เกษตรกรทุ่งครุ เลี้ยงแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แปรรูปนมแพะ สร้างรายได้ชุมชน

เขตทุ่งครุ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “บางมด” นอกจากมีส้มบางมดที่เลื่องชื่อ เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในย่านนี้แล้ว เขตทุ่งครุ ยังมีของดีที่ขึ้นชื่อไม่แพ้ส้มบางมดอีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือ “แพะ” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ชาวชุมชนทุ่งครุนิยมเลี้ยง

เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งหลักศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่า เด็กที่เกิดใหม่ต้องจัดพิธีรับขวัญโดยแจกทานเนื้อแพะ เกษตรกรในเขตทุ่งครุจึงนิยมเลี้ยงทั้งแพะนมและแพะเนื้อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยจำหน่ายแพะและน้ำนมแพะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนนี้อย่างมาก

เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในซอยพุทธบูชา 36 เขตทุ่งครุ ได้รวมตัวกันตั้งเป็น “กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ให้แก่ผู้สนใจอาชีพเลี้ยงแพะ การพัฒนาสายพันธุ์แพะ รวมถึงการจัดจำหน่าย ต่อมาในปี 2554 ได้มีการรวมกลุ่มสมาชิก 35 คน ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ เพื่อพัฒนาและต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะอีกหลายชนิด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ โลชั่นบำรุงผิว นมแพะพาสเจอไรซ์ โยเกิร์ตนมแพะ คุกกี้นมแพะ และทองม้วนนมแพะ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ ได้ขอใช้พื้นที่ของมัสยิดในการรวมกลุ่ม ต่อมาได้ย้ายที่รวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์นมแพะเข้ามาอยู่ในชุมชน เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้ามาเที่ยวในชุมชน เยี่ยมชมฟาร์มแพะซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านของสมาชิก และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมแพะได้สะดวกยิ่งขึ้น

นางสาวกุสุมา อินสมะพันธ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะ เริ่มจากสำนักงานเขตทุ่งครุได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มอาชีพเพื่อฝึกอบรมทำสบู่นมแพะ ก่อนจะค่อยๆ ขยายผลไปทำโลชั่นนมแพะ และทำเป็นขนมที่มีส่วนผสมจากนมแพะ ทั้งคุกกี้นมแพะและทองม้วนนมแพะ ซึ่งมีรสชาติหวานหอมกลิ่นนมแพะ เป็นของขึ้นชื่อ เมื่อคนเดินทางมาเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ ต้องซื้อติดมือกลับไปเป็นของฝาก

ต่อมาทางสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เข้ามาสนับสนุนต่อยอด โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาอบรมวิธีการทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ จนได้เป็นผลิตภัณฑ์สบู่นมแพะและโลชั่นบำรุงผิวที่มีสูตรเฉพาะ ซึ่งจะใช้นมแพะแท้ๆ เป็นส่วนผสมหลัก

ส่วนสบู่นั้นทำจากนมแพะผสมกับน้ำมันฮับบาดุซเซาดะฮ์ ซึ่งเป็นน้ำมันหอมกลิ่นเฉพาะของชาวมุสลิม ฮับบาดุซเซาดะฮ์ เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีเม็ดเล็กๆ เหมือนงา คนจีนเรียกว่า น้ำมันเทียนดำ ซึ่งน้ำมันฮับบาดุซเซาดะฮ์ มีประโยชน์ สามารถรับประทานได้ ช่วยต่อต้านและรักษาโรคมะเร็งได้ดี และหากใช้กับผิวจะช่วยรักษาโรคผิวหนังได้ และสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

สำหรับช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนมแพะขณะนี้ มีหลายหน่วยงานที่เชิญทางกลุ่มไปร่วมออกร้านในงานเทศกาลต่างๆ ทั้งงานเกษตรแฟร์ งานบางมดเฟส งานเกษตรสร้างชาติที่สวนลุมพินี และทุกเดือนจะเปิดบู๊ธจำหน่ายที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ มีลูกค้าที่ตามกลับมาซื้ออย่างต่อเนื่อง

สินค้าขายดีคือ โลชั่นนมแพะ ขวดเล็ก ราคา 130 บาท ขวดใหญ่ 200 บาท และมีแบบหลอด ราคา 130 บาท สบู่มี 2 สี สีเขียวเป็นสบู่อาบน้ำที่ใส่น้ำมันฮับบาดุซเซาดะฮ์ล้วนๆ ส่วนสีแดงจะเป็นสบู่น้ำมันฮับบาดุซเซาดะฮ์ผสมนมแพะ ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพจาก อย. เรียบร้อยแล้ว ส่วนนมแพะพาสเจอไรซ์มีหลากหลายรสชาติ เช่น กาแฟ โกโก้ ซึ่งนมแพะเป็นนมที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร มีปริมาณโปรตีนสูง มีวิตามินและแร่ธาตุไม่ต่างจากนมวัว ทั้งแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 3 โพแทสเซียม และมีโปรตีนที่ง่ายต่อการย่อย

ทางกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่ให้สมาชิกทุกคนสามารถผลิตสินค้าได้ทุกผลิตภัณฑ์ โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำ มาทำสวนและเลี้ยงแพะแล้วยังรวมกันแปรรูปนมแพะเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยมีเดือนละประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อคน

นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้ทำปลาบูดูจำหน่ายควบคู่กับนมแพะแปรรูปด้วย เนื่องจากมีสมาชิกบางส่วนมีอาชีพเลี้ยงปลานิล ทางกลุ่มจึงรับซื้อปลาสดของสมาชิกมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ครั้งละประมาณ 100 กิโลกรัม ทุกๆ 2 เดือนจะมารวมตัวกันทำปลาบูดูจำหน่าย กรรมวิธีคล้ายการทำปลาร้า นำปลามาล้างทำความสะอาด และหมักเกลือ ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนจะนำมาใส่ส่วนผสม กระเทียม ข้าวคั่ว

การทำปลาบูดูจะต้องทำให้สะอาด มีผ้าปิดให้มิดชิด ไม่ให้มีแมลงวันตอม จากนั้นนำไปหมักต่อในไห ประมาณ 15-21 วัน จึงจะนำมารับประทานได้ สามารถนำมาทอด หลนเต้าเจี้ยว หรือนำเข้าไมโครเวฟ ก็นำออกมารับประทานได้ทันที ทางกลุ่มจะนำปลาบูดูออกไปวางขายคู่กับผลิตภัณฑ์จากนมแพะ เป็นปลาบูดูบรรจุถุงแบบสุญญากาศ กิโลกรัมละ 120 บาท

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ได้โดยติดต่อผ่าน คุณกุสุมา อินสะมะพันธ์ โทร. 083-024-8107, 086-936-8299 หรือ facebook : วิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก เมื่อเผยแพร่ วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562