาดสารอาหาร-เด็กตัวเล็กมากที่สุด

รัฐบาลมอบหมายให้ กศน. ช่วยดูแลเรื่องสุขภาวะชุมชน ช่วยดูแลสุขภาพประชาชน ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะชาวไทยมุสลิมมีความเชื่อถือทางศาสนา ห้ามคุมกำเนิด วัคซีนฉีดไม่ได้ อาหารบางอย่างกินไม่ได้ แม่ฝากครรภ์ไม่ได้ ฯลฯ ส่งผลต่อสุขภาพเด็กทารก มีขนาดตัวเล็ก ไอคิวต่ำ

การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการพัฒนานักเรียน เพื่อให้ทุกคนให้มีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง เจริญเติบโตสมวัย จิตใจสดชื่น ดีงาม พร้อมที่จะเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่นักเรียนได้เป็นอย่างดี

ดึงเยาวชน “ตกหล่น” กลับมาเรียนใหม่

กศน. ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลา 6 เดือนสามารถติดตามกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาถึง 61 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดำเนินต่อไปเพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประชุมแก้ปัญหาเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้