32 BUG FARM ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง แห่งแรกในประเทศไทย ตอบโจทย์เทรนด์อาหารแห่งอนาคต เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตสูง

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเทรนด์อุตสาหกรรม “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” คือ เทรนด์อาหารอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมอาหารโลกที่ต่อยอดกระบวนการผลิตอาหารแบบเดิม ให้ตอบโจทย์การลดสภาวะโลกร้อนไปพร้อมกับสร้างระบบอาหารที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อความยั่งยืนของโลก เป็นที่มาของความหลากหลายในการต่อยอดที่ไม่จำกัดรูปแบบหน้าตาของอาหารอนาคต ขอเพียงทำแล้วตอบโจทย์แนวทาง “ดีต่อใจ-ดีต่อสุขภาพ-ดีต่อโลก”

จิ้งหรีด จัดอยู่ในเทรนด์อุตสาหกรรม Novel Food หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “อาหารใหม่” เป็นซุปเปอร์ฟู้ด (Super Food) ที่ให้สารอาหารสูง โดยจิ้งหรีดถือเป็นอีกแหล่งโปรตีนแห่งอนาคตที่สำคัญ หากประเทศไทยมีการสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงในระบบที่ทันสมัยมากขึ้น ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่แม่นยำ ในอนาคตจิ้งหรีดจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล ด้วยสภาพอากาศของประเทศไทยที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นที่สุด

คุณบัญชร นามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM)

คุณบัญชร นามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) ตั้งอยู่ที่ ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติที่แรกในประเทศไทย แม่นยำ ผลผลิตสูง ประหยัดพื้นที่ สะดวกต่อผู้เพาะเลี้ยง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันที่ฟาร์มผลิตจิ้งหรีดได้ 2 ตันต่อเดือน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น

ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติที่แรกในประเทศไทย

คุณบัญชร เล่าให้ฟังว่า ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง เป็นนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติ มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่ตนเองทำ คือการผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ทำให้คุ้นเคยกับฟาร์มปศุสัตว์ในหลากหลายรูปแบบ และเข้าถึงแหล่งข้อมูลว่าการทำปศุสัตว์จะทำระบบให้ดีได้นั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง จนมาถึงวันที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธุรกิจการผลิตเครื่องจักรที่เป็นอาชีพหลักต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ในขณะที่ยังต้องคงทีมงานเดิมไว้ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจึงเกิดขึ้นจากการเห็นข่าวว่าทาง มกอช. มีการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดสำหรับการส่งออก จึงเกิดความสนใจแล้วกลับมาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเอง เพื่อศึกษาดูความเหมาะสมว่าประเทศไทยเหมาะกับการเลี้ยงจิ้งหรีดมากน้อยแค่ไหน ก็ได้คำตอบว่าประเทศไทยเหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีดมากที่สุด เพราะจิ้งหรีดชอบอากาศร้อนชื้น เมื่อนำมาผนวกกับระบบการเลี้ยงที่ดีน่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก จึงเป็นที่มาของการนำเอาองค์ความรู้เรื่องของการผลิตเครื่องจักรมาพัฒนาทำฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้งระบบอัตโนมัติขึ้นมา

นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งแบบอัตโนมัติ
ประสิทธิภาพสูง สอดรับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต

คุณบัญชร อธิบายว่า สำหรับนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งแบบอัตโนมัติ เป็นนวัตกรรมที่ตกผลึกต่อยอดมาจากวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบเดิมที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ทั่วไป แล้วมักจะเกิดปัญหาเลี้ยงแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้นำเอาชุดข้อมูลตรงส่วนนี้มาวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมการเลี้ยงจิ้งหรีดในบ่อแล้วทำให้จิ้งหรีดตายง่าย จนทราบว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดในบ่อทั่วไปค่อนข้างที่จะมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ใต้บ่อ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก นำมาซึ่งสาเหตุหลักในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ประสบผลสำเร็จ ตนเองจึงได้ออกแบบเป็นตู้เลี้ยงแนวตั้งขึ้นมาทดลองเลี้ยงแล้วได้ผลดีเกินที่คาดหวังไว้ นำมาสู่การขยายทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแห่งนี้ขึ้นมา แต่กว่าจะออกมาเป็นรูปแบบที่สำเร็จให้ได้เห็นแบบนี้ก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกมากพอสมควร โดยเฉพาะรายละเอียดของระบบการให้อาหารที่ต่อเนื่อง และให้ในปริมาณที่พอดี รวมถึงระบบน้ำที่ต้องให้อย่างสม่ำเสมอ

ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้ง จะมีหน้ากว้าง 1.20 เมตร สูง 2 เมตร ปิดคลุมด้วยตาข่ายอย่างมิดชิดตั้งแต่ชั้นบนถึงชั้นล่าง สามารถระบายอากาศได้ดี

ปัจจุบันที่ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งหมด 60 ตู้คู่ โดยรูปแบบของฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้ง จะมีหน้ากว้าง 1.20 เมตร สูง 2 เมตร ปิดคลุมด้วยตาข่ายอย่างมิดชิดตั้งแต่ชั้นบนถึงชั้นล่าง แต่สามารถระบายอากาศได้ดี ไม่เกิดความชื้นภายในตู้เลี้ยง และไม่เกิดการหมักหมมของมูลจิ้งหรีด จิ้งหรีดมีสุขภาพอนามัยที่ดี ผลผลิตออกมามีคุณภาพ และปริมาณสูง โดยหลังจากการอนุบาลไข่ ชั่งน้ำหนัก นำเข้าตู้เลี้ยงอัตโนมัติไปตามอายุ สำหรับจิ้งหรีดหลังเข้าตู้เลี้ยงนับอีก 30 วันจับขายได้ ส่วนสะดิ้งนับไปอีก 40 วันหลังเข้าตู้เลี้ยงสามารถจับขายได้ โดยที่ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เพราะเรามีระบบให้น้ำให้อาหารอัตโนมัติ ที่สั่งการผ่านตู้ควบคุมเพียงตู้เดียว และสามารถดูอายุ ดูวันจับ ดูอุณหภูมิ ได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

บ่ออนุบาลจิ้งหรีด

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการเลี้ยงในบ่อแนวราบแบบเดิมแล้ว คุณบัญชร บอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การเลี้ยงในบ่อแนวราบจะมีปัญหาของการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในบ่อ รวมถึงหากมีนกหรือสัตว์ชนิดอื่นมาถ่ายมูลลงในบ่อ เป็นพาหะของเชื้อไวรัส ทำให้จิ้งหรีดติดเชื้อไปด้วย ต่างจากการเลี้ยงระบบแนวตั้งที่มีการออกแบบมาให้ปิดอย่างมิดชิดปลอดภัยจากสัตว์พาหะชนิดอื่น ประกอบกับระบบการให้อาหารอัตโนมัติ ในแนวสูงทำได้ง่ายกว่าแนวราบ ประหยัดพื้นที่ สะดวกในการจัดการ ประหยัดเวลา ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่า ในขณะที่ใช้พื้นที่น้อยกว่าการเลี้ยงในบ่อแนวราบทั่วไป และระบบการเลี้ยงแนวตั้งของทางฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นที่เรียบร้อย โดยเป้าหมายต่อไปคือการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปที่การส่งออก และจำหน่ายในโมเดิรน์เทรด

จิ้งหรีดที่เลี้ยงในฟาร์มแนวตั้ง

ผลิตจิ้งหรีดได้เดือนละ 2 ตัน
ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

คุณบัญชร บอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มสามารถผลิตจิ้งหรีดได้ครั้งละประมาณ 2 ตันต่อเดือน หรือสามารถจับจิ้งหรีดได้ปริมาณ 40 กิโลกรัมต่อตู้ ผลผลิตยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ณ ปัจจุบันยังเน้นไปที่การขายจิ้งหรีดแช่ฟรีซเป็นหลัก โดยผ่านกระบวนการทำความสะอาด แล้วนำไปนึ่ง จากนั้นนำมามาแช่ฟรีซไว้ ส่งให้กับลูกค้าที่มีทั้งเข้ามารับสินค้าเองถึงที่ฟาร์ม และในส่วนของการจัดส่งไปให้ลูกค้าถึงที่ มีทั้งลูกค้าที่ซื้อนำไปทอดแปรรูปขายต่อ รวมถึงซื้อไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ เพราะใช้เวลาการเลี้ยงไม่นาน ประมาณ 1 เดือน สามารถจับขายได้ในราคาที่ดี โดยราคาจำหน่ายจิ้งหรีดฟรีซของที่ฟาร์มตอนนี้ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-200 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยประมาณ 200,000 กว่าบาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับต้นทุนถือว่าคุ้มค่า เพราะว่าการขายตัวสดในปัจจุบันทางฟาร์มได้ทุนคืนมาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอเครื่องหมาย อย. สำหรับสินค้าแปรรูปจากจิ้งหรีดเพราะมองว่าความยั่งยืนของการสร้างรายได้คือการแปรรูป ยิ่งทำให้ได้หลายรูปแบบยิ่งเป็นผลดี และให้สอดคล้องกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต เพื่อรองรับตลาดส่งออก เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ทำส่งออกต่างประเทศได้ ตรงนั้นคือรายได้ ซึ่งในตอนนี้ระบบการเลี้ยงของฟาร์มค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะต่อยอดไปฟาร์มอื่นๆ ทั้งในรูปแบบการจำหน่ายอุปกรณ์ หรือเป็นการร่วมทุน เพื่อขยายให้ได้ปริมาณจิ้งหรีดที่เพิ่มมากขึ้น

แห้ง สะอาด ไม่ชื้น

“ตอนนี้ที่ฟาร์มของเรามีคนที่สนใจฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งของเราทั้งในและต่างประเทศ ที่สลับหมุนเวียนเข้ามาศึกษาดูงานกันเยอะมาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และในส่วนของคณะดูงานจากต่างประเทศที่ติดต่อขอเข้ามา มีทั้งญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย อินเดีย เข้ามาดูแล้วก็สนใจระบบอยากเอาไปเลี้ยงที่ประเทศของเขา โดยใน 1 ปี มีคนเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มของเราเกือบ 300 คน เพราะทุกคนมองว่าโปรตีนจากแมลงน่าจะเป็นอาหารสำหรับอนาคตอยู่แล้ว เลยมองว่าถ้าเราส่งออกได้มากรายได้ก็เข้าประเทศมาก เพราะประเทศไทยเหมาะสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดมากโกว่าประเทศอื่นเป็นไหนๆ” คุณบัญชร กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับท่านที่สนใจระบบการเลี้ยงฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-697-3539 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : 32 BUG FARM

—————————————————————————————–

สำหรับท่านที่สนใจ เทคโนโลยีชาวบ้านเชิญมาเปิดประสบการณ์กับงานสัมมนา เทรนด์อาหารแห่งอนาคต “ไข่ผำ-จิ้งหรีด” ซุปเปอร์ฟู้ด จากธรรมชาติ
.
 วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00-16.30 น.
ณ ห้องประชุม อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด
.
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ลงทะเบียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรับของที่ระลึก (ไข่ผำสด)
📲 ลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนา ได้ที่ inbox เพจเทคโนโลยีชาวบ้าน m.me/technologychaoban
ภายในฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้ง สะอาด เป็นระเบียบ จัดการง่าย
จิ้งหรีดฟรีซ ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้หลักของ 32 BUG FARM
ผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายจากจิ้งหรีดมูลค่าสูง