เกษตรกรนครนายก เลี้ยงแพะคุณภาพ เน้นลดต้นทุนการผลิต ช่วยเกิดรายได้ยั่งยืน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สัตว์เศรษฐกิจอย่างแพะกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถทำการตลาดทั้งเพาะพันธุ์และส่งตลาดเนื้อเพื่อบริโภค จึงทำให้หลายพื้นที่ของประเทศมีเกษตรกรให้ความสนใจแบ่งพื้นที่ที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำการเลี้ยงเพาะแบบลดต้นทุน ทำให้มีผลกำไรและพัฒนาการเลี้ยงให้มีระบบมากขึ้นจนสามารถเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้

คุณสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์

คุณสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์ ฟาร์มแพะยุพรภักดีโรจน์ ตั้งอยู่ที่ 153 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก มีความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะอย่างตั้งใจมั่น โดยทำการตลาดทั้งแบบจำหน่ายเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์และบางส่วนส่งตลาดเนื้อ ส่งผลให้เกิดรายได้หลายช่องทางและขยายตลาดออกไปจนมีผู้สนใจรายอื่นๆ เข้ามาศึกษาการเลี้ยงจากฟาร์มของเขาอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ปล่อยเดินเล่น

คุณสุรวัจน์ เล่าที่มาที่ไปของการเลี้ยงแพะให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 7 ที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นพนักงานจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและได้เริ่มปลูกพืชผักบริเวณบ้านอยู่บ้าง ต่อมาได้มีโอกาสไปเที่ยวงานต่างๆ เห็นคนที่มาออกบู๊ธภายในงานนำแพะมาป้อนอาหาร ทำให้เขาเห็นความน่ารักและสนใจที่อยากจะนำมาเลี้ยงรอบบริเวณบ้าน จึงได้นำมาทดลองเลี้ยงในเบื้องต้น 4 ตัว จากนั้นมีผลสำเร็จและขยับขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีแพะมากกว่า 100 ตัว

ตัดหญ้าให้แพะกินเสริม

“พอเรามาเลี้ยงแพะ เราก็ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย โดยมีการตั้งเกณฑ์ว่า เมื่อเงินเดือนออก ต้องซื้อแพะเข้ามาเลี้ยงภายในฟาร์ม 1 ตัว เหมือนเป็นการเก็บเงินของเราเอง เพียงแต่เป็นการเก็บเงินในรูปแบบเลี้ยงแพะ ทำให้ระยะเวลาเพียง 2 ปี จำนวนแพะที่ฟาร์มผมก็มีมากขึ้น จนสามารถเป็นอาชีพที่ยั่งยืนเกิดรายได้ ผมก็เลยลาออกจากงานประจำ และมาเลี้ยงแพะพร้อมกับทำการเกษตรอื่นๆ อย่างเต็มตัว” คุณสุรวัจน์ กล่าว

การเลี้ยงแพะให้ได้ผลกำไรและเกิดรายได้ที่ยั่งยืนนั้น คุณสุรวัจน์ บอกว่า ต้องมีการแบ่งพื้นที่ให้ลงตัวและต้องมีแหล่งหญ้าอาหารสัตว์ที่เหมาะสม โดยเขาจะมีพื้นที่ในตอนเช้าและเย็นให้แพะได้เล็มหญ้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนอาหารเสริมอื่นๆ ก็จะตัดกระถิ่นในระหว่างวันมาให้แพะกิน ช่วยให้เขาประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการลดต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

หลักการผสมพันธุ์ให้กับแพะภายในฟาร์ม จะเน้นพ่อพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี และแม่พันธุ์ที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป นำมาผสมพันธุ์จนแม่พันธุ์ตั้งท้องจะได้ 5 เดือน หลังลูกแพะออกมาแล้วในช่วง 1 เดือนแรกจะให้กินนมแม่ เมื่อครบกำหนดสามารถปล่อยลูกหาอาหารกินเองในทุ่งหญ้าที่เลี้ยงประจำได้ เมื่อลูกแพะอายุครบ 3 เดือนสามารถปล่อยขายได้ทันที

“การจัดการในเรื่องของสุขลักษณะภายในฟาร์ม ผมก็จะมีการดำเนินการในเรื่องของการทำวัคซีน โดยจะทำวัคซีนปากเท้าเปื่อยปีละ 2 ครั้ง ส่วนพยาธิก็จะถ่ายทุก 2 เดือนครั้ง ก็จะช่วยให้แพะมีสุขภาพที่ดี ส่วนในเรื่องอื่นๆ ของโรงเรือน เราก็จัดการไปตามลำดับ ก็จะทำให้แพะที่เราเลี้ยงมีสุขภาพที่ดี และเป็นแพะที่มีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าเชื่อมั่นในเรื่องของการเลี้ยงที่มีคุณภาพ” คุณสุรวัจน์ กล่าว

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายแพะนั้น คุณสุรวัจน์ บอกว่า ในปัจจุบันการค้าขายแบบออนไลน์มีส่วนสำคัญอย่างมาก ทำให้แพะที่อยู่ภายในฟาร์มสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ไกลออกไปได้ดี เมื่อลูกค้าเห็นโพสต์แล้วก็จะเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงในฟาร์ม ทำให้มีลูกค้าจากหลากหลายพื้นที่ติดต่อเข้ามาอยู่เป็นระยะ โดยลูกค้าที่ซื้อแม่พันธุ์ผ่านจากฟาร์มของเขา สามารถนำลูกแพะที่ได้มาส่งขายคืนให้กับเขาได้ จึงทำให้ลูกค้ามีตลาดที่แน่นอน

โดยราคาแพะแม่พันธุ์ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 5,000 บาท และถ้าเป็นแพะสาวราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 3,500 บาท ส่วนแพะที่ส่งจำหน่ายแบบเป็นตลาดขายเนื้อราคาแบบยกตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-135 บาท ซึ่งราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด

“สำหรับคนที่อยากจะเลี้ยงแพะให้ประสบผลสำเร็จ อยากจะแนะนำว่า สิ่งแรกเลยที่ต้องมีที่ต้องเรียนรู้ คือเรื่องของการหาข้อมูลการเลี้ยงให้รอบด้าน พร้อมกับการมีใจรักสัตว์ ก็จะช่วยให้เราทำได้อย่างประสบผลสำเร็จ และอีกอย่างที่ควรจัดการให้ดี คือเรื่องของการประหยัดต้นทุน พยายามมีหญ้าอาหารสัตว์ที่เราปลูกเอง ก็จะช่วยให้การเลี้ยงแพะเป็นอาชีพที่มีรายได้ยั่งยืนได้”

ท่านใดสนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์ หมายเลขโทรศัพท์ (080) 830-4475