โคขุน ออมทรัพย์ 4 ขา งานดีที่เมืองตรัง

การเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพที่กำลังได้รับความสนใจเพราะสามารถทำกำไรได้มากเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง การเลี้ยงโคขุนต้องมีการลงทุนและมีแผนงานที่แน่นอนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะเวลาตามที่กำหนด การเลี้ยงโคขุนเปรียบเสมือนการออมทรัพย์ การเติบโตของโคที่เกิดขึ้นคือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากการสะสม เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดก็นำมาขายสร้างรายได้แก่เกษตรกร

เลี้ยงโคขุนแบบขังคอก

คุณทวีป สูงสุทธิ์ เกษตรกรบ้านนาโต๊ะหมิง หมู่ที่ 1 ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นเกษตรกรหัวไวใจสู้ ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันและการเลี้ยงโคขุนร่วมด้วย เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่า สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีจนพึ่งพาตนเองได้เป็นคนแรกในชุมชนและนำความสำเร็จสรุปเป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้มากที่สุด แก้ปัญหาความเป็นอยู่และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

กระทั่งได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรังจึงจัดตั้งให้เป็นศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการแปลงใหญ่ระดับจังหวัด เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม นอกจากนี้ ยังมีจิตอาสาทำงานเพื่อส่วนรวม และด้วยความสนใจใฝ่รู้ด้านการเกษตรจึงมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยเข้ารับการอบรมที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นอยู่สม่ำเสมอ

คุณทวีป สูงสุทธิ์ เกษตรกรต้นแบบเลี้ยงโคในสวนปาล์ม และเกษตรตำบล

โคขุนเป็นอย่างไร

การเลี้ยงโคขุน คือการเลี้ยงโคที่อายุน้อยให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ โดยการให้อาหารแก่โคที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ในสภาพการเลี้ยงแบบขังคอกอย่างเดียวหรือร่วมกับการปล่อยแปลงหญ้า นับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

คุณทวีปได้เล่าถึงวิธีการคัดเลือกโคมาเลี้ยงขุนและการจัดการโรงเรือน คือจะมีพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์เป็นของตัวเอง โดยจะเลี้ยงแม่พันธุ์บราห์มันเพื่อผลิตลูกโค โคที่ขุนเป็นโคเนื้อจะใช้โคที่มีอายุระหว่างหย่านมจนถึง 1 ปี แต่ก็จะดูลักษณะภายนอกประกอบด้วยคือ พิจารณาจากรูปร่างต้องมีความใหญ่ มีลักษณะไม่ผอมโซจนเกินไป มีโครงสร้างลักษณะดี ไม่แคระแกร็น โดยจะเน้นโคเพศผู้เป็นหลัก เพราะจะโตเร็วและอัตราการแลกเนื้อสูง อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการขุนให้อ้วนท้วนสมบูรณ์สั้นกว่าเพศเมีย โดยคุณทวีปเลี้ยงโคทั้งหมด 52 ตัว แบ่งเป็นแม่พันธุ์ 32 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว เลี้ยงจนลูกโตได้ขนาดก็จะนำไปเลี้ยงเพื่อขุน ส่วนโรงเรือนมี 4 แบบ คือ

  1. เลี้ยงแบบยืนโรงในคอก
  2. เลี้ยงแบบโคหลุม
  3. เลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง
  4. เลี้ยงแบบกักบริเวณที่เตรียมไว้
การเลี้ยงแบบยืนโรงในคอก

สำหรับการให้อาหารโคขุนจะให้กินเรื่อยๆ โดยให้อาหารข้นวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า วันละ 3 กิโลกรัมต่อตัว และหญ้าสดวันละ 30 กิโลกรัมต่อตัว ส่วนการให้น้ำจะให้กินตลอดเวลาโดยให้กินน้ำ EM เจือจาง เพื่อให้โคสุขภาพจิตดี ระบบขับถ่ายดี และมูลไม่มีกลิ่นเหม็น สามารถเลี้ยงในพื้นที่ใกล้ชุมชนได้ ไม่เป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียง ส่วนการดูแลรักษาคุณทวีปจะคอยหมั่นเดินตรวจดูรางน้ำ รางอาหาร และความสะอาดภายในคอกทุกวัน วันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) เพื่อให้โคมีอาหารกินตลอดเวลาและอยู่ในพื้นที่ที่สะอาด โคที่เลี้ยงก็จะมีสุขภาพจิตดี เลี้ยงง่าย โตเร็ว และเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงสูง

การเลี้ยงแบบโคหลุม

โคขุนพร้อมขาย

ลักษณะโคที่พร้อมส่งขายตลาดมี 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เป็นการเพิ่มการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้มีโครงร่างใหญ่พร้อมรับเนื้อและไขมันที่จะสะสมในการขุนระยะต่อไป โครงร่างที่ใหญ่จะใช้เวลาในการสะสมเนื้อและไขมันนานกว่าโคที่มีโครงร่างเล็ก

ระยะที่ 2 เป็นการสะสมกล้ามเนื้อทั่วร่างกายที่สำคัญคือ สันใน สันนอก หัวไหล่ สะโพก หากพบว่าโคตัวใดขุนมาถึงระยะนี้คือประมาณ 3 เดือน แล้วโคยังมีลักษณะไม่เหมาะสมควรตัดออกขายเป็นโคมัน ไม่ควรเก็บไว้ขุนต่อเพราะจะไม่มีกำไร (ลักษณะไม่เหมาะสมดังกล่าว มี 2 ประการ คือ 1. ผอม แสดงว่าโคพันธุ์ไม่ดี เลี้ยงไม่โต อาจเนื่องมาจากเป็นโคที่มีโครงร่างใหญ่เกินไป หรือไม่ก็โคลักษณะไม่ดี 2. อ้วนกลม แสดงว่าโคมีโครงร่างเล็กเกินไป เลี้ยงเพียง 3-4 เดือนก็กลมเสียแล้ว ทำให้น้ำหนักส่งตลาดต่ำเกินไป ได้ราคาไม่ดีเท่ากับโคโครงร่างใหญ่) และ

ระยะที่ 3 เป็นการสะสมไขมัน ได้แก่ ไขมันหุ้มตัวและไขมันแทรกกล้ามเนื้อที่พร้อมส่งตลาดจะมีความกลมจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและโคนหาง จะปรากฏมีก้อนไขมัน 2 ก้อนอยู่ข้างโคนหาง เนื้อแน่น หากปล่อยเกินระยะนี้ไป โคจะกินแต่อาหารแต่จะไม่โต และเนื้อจะยุบไม่เต่งตึง จึงควรรีบจับขายทันที โคขุนที่ดี ควรมีไขมัน (ไขมันหุ้มสันนอก) ที่วัดจากกลางหลังหนาไม่ต่ำกว่า 1.5 เซนติเมตร

การเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง

คุณทวีปยังเล่าต่ออีกว่า ข้อดีของการเลี้ยงโคขุนรูปแบบนี้คือ

  1. ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น เพียงรุ่นละ 4 เดือนก็สามารถจับขายได้ ปีหนึ่งเลี้ยงได้ 3-4 รุ่น
  2. สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง
  3. ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากใช้อาหารที่ผสมเองจากวัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก
  4. โคสุขภาพจิตดีและมูลไม่เหม็นเนื่องจากมีการผสมจุลินทรีย์ในอาหารและน้ำ
  5. นอกจากจะมีรายได้จากการขายโคขุนแล้ว มูลโคยังสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย
การเลี้ยงแบบกักบริเวณ

สำหรับผลตอบแทนในการเลี้ยงโคขุนในโคขุนที่มีขนาดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 500 กิโลกรัม จะขายได้ง่ายกว่าโคขุนที่มีน้ำหนักตัว 500 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนราคาขายสำหรับพ่อค้าทั่วไป 98-100 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าขายให้กับสหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัยพัทลุง ซึ่งราคาประมาณ 120-130 บาท จะเป็นไปตามสภาพเนื้อที่ผ่านการบ่มเพื่อดูมันแทรกเนื้อ สำหรับผลตอบแทนที่ได้ต่อโคขุน 1 ตัว จะได้ประมาณ 47,000-60,000 บาท

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ คุณทวีป สูงสุทธิ์ เบอร์โทร. 091-073-4525 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 075-218-681