สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ เปลี่ยนวิถีการเลี้ยงโคเนื้อ จากเดิมสร้างโคขุนคุณภาพ

สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ คือก้าวกระโดดแห่งวงการโคเนื้อจังหวัดพะเยา เป็นการเปลี่ยนวิถีการเลี้ยงโคเนื้อ จากเลี้ยงโคเดินตามกลางทุ่งหญ้าสู่การเลี้ยงโคขุนใช้พื้นที่น้อย มีการใช้นวัตกรรมจากการศึกษาวิจัยที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนา ตั้งแต่สายพันธุ์โคเนื้อ อาหารโคเนื้อไขมันแทรก กระบวนการแปรรูปในห้องแช่เย็น สามารถผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพส่งให้กับตลาดเนื้อโคระดับพรีเมี่ยม โดย คุณมานิต อินต๊ะสาร ผู้จัดการสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ บอกว่า ตลาดเนื้อโคขุนจะสดใสหลังพ้นวิกฤตโควิด-19

สหกรณ์แห่งนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 297 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โทร. 080-675-0479, 063-673-1890

คุณมานิต อินต๊ะสาร ประธานสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้

วิวัฒนาการของโคขุนดอกคำใต้นั้น คุณมานิต เล่าว่า ได้รับมรดกของพ่อเป็นโคเนื้อ 30 ตัว เริ่มเลี้ยงโคเนื้อกลางทุ่งนาเหมือนบรรพบุรุษ ทุกปีก็พบปัญหาช่วงฤดูฝน ฤดูเพาะปลูกข้าวไม่มีพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรต้องอพยพโคขึ้นภูเขา เลี้ยงกันตามมีตามเกิด โคนอนใต้ร่มไม้ ริ้นเหลือบไรแมลงกัดต่อย ยามหมดฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อต้อนโคจากภูเขา โคจะดีใจจนอึกทึกบ้างวิ่งบ้างเดินสับสนอลหม่าน โคบางตัวหกล้มขาหัก นับเป็นอุบัติเหตุทำให้เกษตรกรเจ้าของโคต้องตัดสินใจขายโคบาดเจ็บในราคาถูก

พ.ศ. 2543 ได้รวมกลุ่มเกษตรกรรับซื้อโคบาดเจ็บ มีการประชุมหาทางออก หลังจากนั้น เก็บเงินออมฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าหน้าที่ธนาคารสอบถามข้อมูลพร้อมให้งบประมาณพัฒนาลูกค้า…พ.ศ. 2547 ได้เขียนโครงการศึกษาดูงานใช้งบประมาณ 600,000 บาท เพื่อศึกษาการเลี้ยงโคในพื้นที่จำกัด กลุ่มเกษตรกรเริ่มเก็บเงินคนละ 3,000 บาท สร้างคอกกลางเลี้ยงขุนโคเนื้อจำนวน 12 ตัว เมื่อขายโคเนื้อมีกำไรจึงกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 300,000 บาท ลงทุนซื้อโคขุนทดลองเลี้ยง เมื่อจำหน่ายพบว่า โคขุนสายพันธุ์ชาโรเล่ส์ (Charolais) ขายได้กำไรมากกว่า 10,000 บาท โคพันธุ์บราห์มัน (Brahman) ขายได้กำไร 4,000-5,000 บาท โคพันธุ์พื้นเมืองได้กำไร 700 บาท โคสายพันธุ์ฮินดูบราซิล (Indu Brasil) ขายไม่ได้

ร้านชาบูจำหน่ายผลผลิตจากสหกรณ์

ต่อมามีบริษัท นอร์ทเทิร์นฟาร์มเชียงใหม่ ติดต่อขอซื้อโคขุนพวกเราก็ขายให้ หลังจากนั้น พวกเขาสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์โพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่นั้นโคขุนถูกส่งให้กับสหกรณ์โพนยางคำ เมื่อสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงแปรรูป สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้จึงแปรรูปและทำการตลาดด้วยตนเอง ปัจจุบันมีสมาชิก 540 คน แยกเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคแม่พันธุ์ สมาชิกมองตลาดสดใสขึ้นเพราะโคเนื้อเป็นสัตว์ใหญ่ เลี้ยงยาก ใช้เวลาเลี้ยงนาน กลุ่มทุนใหญ่ไม่ลงทุนทำแน่นอน

คุณมานิต เล่าว่า โคเนื้อมีไขมันแทรกนั้นเป็นที่นิยม ซึ่งเกิดจากรสนิยมการกินเนื้อของผู้บริโภคชาวไทย เนื้อโคทั่วไปมีกลิ่นเนื้อที่แรง แต่เนื้อโคขุนไขมันแทรกในเนื้อไม่มีกลิ่นแรง เกรดเนื้อไขมันดีของโคขุนเริ่มต้นสร้างจากการคัดเลือกสายพันธุ์ โคเนื้อสายพันธุ์พื้นเมืองมีไขมันแทรกแต่มีไม่มาก สายพันธุ์ไขมันแทรกต้องเป็นโคสายพันธุ์ยุโรปเลือดผสม 50-75 เปอร์เซ็นต์ เช่น โคสายพันธุ์ชาโรเล่ส์ (Charolais) โคสายพันธุ์แองกัส (Angus Cattle) หรือสายพันธุ์ญี่ปุ่น เช่น โคสายพันธุ์วากิว (Wagyu)

เนื้อที่ผลิตได้

สิ่งสำคัญประการต่อมาคืออาหารของโคขุน อาหารโคเนื้อธรรมดาคือมีโปรตีนมีไขมันตามตารางการทดลอง ส่วนอาหารของโคเนื้อไขมันแทรก ต้องมีกากน้ำตาล หรือโมลาส (Molasses) ซึ่งวัว 1 ตัว กินโมลาส 300 กิโลกรัม จึงจะทำให้เนื้อดีมีไขมันแทรก ต่อมาเรื่องอารมณ์และอากาศซึ่งมีผลต่อการเลี้ยง หากอากาศในโรงเลี้ยงถ่ายเทไม่สะดวก โคขุนมีอาการเครียด เลี้ยงจะไม่อ้วน ไขมันไม่แทรก อารมณ์ไม่ดีก็จะเติบโตช้า การเลี้ยงดูโคขุนนอกจากอาหารแล้วยังต้องดูแลอารมณ์ของโค เปิดเพลงให้โคฟัง

ทุก 2 เดือนเจ้าหน้าที่สหกรณ์จะตรวจเยี่ยมโรงเลี้ยง หากสมาชิกสหกรณ์คนใดสนใจเลี้ยงโค เจ้าหน้าที่สหกรณ์จะคัดโคเนื้อให้เลี้ยง หลังจากนั้น มีการตอน ฝังไมโครชิพ มีใบกำกับเรียกว่าใบขุน จากนั้นใช้เครื่องยิงบาร์โค้ด เลขจะตรงกับเลข 13 หลัก ซึ่งปัจจุบัน สหกรณ์กำลังทำวิจัยร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบเนื้อย้อนกลับ เนื้อ 1 ชิ้นสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่า เนื้อดังกล่าวมาจากโคขุนตัวใด ใครเป็นคนเลี้ยง เลี้ยงจากฟาร์มไหน จากสายพันธุ์ใด

วัวที่เลี้ยง

เรื่องความปลอดภัยของเนื้อโค มีข้อมูลสำคัญคือการเลี้ยงโคถ้าเลี้ยงไม่ดีมันจะหลั่งสารก่อมะเร็งไว้ในเนื้อ โรงแปรรูปต้องมีกระบวนการแปรรูปอันมีมาตรฐานเพื่อมิให้เกิดสารก่อมะเร็งในเนื้อโค โดยมีเครื่องยิงสมอง หลังจากนั้น ถ่ายเลือดออกภายใน 3 นาที แล้วนำเนื้อไปบ่มหรือชิวเนื้อในห้องเย็นอุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส มีกระบวนการหมักของจุลินทรีย์ที่ทำให้เนื้อนุ่ม หลังจากนั้น ก็ตัดหน้าเนื้อเพื่อดูเกรดเนื้อ เริ่มตั้งแต่เกรด 2-5 สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้สามารถเลี้ยงโคขุนได้เกรดเนื้อพรีเมี่ยม ถือว่าเป็นเกรดสูงสุดของยุโรป ซึ่งเนื้อที่ตลาดต้องการคือเนื้อเกรด 3 ขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านั้นก็จะนำไปขายในตลาดกลางเพื่อแปรรูป

เนื้อพร้อมกิน

ทิศทางเติบโตเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ มีทุนปล่อยเงินกู้ให้ไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือโคขุนจำนวน 15 ตัว แต่สมาชิกต้องมีประสบการณ์เลี้ยงโค มีแปลงหญ้า มีคอกมาตรฐาน โดยสหกรณ์จะทำการตอน ฝังไมโครชิพ มีสูตรอาหารให้กิน มีเจ้าหน้าที่ติดตามทุก 2 เดือน เมื่อครบกำหนดการขายสหกรณ์หักต้นทุนไว้ สมาชิกรับกำไรเฉลี่ยตัวละ 18,000 บาท ใช้เวลา 12-14 เดือน แต่มีข้อระวังคือต้องมีวินัยการเลี้ยงโคเพราะโคเป็นสัตว์สี่กระเพาะ ต้องดูแลและให้อาหารตรงเวลา อีกส่วนหนึ่งเงินทุนสำหรับเลี้ยงแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกให้กับสหกรณ์ โดยสหกรณ์ลงทุนให้วงเงิน 500,000 บาท ปัจจุบันสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ได้เงินทุน 40 ล้านบาท หรือโคจำนวน 600 ตัว ที่สามารถลงทุนให้กับเกษตรกรผู้เป็นสมาชิกได้

ปัจจุบัน สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ส่งสินค้าให้กับริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต เชียงใหม่ เดือนละ 7-8 ตัว บริษัท เอสพีบีฟ เดือนละ 30 ตัว ตลาดพ่อค้าชาวเกาหลีที่เข้ามาสร้างโรงแปรรูปสินค้าส่งเกาหลี เดือนละ 15 ตัว โดยสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้สามารถผลิตโคขุนเดือนละ 160 ตัว มีร้านจัดจำหน่ายเนื้อโคขุนของตนเองที่ดอกคำใต้และขยายสาขาที่วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่

ป้ายที่ตั้งสหกรณ์

สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้มีนวัตกรรมด้านการผลิตอาหารโคขุน ซึ่งเป็นการวิจัยของ ดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นงานวิจัยที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพของเนื้อโคขุนให้มีคุณภาพ โดยพบว่าเปลือกข้าวโพดที่มาผ่านกระบวนการหมักด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นในสูตร UP1 มีโปรตีนมากกว่าฟางหมัก ฉะนั้น แทนที่จะเผา เราเก็บข้าวโพดเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นอาหารโคขุน ปัจจุบันสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้สั่งซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภองาว จังหวัดลำปาง สหกรณ์โคขุนดอกคำใต้จึงส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ โดยให้สมาชิกลงทะเบียนปลูกเพื่อบริหารจัดการหมุนเวียนตามความต้องการของสหกรณ์

ไขมันแทรก

สำหรับแนวคิดเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นกระแสที่แรง ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสารเร่งเนื้อแดงเพราะบทบัญญัติกฎหมายเอาผิดกับผู้เลี้ยงและผู้ขนส่ง แต่สิ่งที่อันตรายคือสารก่อมะเร็งที่โคเนื้อหลั่งขณะเลี้ยงหรือขณะถูกเชือด เนื้อโคในตลาดระดับกลางมีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการชำแหละเนื้อ เราจะทำอย่างไรไม่ให้โคเนื้อหลั่งสารก่อมะเร็ง โรงเชือดที่ได้มาตรฐานควรมีอยู่ทุกตำบล มีกระบวนการเชือดที่ถูกต้องเพื่อมิให้โคหลั่งสารก่อมะเร็ง หากทำได้จะเป็นการช่วยเหลือมนุษย์ได้จำนวนมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ ร.ต.อ. ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) และ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2564