หนุ่มสุพรรณฯ เลี้ยงแกะกึ่งไล่ทุ่ง พร้อมสร้างกลุ่มเข้มแข็ง ต่อรองตลาดได้ราคาดี

คุณอารีคาน ปาทาน หรือ คุณอาลี เจ้าของฟาร์ม AKD แจงงามฟาร์มแกะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี สนใจเลี้ยงแกะแบบกึ่งไล่ทุ่งคือปล่อยเลี้ยงในแปลงหญ้าที่มีทั้งหญ้าธรรมชาติ และแปลงหญ้าพันธุ์ดีที่ปลูกเสริมไว้ ทำให้ประหยัดต้นทุนในเรื่องการเลี้ยงมากขึ้น พร้อมทั้งศึกษาในเรื่องของการเลี้ยงอยู่เสมอ ทำให้ทุกขั้นตอนการเลี้ยงมีความเข้าใจอุปนิสัยของแกะอย่างท่องแท้ ส่งผลให้แกะโตดีได้น้ำหนัก มีคุณภาพ มีพ่อค้าติดต่อขอซื้อตลอดทั้งปี

คุณอารีคาน ปาทาน หรือ คุณอาลี

คุณอาลี เล่าให้ฟังว่า หลังจากจบการศึกษาได้ไปสมัครงานในบริษัทจัดสวนดูแลสวน อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครราวๆ 8 ปี จากนั้นสู้ค่าครองชีพในเมืองใหญ่ไม่ไหว จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาหางานที่บ้านเกิดทำ โดยช่วยงานของครอบครัว (ระบบกุงสี) ช่วงเวลาว่างมีความคิดที่อยากจะเลี้ยงสัตว์ จึงได้ศึกษาข้อมูลรอบด้านจึงตกลงปลงใจที่จะเลี้ยงแกะ ซื้อเข้ามาเลี้ยงครั้งแรกจำนวน 4 ตัว เมื่อปี 2553

ขณะที่เลี้ยงแกะในช่วงเป็นการทดลองอยู่นี้เอง เขาทำการศึกษาไปด้วยตั้งแต่การดูงานและอบรมทางด้านปศุสัตว์เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ จึงพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะด้วยกัน และปรึกษาหารือกันในการรวมกลุ่มเพื่อความเข้มแข็ง จนในที่สุดได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแกะยิ้มขึ้นเมื่อปี 2562 มีสมาชิกเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะในพื้นที่ อำเภอด่านช้าง และใกล้เคียง ในจังหวัดสุพรรณบุรี

“เมื่อเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ผมก็ได้พัฒนาเกษตรกรในกลุ่ม ร่วมกันไปอบรม ศึกษา ดูงาน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เชิญวิทยากรจากหน่วยต่างๆ เข้ามาอบรมให้ความรู้ ไปติดต่อโรงเชือด แล้วรวบรวมแกะที่เกษตรกรเลี้ยงในกลุ่ม ไปส่งขายให้โรงเชือด โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอด่านช้างเป็นหลัก โดยเมื่อปี 2565 ได้รับคัดเลือกเป็นกลุ่มวิสาหกิจดีเด่นระดับอำเภอด้วยครับ” คุณอาลี บอก

สายพันธุ์แกะที่เลี้ยงจะใช้พ่อพันธุ์สายพันธุ์แท้และลูกผสมเลือดสูงที่มีลักษณะเด่นไปทางให้เนื้อได้ดี อาทิ แกะพันธุ์ดอร์ดปอร์ พันธุ์ซานต้าอิเนส พันธุ์คาทาห์ดิน เป็นต้น

เนื่องจากการเลี้ยงแกะเน้นผสมผสานแบบกึ่งไล่ทุ่ง คุณอาลี เล่าว่า แกะค่อนข้างที่จะสามารถปล่อยให้กินหญ้าแบบแทะเล็มเองได้ ซึ่งเขาเองมีพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ จึงไม่มีความกังวลในเรื่องอาหารของแกะมากนัก แต่ถ้าช่วงไหนแล้งยาวนานเกินไป จนหญ้าอาหารสัตว์ในทุ่งขาดแคลนบ้าง ซึ่งแกะถือเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินง่าย จะหาฟางข้าวมาให้กินบ้างในช่วงเวลานั้น

สำหรับการผสมพันธุ์แกะภายในฟาร์มจะให้แกะผสมกันเองด้วยวิธีธรรมชาติ โดยมีพ่อพันธุ์คุมฝูงไว้ค่อยผสมพันธุ์ให้กับแม่พันธุ์เป็นตัวหลัก 1 ตัว พร้อมทั้งเลี้ยงแกะพ่อพันธุ์ตัวสำรองเอาไว้ด้วย เพื่อใช้ในกรณีที่พ่อพันธุ์หลักไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ จะนำพ่อพันธุ์สำรองเข้ามาทดแทนทันที ซึ่งอายุแกะที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ต้องมีอายุมากกว่า 1 ปี

“หลังจากที่มีการผสมพันธุ์ติดแล้ว แม่พันธุ์จะตั้งท้องประมาณ 5 เดือน ซึ่งในช่วงนี้จะปล่อยให้อยู่กับฝูงปกติ เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด จึงจะแยกแม่พันธุ์ออกมาไว้ในที่ที่เตรียมไว้ หลังจากที่คลอดลูกออกมาแล้วเป็นเวลา 7 วัน ถ้าเห็นแม่แกะให้นมลูกเองได้ และลูกมีความแข็งแรงดี สามารถปล่อยให้ไปอยู่ในฝูงได้ตามปกติ ซึ่งถ้าช่วงนั้นมีหญ้าธรรมชาติไม่เพียงพอ ก็จะเสริมอาหารข้นที่มีโปรตีนอยู่ที่ 14-18 เปอร์เซ็นต์ บ้างในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงหญ้าขาดแคลน ช่วยให้แกะเจริญเติบโตได้ดี” คุณอาลี บอก

ซึ่งลูกแกะหลังจากคลอดมาได้อายุ 100 วัน สามารถหย่านมได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะนำแกะตัวผู้ไปไว้ในคอกขุน ส่วนแกะตัวเมียจะเลี้ยงรวมฝูงไว้เช่นเดิม เพื่อพัฒนาเป็นแม่พันธุ์ในอนาคตต่อไป ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคให้กับแกะภายในฟาร์ม จะมีสำนักงานปศุสัตว์ประจำอำเภอในพื้นที่ เข้ามาดูแลฉีดวัคซีนป้องกันปากเท้าเปื่อยให้เป็นประจำทุกปี และในรอบ 3 เดือนจะถ่ายพยาธิให้กับแกะภายในฟาร์มทั้งหมด พร้อมทั้งฉีดยาบำรุงให้กับแกะที่แสดงอาการผอมแห้งแรงน้อยด้วยเช่นกัน

ด้านการทำตลาดเพื่อขายแกะภายในฟาร์มนั้น คุณอาลี บอกว่า เนื่องจากครอบครัวมีการเลี้ยงโคเนื้อมาก่อน จึงทำให้ได้รู้จักกับพ่อค้าที่ซื้อขายกันมาอย่างยาวนาน โดยแกะที่เลี้ยงทั้งหมดภายในฟาร์มและของเพื่อนสมาชิกภายในกลุ่ม เขาจะเป็นผู้รวบรวมเพื่อส่งให้กับโรงเชือดมุสลิมที่ได้มาตรฐานกรมปศุสัตว์ ซึ่งโรงเชือดแห่งนี้จะทำการซื้อแกะจากเขาตลอดทั้งปี

ราคากลางในการรับซื้อแกะรุ่น น้ำหนักตัวอยู่ที่ 20-40 กิโลกรัม โรงเชือดรับซื้ออยู่ที่ราคา 110-120 บาท และถ้าเป็นช่วงทำบุญของชาวมุสลิมราคาแกะที่ขายออกจากฟาร์ม ราคาอาจขึ้นสูงกว่านี้ได้ในช่วงนั้น และหลังจากนั้นราคาก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ จากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งนี้เองจึงทำให้แกะที่เลี้ยงของสมาชิกทั้งหมด สามารถรวบรวมส่งขายให้กับโรงเชือดได้ตลอดทั้งปี

นอกจากการมีกลุ่มผู้เลี้ยงแกะที่มีอำนาจสำหรับต่อรองตลาดได้แล้ว คุณอาลี เสริมให้ฟังว่า ได้ทำเพจชื่อว่า แกะยิ้มสุพรรณบุรี เพื่อเป็นช่องทางในเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ ไว้ให้เกษตรกรในกลุ่มและผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษา พูดคุยตอบคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฟาร์มแกะให้กับลูกเพจ ถือเป็นแหล่งข้อมูลการผลิตสายพันธุ์แกะต่างๆ แหล่งปุ๋ยยา อาหารสัตว์ คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ เป็นต้น

“การเลี้ยงแกะถือว่าเป็นความสุขของผม ยิ่งได้มาทำเพจเพื่อให้ความรู้ด้วยแล้ว มันทำให้ผมได้เห็นความสุขในเรื่องของการให้มากขึ้น เพราะเหมือนได้บอกสอนคนที่สนใจ ให้เขาได้รับความรู้ในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไป เพราะฉะนั้นคนที่อยากเลี้ยง อยากให้เริ่มหาข้อมูลเรื่องแกะให้ได้มากที่สุดก่อน ให้รู้ตั้งแต่ในเรื่องของการเลี้ยง การดูแล และการตลาด ว่าสามารถขายที่ไหนได้ จากนั้นก็เข้าไปดูว่าในพื้นที่ที่อยู่นั้นมีกลุ่มผู้เลี้ยงแกะไหม ควรจะเข้ารวมกลุ่มอยู่เสมอ เพราะกลุ่มจะทำให้เรามีความเข้มแข็ง และสามารถทำการตลาดได้หลากหลายมากขึ้น” คุณอาลี บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงแกะ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอารีคาน ปาทาน หรือ คุณอาลี หมายเลขโทรศัพท์ 089-926-7304