บูมเลี้ยงโคเนื้อ “ขอนแก่นพรีเมี่ยมบีฟ” โค่นแชมป์โพนยางคำ-คนไทยบริโภค 1.2 ล้านตัว/ปี

รัฐ-เอกชนขอนแก่นหนุนเลี้ยงโคเนื้อ หลังโคขุนโพนยางคำ-วากิวเจาะตลาดบนสำเร็จ ขายวัวตัวละเกินแสน ประกาศใน 5 ปี โค่นแชมป์โพนยางคำ ระบุไทยบริโภคเนื้อวัว 1.2 ล้านตัว/ปี แต่ผลิตไม่พอขาย ขาดแคลนกว่า 3 แสนตัว ด้านบริษัทประชารัฐชู “ขอนแก่นพรีเมี่ยมบีฟ” เป็นโมเดลลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้เกษตรกร ช่วยลดนำเข้าเนื้อวัวต่างประเทศปีละพันล้าน ด้านผู้เชี่ยวชาญเกษตรเตือนให้ทำการตลาดเข้มแข็งก่อนส่งเสริมเลี้ยง หวั่นซ้ำรอยอีสานเขียว
จากนโยบายที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมและอาศัยธรรมชาติเป็นตัวกำหนดผลผลิต ประกอบกับจำนวนประชากรโคเนื้อลดลงอย่างมากในระยะ 10 ปีจากจำนวน 8.03 ล้านตัวในปี 2549 เหลือเพียง 4.31 ล้านตัวในปี 2557 ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อโคเพิ่มมากขึ้น ทั้งดีมานด์ของคนไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ และตลาดต่างประเทศ รัฐบาลจึงมีการส่งเสริมเลี้ยงโคเนื้อ โดยตั้งเป้าเปลี่ยนพื้นที่ 1.2 แสนไร่ทั่วประเทศ เกษตรกร 2.4 หมื่นราย
ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อต่างขานรับ โดยเฉพาะสมาคมโคเนื้ออีสาน ที่กำลังอยู่ในช่วงต่อยอดงานวิจัยของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพของเนื้อ เพิ่มมูลค่าให้เป็นเกรดพรีเมี่ยม เพื่อป้อนตลาดระดับกลาง-บน

ปลุกชีพ “นายฮ้อยอีสาน”

นายสมศักดิ์ คุณเงิน นายกสมาคมโคเนื้ออีสาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประชากรโคในภาคอีสานลดลงอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เหลือโคเพียง 4 ล้านกว่าตัวเท่านั้น เนื่องจากสภาพสังคมปลี่ยนไป และเป็นผลมาจากประเทศเวียดนามส่งเสริมการเลี้ยงโค มีการเข้ามากว้านซื้อแม่พันธุ์จากตลาดนัดโคกระบือ ในราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้โคไทยทะลักออกนอกเป็นจำนวนมาก และยังทำให้อาชีพนายฮ้อยแทบปิดฉาก แต่เมื่อมีการส่งเสริมเลี้ยงโคเนื้อจึงเป็นการปลุกชีพนายฮ้อยขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็มีการทำวิจัยนวัตกรรมอาหารโคขุน โดย รศ.ดร. กฤตพล สมมาตย์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถผลิตอาหารหมักสำเร็จรูปเอฟทีเอ็มอาร์ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น มันสำปะหลัง รำอ่อน ฟางข้าวหรือหญ้าเนเปียร์ปากช่อง กากปาล์มน้ำมัน กากเบียร์ และกากถั่วเหลือง ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เนื้อนุ่ม และมีไขมันแทรก ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีขอนแก่นฯ ได้มีการเปิดตัวในวันที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนจังหวัดขอนแก่นเมื่อเร็วๆ นี้
นอกจากนั้นจังหวัดขอนแก่นก็ได้มีการส่งเสริมเลี้ยงโคนมมานาน ปัจจุบันมีประมาณ 20,000 ตัว ให้ลูกประมาณ 8,000 ตัว แต่เป็นเพศผู้และเมียอย่างละครึ่ง หากลูกวัวนมเป็นเพศผู้เท่ากับขาดทุน ให้กินนมแม่ 7-15 วัน แล้วต้องขายออกตัวละไม่เกิน 1,500 บาท

ปั้นโคขุน “ขอนแก่นพรีเมี่ยมบีฟ”

นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธาน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีขอนแก่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า โครงการเลี้ยงโคขุนเป็นโมเดลลดความเหลื่อมล้ำสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการต่อยอดนวัตกรรมอาหารโคขุน “ขอนแก่นพรีเมี่ยมบีฟ” (Khonkaen Premium Beef) สร้างมูลค่าเพิ่มจากลูกวัวนมตัวผู้สายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ซึ่งจากเดิมลูกวัวตัวผู้อายุ 5-7 วัน ราคาเพียง 1,000-1,500 บาท/ตัว แต่ถ้านำมาเลี้ยง 15 เดือนโตเต็มที่น้ำหนัก 600 กิโลกรัม จะได้โคขุนเป็นเนื้อเกรดพรีเมี่ยม มีไขมันแทรก ราคา 63,000-73,000 บาท/ตัว เมื่อหักค่าอาหารแล้วจะได้กำไรสุทธิอย่างน้อย 20,000 บาท/ตัว สามารถลดการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศ จำนวน 9.1 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนโคประมาณ 30,000 ตัว มูลค่า 2,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีลูกวัวนมเพศผู้เกิดใหม่ปีละ 200,000 ตัว ถ้านำมาขุน 12,000 ตัว โดยกระจายไปให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม 2,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 6 ตัวก็จะมีรายได้เพิ่ม 102,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และยังสามารถลดการนำเข้าเนื้อจากต่างประเทศได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท

“สิ่งที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีคือขอให้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลี้ยงโคขุน 300 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดซื้อพันธุ์โค 90 ล้านบาท เป็นค่าอาหาร 204 ล้านบาท การอบรมเกษตรกรและวิจัยตลาดเนื้อพรีเมี่ยมสำหรับส่งออก 6 ล้านบาท หลังจากนั้น 15-16 เดือนเมื่อเกษตรกรขายโคขุนได้ก็จะคืนเงินกองทุน เพื่อนำเงินก้อนนี้ไปให้ครอบครัวอื่นสร้างรายได้เสริมต่อไป” นายชาติชาย กล่าว
จังหวัดลั่น 5 ปี โค่นแชมป์โพนยางคำ

ด้าน นายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โคเนื้อเป็นอนาคตใหม่ของเกษตรกร โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น นับจากนี้ 5 ปีจะเป็นเมืองเกษตรปลอดภัยของภาคอีสาน และโคเนื้อขอนแก่นพรีเมี่ยมบีฟ ซึ่งต้องดีกว่าโคขุนโพนยางคำและจะเป็นแชมป์โคขุนให้ได้

นายปิยศักดิ์ สุวรรณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบริโภคเนื้อวัวประมาณ 1.2 ล้านตัว/ปี แต่มีปริมาณไม่เพียงพอ ยังขาดอยู่ประมาณ 3 แสนตัว จึงต้องนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ ขณะที่เนื้อวัวเกรดพรีเมี่ยมมีความต้องการบริโภคประมาณ 2 หมื่นกว่าตัว แต่ปัจจุบันผลิตได้เพียงหมื่นต้นๆ ที่เหลือจึงต้องนำเข้ามาเช่นกัน

“เป็นโอกาสดีที่จังหวัดขอนแก่นนำร่องนำวัวนมมาขุนเป็นวัวเนื้อชั้นดี มีไขมันแทรกสูงกว่าสายพันธุ์ชาโรเลส์ เกษตรกรให้ความสนใจอย่างมาก แต่ตอนนี้การตลาดยังไม่ชัดเจน การส่งเสริมให้เลี้ยงจึงจะก้าวกระโดดไม่ได้ ต้องวางแผนการตลาดให้ชัดเจนก่อน และต้องมีหลักประกันเรื่องราคา ซึ่งจะได้ไม่ซ้ำรอยอีสานเขียว คนเลี้ยงเยอะ วัวไม่มีคุณภาพ ไม่มีการวางระบบการตลาด ไม่มีแผนธุรกิจ สุดท้ายก็เจ๊ง เพราะต่างจากโคขุนโพนยางคำที่ใช้การตลาดนำ จนทำให้ติดตลาดเรียบร้อยแล้ว” นายปิยศักดิ์ กล่าว

ปลุกผีโรงเชือดมาตรฐาน

นายปิยศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หากจังหวัดขอนแก่นจะมีการผลิตโคเนื้อตามยุทธศาสตร์จังหวัด จะต้องมีโรงเชือดที่ได้มาตรฐานรองรับไว้ด้วย ซึ่งเดิมเคยมีที่เกษตรท่าพระ แต่ถูกทิ้งรกร้างหมดสภาพไปแล้ว ไม่สามารถจะปรับปรุงให้คืนสภาพได้อีก ปัจจุบันโรงเชือดในภาคอีสานที่ได้มาตรฐานอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร นครพนม และสุรินทร์

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนี้อาจไปใช้โรงเชือดในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยจะนำงบฯจังหวัดประมาณ 3-4 ล้านบาท ไปปรับปรุงฟื้นโรงเชือดขึ้น สามารถรองรับการเชือดได้วันละ 40-50 ตัว ส่วนโรงเชือดในจังหวัดขอนแก่นนั้น เบื้องต้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังศึกษา และเสนอให้ลงทุนโรงเชือดมาตรฐานในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ