หนุ่มเมืองกรุง ใช้ความชอบสร้างเป็นอาชีพ สตัฟฟ์สัตว์เลี้ยง-สวยงาม สร้างรายได้ดี

ปัจจุบันนอกจากสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้แล้ว สัตว์เลี้ยงสวยงามหลายชนิดกำลังได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา ซึ่งสัตว์เหล่านี้นอกจากมีความสวยงามแล้ว เมื่อผู้เลี้ยงผ่านวันและเวลาในการเลี้ยงนับวันเวลา ความผูกพันย่อมเกิดขึ้น เมื่อสัตว์เลี้ยงมีเหตุให้ต้องตายด้วยอาการเจ็บป่วยหรือหมดอายุขัยลง การจากลาจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องพบเจอ แต่ด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อสัตว์เลี้ยงนั้น ผู้เลี้ยงรู้สึกว่าต้องการเก็บความทรงจำนั้นไว้ จึงได้นำสัตว์ที่เลี้ยงส่งสตัฟฟ์เพื่อเก็บความทรงจำนั้นให้คงอยู่

คุณนิติธร สุดเสงี่ยม หรือ คุณกานต์

คุณนิติธร สุดเสงี่ยม หรือ คุณกานต์ ก็เช่นกันที่มีความรักความชอบในสัตว์เลี้ยงที่เขารัก ย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อน เขาได้เลี้ยงสัตว์ไว้ด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อสัตว์ที่เลี้ยงมีเหตุต้องตายไป จึงทำให้เขาอยากที่จะเก็บความทรงจำไว้ จึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสตัฟฟ์สัตว์จากจุดเริ่มต้นนั้นเอง จึงเป็นจุดประกายความคิดที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การสตัฟฟ์สัตว์มากขึ้น จนสามารถสร้างเป็นอาชีพรายได้ให้กับเขามาจนถึงปัจจุบัน

คุณกานต์ เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของครอบครัวคือมีธุรกิจร้านอาหาร โดยในช่วงนั้นเขาเองได้มีสัตว์เลี้ยงคือสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักที่มีความผูกพัน ต่อมาสุนัขได้มาตายลงด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้สึกทำใจไม่ได้กับการต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รักไป จึงได้ส่งสุนัขตัวนั้นไปสตัฟฟ์โดยช่วงนั้นรู้สึกว่างานที่ออกมายังไม่เป็นที่พอใจมากนัก เพราะด้วยสมัยนั้นช่างที่ทำสตัฟฟ์ยังมีจำนวนที่น้อย จึงทำให้เขาเกิดความคิดที่อยากจะทดลองทำงานทางด้านนี้ จึงได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังเกี่ยวกับการสตัฟฟ์สัตว์

“พอเรารู้สึกว่า เราอยากที่จะทำงานทางด้านสตัฟฟ์ การเรียนรู้ก็ต้องได้ใช้ตัวอย่างจริง ผมก็ได้มีการติดต่อขอซื้อซากจากสัตว์เลี้ยงทั่วๆ ไป มาเริ่มหัดเริ่มที่จะลงมือทำ มีการฝึกกับหน่วยงานต่างๆ ที่เปิดสอนคอร์สสั้นๆ บ้าง พร้อมกับเรียนรู้จากช่างฝีมือต่างประเทศไปพร้อมๆ กัน พอเรายิ่งทำเรายิ่งรู้สึกสนุกกับสิ่งนี้มาก พอพรแสวงเราเรียนรู้อย่างเต็มที่แล้ว ทีนี้มาในเรื่องของพรสวรรค์ เราก็คิดว่าเราสามารถทำได้ เพราะเราชอบงานศิลปะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำเป็นอาชีพและทำมาจนถึงปัจจุบัน” คุณกานต์ บอก

ในช่วงแรกที่ดำเนินการอาชีพนี้ใหม่ๆ คุณกานต์ บอกว่า หลายคนจะมองว่าเป็นอาชีพที่แปลก มีการทำงานประเภทนี้อยู่จริงเหรอ เขาก็ไม่ได้ลดความตั้งใจและทำให้เห็นว่าอาชีพนี้มีอยู่จริงและสามารถเกิดรายได้ที่ดีไม่แพ้กัน โดยเขาได้ทำความเข้าใจให้กับคนที่ยังไม่เข้าใจและคนที่สงสัยในอาชีพนี้ว่า การนำซากสัตว์ต่างๆ ที่นำมาสตัฟฟ์นั้น ไม่ได้เกิดจากการฆ่าเพื่อมาทำการสตัฟฟ์ แต่ซากสัตว์เหล่านี้เป็นซากสัตว์ที่ได้มาอย่างถูกต้องจากหลายๆ แหล่ง เช่น โรงพยาบาลสัตว์ พร้อมทั้งสัตว์หลายชนิดมีกฎหมายคุ้มครองจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาตมาทำ ดังนั้น สัตว์ที่นำมาสตัฟฟ์จึงเป็นสัตว์ที่มีแหล่งที่มาที่ไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเอกสารการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง

การจัดทรงให้สมจริง

คุณกานต์ ยังเล่าอีกว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น การสตัฟฟ์สัตว์ไม่ได้เป็นเพียงการสตัฟฟ์เพื่อเก็บไว้ดูเฉพาะผู้ที่ที่รักสัตว์ที่เป็นความผูกพันของคนเลี้ยงหรือเจ้าของเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นกรณีศึกษาให้กับน้องๆ ในสถานศึกษาได้อีกด้วย จึงทำให้เขารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานฝีมือแต่ละชิ้นออกมาที่ทรงคุณค่า

นกสวยงามที่ต้องมีการจัดท่าทางและทำสีให้สมจริง

“การทำงานเกี่ยวกับซากสัตว์ การสตัฟฟ์สัตว์ บางครั้งถ้าเราต้องมีการเกี่ยวข้อง เพื่อความสบายใจในหลายๆ ด้าน ซากสัตว์บางชนิดเราต้องไปดำเนินการแจ้งเรื่องได้ที่กรมปศุสัตว์แต่ละพื้นที่ไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้รู้ว่าซากเหล่านี้เป็นซากที่ได้มาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งเราเองก็ต้องมีจริยธรรมในการดำเนินการทำการสตัฟฟ์ด้วยว่า เป็นซากสัตว์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของจริงๆ หรือมีหน่วยงานให้เรามาช่วยทำเพื่อเป็นการศึกษา เราก็จะรับทำในรูปแบบนี้มากกว่า เพื่อความสบายใจและถูกต้องตามกฎหมาย” คุณกานต์ บอก

ซึ่งขั้นตอนของการสตัฟฟ์ให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพนั้น คุณกานต์ บอกว่า ก่อนอื่นต้องนำซากสัตว์ที่จะนำมาทำการสตัฟฟ์มาประเมินสภาพซากก่อน อย่างเช่น ซากนกที่มีสีสันสวยงาม บางครั้งเมื่อซากมาถึงแล้วสภาพอาจจะไม่ได้สวยแบบที่เห็น 100 เปอร์เซ็นต์

นกสวยงามที่ต้องมีการจัดท่าทางและทำสีให้สมจริง

เมื่อมีการประเมินว่าสามารถทำได้ก็จะลงมือทำ โดยด้านในของสัตว์ที่สตัฟฟ์จะเป็นเพียงโฟมหุ่นที่ทำขึ้น และนำผิวหนังชั้นนอกของสัตว์ห่อหุ้มเข้าไปในโครงหุ่นที่ทำจากวัสดุต่างๆ จากนั้นนำโครงสร้างที่ได้ไปอบให้แห้ง ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดก็จะมีผิวหนังหลังอบที่แตกต่างกันไป ในขั้นตอนต่อมาก็จะมีการตกแต่งด้วยสีให้สวยงามมากขึ้น โดยเรียนแบบสภาพจริงของสัตว์นั้นๆ เพื่อให้ได้สีธรรมชาติที่เหมือนจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยสัตว์ที่สามารถทำการสตัฟฟ์ได้นั้น ก็มีตั้งแต่สัตว์เลื่อยคลาย สัตว์บก สัตว์น้ำพวกปลาต่างๆ ซึ่งชิ้นงานแต่ละชิ้นก็จะมีความยากง่ายที่แตกต่างกันไป

การใช้ดวงตาทดแทนของเดิมที่เสียไป

สำหรับราคาสตัฟฟ์สัตว์ที่เสร็จสมบูรณ์ดีแล้วนั้น คุณกานต์ บอกว่า ราคาก็จะเป็นราคากลางที่ทางช่างมีการติดต่อและตั้งเป็นราคากลางกันอยู่เสมอ อย่างเช่น การสตัฟฟ์นกที่เป็นไซซ์ขนาดเล็ก ราคาจะอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อตัว ซึ่งบางครั้งคนอาจจะมองว่าราคาการทำการสตัฟฟ์อาจจะแพงกว่าราคานก แต่ด้วยนกเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจต่อเจ้าของเขาจึงยอมนำนกมาทำการสตัฟฟ์ เพื่อให้ความรักและความทรงจำเหล่านั้นยังคงอยู่

การทำโครงสร้างภายในให้สมจริง

“บางคนชอบคิดว่าชิ้นงานสตัฟฟ์ชิ้นงานยิ่งเล็กยิ่งถูก จริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น บางครั้งยิ่งเล็กยิ่งทำยาก ราคาก็มีความแพงขึ้นไป อย่างราคาที่ผมทำอยู่ ราคาก็เริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาทก็มี โดยสัตว์หลักๆ ที่คนนิยมนำมาทำการสตัฟฟ์ก็จะเป็นนกสวยงาม และอย่างอื่นๆ ก็จะเป็นสุนัขและแมว ซึ่งถ้าเป็นชิ้นงานที่มีความละเอียดมากขึ้นผมก็จะต้องคุยในเรื่องรายละเอียดที่ชัดเจน หรือไม่ก็ส่งหน่วยงานที่อาจดำเนินการได้ตามความต้องการของลูกค้ามากกว่า เพราะฉะนั้น ก็อยากจะฝากคนที่สนใจอยากจะประกอบอาชีพทางด้านนี้ ก็อยากจะบอกว่าถ้าเรามีความตั้งใจที่อยากจะทำงานสตัฟฟ์เป็นอาชีพ ก็อยากให้ยึดถึงความถูกต้องในเรื่องของจริยธรรมและกฎหมายให้ถูกต้อง ถ้าเป็นน้องๆ ที่สนใจก็อยากให้ตั้งใจเรียนและเข้าไปทำงานด้านนี้ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย อาชีพนี้สามารถสร้างรายได้อย่างแน่นอน” คุณกานต์ บอก

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับในเรื่องของการสตัฟฟ์สัตว์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนิติธร สุดเสงี่ยม หรือ คุณกานต์ บ้านเลขที่ 22/440 ซอยวิภาวดีรังสิต 3 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 097-426-5949