หนุ่มนครปฐม เลี้ยงโคลูกผสมบีฟมาสเตอร์ ปลูกพืชอาหารสัตว์เองลดต้นทุน เสริมรายได้หลักแสนต่อปี

ปัจจุบันการทำปศุสัตว์ในบ้านเราค่อนข้างได้รับความสนใจจากผู้คนหลายอาชีพ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นเลี้ยงแบบเป็นอาชีพเสริมจึงเกิดรายได้ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ โดยการทำปศุสัตว์นั้นส่วนใหญ่ที่ทำจะเกิดจากความรักความชอบเป็นหลัก จึงทำให้ผู้เลี้ยงไม่รู้สึกถึงความลำบากในการที่จะต้องทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน การเลี้ยงโคเนื้อการเลือกสายพันธุ์จึงนับว่าสำคัญมาก เพราะผู้เลี้ยงจะเลือกและศึกษาให้เหมาะสมกับตนเอง จึงทำให้รู้เป้าหมายและทิศทางการเลี้ยงว่าจะสามารถพัฒนาและเลี้ยงไปสร้างตลาดแบบใด

คุณคำรณ อินทรปัญญา

คุณคำรณ อินทรปัญญา อยู่บ้านเลขที่ 52/1 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านยาง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมบีฟมาสเตอร์ (Beefmaster) เป็นอาชีพเสริมให้กับตนเอง ซึ่งในอนาคตเขาจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นไปให้สูงขึ้น แต่ในการเลี้ยงระยะนี้จะเน้นเลี้ยงแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ด้วยการใช้อาหารต้นทุนต่ำที่ปลูกเอง ก็จะช่วยให้มีเงินเก็บสามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อปี

พื้นที่ปลูกหญ้า

คุณคำรณ เล่าให้ฟังว่า มีอาชีพหลักรับเหมาก่อสร้างตกแต่งภายในบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ซึ่งย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในกลุ่มเพื่อนหลายคนมีเลี้ยงโคเนื้อสร้างรายได้ จึงทำให้เขาเมื่อไปพบเพื่อนก็ได้สัมผัสเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้ออยู่เสมอ ช่วยให้เกิดการซึมซับและความชอบที่อยากจะเลี้ยงโคบนพื้นที่ดินของตนเอง เขาจึงได้จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมทั้งการสร้างโรงเรือนและแปลงปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ส่งผลให้โคที่เลี้ยงมีอาหารกินอย่างเพียงพอและช่วยประหยัดต้นทุนการซื้ออาหารได้เป็นอย่างดี

พื้นที่คอก

“ผมเริ่มมาเลี้ยงประมาณปี 2560 โดยช่วงแรกซื้อแบบตัวเล็กๆ อายุ 3 เดือนเข้ามาเลี้ยงเองก่อน เสร็จแล้วเราก็พัฒนาการเลี้ยงมาเรื่อยๆ แม่พันธุ์โคก็เริ่มมีมากขึ้น โดยแรกๆ ผมเอาแม่พันธุ์ลูกผสมพันธุ์ชาโรเลส์เข้ามาเลี้ยงก่อน ต่อมาเมื่อต้องการพัฒนาให้เป็นการเลี้ยงของลูกผสมบีฟมาสเตอร์ เวลาผสมพันธุ์แต่ละครั้งก็จะนำน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์โคบีฟมาสเตอร์สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ มาทำการผสมกับแม่พันธุ์ภายในฟาร์ม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาให้มีสายเลือดของบีฟมาสเตอร์สูงขึ้น” คุณคำรณ บอก

ลูกโคกินนมแม่จนถึงอายุครบ 6 เดือน

แม่พันธุ์ที่จะทำการผสมพันธุ์ใช้โคสาวที่มีอายุตั้งแต่ 16 เดือนขึ้นไป มาผสมกับน้ำเชื้อพ่อพันธุ์บีฟมาสเตอร์ที่สั่งซื้อเข้ามา เมื่อผสมติดแล้วรอแม่พันธุ์ตั้งท้อง 9 เดือน เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ลูกโคจะออกจากท้องแม่จะทำการเตรียมพื้นที่สำหรับคลอด หลังจากแม่โคออกลูกแล้วจะปล่อยให้ลูกโคกินนมและอยู่กับแม่โคเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน แล้วจึงจับแยกออกเพื่อจำหน่ายได้ทันที

โม่หญ้าและต้นข้าวโพดให้โคกินในแต่วัน

ซึ่งอาหารที่ให้โคภายในฟาร์มกินนั้น คุณคำรณ บอกว่า จะให้กินพืชอาหารสดที่ปลูกเองภายในฟาร์ม เช่น หญ้าเนเปียร์ ยอดข้าวโพด และต้นข้าวโพด นำมาโม่ให้ละเอียดแล้วให้โคภายในฟาร์มกินทั้งวัน จึงทำให้การเลี้ยงด้วยพืชอาหารสดเช่นนี้ตลอดวัน ช่วยให้เขาไม่ต้องซื้ออาหารข้นเพื่อบำรุงโคภายในฟาร์ม เป็นการประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี ส่วนการป้องกันโรคสำหรับโคภายในฟาร์มจะมีการทำวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยตามโปรแกรมที่กำหนดปีละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยให้โคมีความแข็งแรงและไม่ล้มตายจากอาการเจ็บป่วย

ความสุขของการได้ทำในสิ่งที่รัก

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายโคลูกผสมบีฟมาสเตอร์ภายในฟาร์ม ส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายเฉพาะลูกโคตัวผู้ ถ้าเป็นลูกโคตัวเมียจะเก็บไว้เลี้ยงเองภายในฟาร์ม เพื่อสร้างเป็นแม่พันธุ์ในอนาคตต่อไป โดยการซื้อขายจะมีลูกค้าที่ต้องการโคเนื้อไปขุนต่อเพื่อจำหน่ายมาดูโคถึงภายในฟาร์ม พร้อมกับการทำตลาดสมัยใหม่เป็นการทำตลาดแบบออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้การซื้อขายโคเนื้อในปัจจุบันค่อนข้างสะดวกและติดต่อกับลูกค้าได้รวดเร็ว

โคลูกผสมบีฟมาสเตอร์

“ผมโชคดีที่แถวบ้านที่ผมอยู่จะมีพ่อค้าที่เขารับซื้อโคเพื่อไปขุนเลี้ยงต่อเพื่อส่งขายเนื้อ เพศผู้อายุ 6 เดือนขึ้นไป ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 20,000-30,000 บาท ส่วนตัวเมียผมก็นำมาทำเป็นแม่พันธุ์ในฟาร์มเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ต่อปีรายได้หลักแสนจากการขายโคตัวผู้ก็ถือว่าเป็นเงินเก็บให้เราได้ค่อนข้างดี หลังผมทำงานประจำเสร็จได้มาดูแลโคที่ผมรัก ก็ถือว่าเป็นอะไรที่มีความสุขเป็นอย่างมาก ไม่รู้สึกหนื่อยที่จะหาหญ้าหรือตัดหญ้าให้โคกินในทุกๆ วัน แต่มันทำให้เราได้เรียนรู้ ได้มีเพื่อนร่วมวงการเลี้ยงโคที่เหมือนกันกับเรา ได้พูดคุยกัน มีทั้งมิตรภาพและกำลังใจดีๆ เสมอ” คุณคำรณ บอก

หาฟางให้โคไว้กิน

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงโคลูกผสมบีฟมาสเตอร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณคำรณ อินทรปัญญา หมายเลขโทรศัพท์ 092-732-2381

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพฤหัสที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564