“ใบหม่อน”อาหารเลี้ยงหมูต้นทุนต่ำ ช่วยแก้โรคหอบ ป้องกันหมูช็อกตายในภาวะร้อนจัด

ใบหม่อนนอกจากจะเป็นอาหารใช้เลี้ยงหนอนไหม และแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะชาใบหม่อนเพื่อสุขภาพแล้ว ในวันนี้ ใบหม่อน สามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมูได้ โดยกรมหม่อนไหม และกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกันศึกษาวิจัย เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้นำหญ้าเนเปียร์ผสมกับอาหารข้น แต่การปลูกหญ้าเนเปียร์ ต้องใช้น้ำมาก ซึ่งในช่วงหน้าแล้ง ประเทศไทยมักเจอวิกฤตแล้งขาดแคลนน้ำมาตลอด การทดลองเอาใบหม่อนที่ปลูก มาทดลองใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมูจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จะเป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อน และลดต้นทุนอาหารสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง

แปลงปลูกหญ้าเนเปียร์

ก่อนหน้านี้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของใบหม่อนเป็นอาหารหมู โดยแบ่งหมูขุนเป็น 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ หมูคอกที่ 1 ให้อาหารข้นล้วน หมูคอกที่ 2 ใช้อาหารข้นผสมกับหญ้าเนเปียร์ และหมูคอกที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารข้น ผสมใบหม่อนสับละเอียด 10 เปอร์เซ็นต์ ทำการเก็บศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบ

แปลงปลูกต้นหม่อน

ในเบื้องต้น พบว่า แม้สภาพอากาศทั่วไปร้อนมากถึง 40 องศา แต่หมูที่เลี้ยงด้วยใบหม่อนผสมอาหารข้น มีอาการเหนื่อยหอบน้อย  สามารถสรุปได้ว่าการใช้ใบหม่อนผสมอาหารข้นเลี้ยง จะช่วยลดอัตราเสี่ยง หมูช็อกจากสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าหมูที่เลี้ยงด้วยอาหารข้นล้วน เพราะอุณหภูมิร่างกายจะร้อน หมูเหนื่อยหอบง่าย ส่วนอัตราการเจริญเติบโต การสร้างเนื้อ และไขมันสันหลัง หมูทั้ง 3 กลุ่มตัวอย่าง ให้ผลไม่แตกต่างกัน ส่วนคุณภาพซาก อัตราการแลกเนื้อจะศึกษาในขั้นตอนต่อไป