วัวหนีน้ำ

ในช่วงที่บริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ต้องประสบอุทกภัยอย่างหนัก นาข้าวบริเวณท้ายเขื่อนจมอยู่ใต้น้ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือก็ต้องปรับตัวให้ทันท่วงทีเนื่องจากช่วงนี้หญ้าหายากอันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย

คุณทองแดง อ่อนตาแสง อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่ที่ 10 บ้านโพธิ์ตาก ตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เอาวัวมาไว้ที่นี่ 3-4 วันแล้ว เลี้ยงวัว 32 ตัว วันหนึ่งเตรียมหญ้าให้วัว 30 มัด แล้วก็ฟางให้ตอนเย็นอีก 5 มัด ตอนเช้า 09.00 น. จะให้หญ้าวัว 20 มัด เกี่ยว 3 คน มียายเต้อ พ่อใหญ่พา และฉัน

คุณทองแดง อ่อนตาแสง

แต่ละปีอัดฟางไว้เยอะไหมครับ

ฟางอัดไว้ปีละหมื่นสอง ถ้าฟางเราเองจ้างเขาอัดก้อนละ 18 บาท แต่ถ้าซื้อก้อนละ 30 บาท

ผู้เขียนถามว่าช่วงน้ำท่วมแก้ปัญหาอย่างไร

คุณทองแดง ตอบว่า ถ้าน้ำไล่ที่ตรงนี้ก็ย้ายไปที่ใหม่ คอกอยู่ในสวนที่บ้านโนนฆ้อง หมู่ที่ 5 การดูแลวัวหนีน้ำให้อยู่บนที่สูง น้ำไม่ท่วมแล้วเราก็ต้องเกี่ยวหญ้าให้เพียงพอ หนีน้ำทั้งวัวทั้งควายมีแต่เกี่ยวหญ้าให้กิน ถ้าน้ำท่วมหญ้าหมด ก็ต้องไปหาที่อื่นไปหาขอเกี่ยว หญ้าเขาไม่ขายถือว่าช่วยกันยามเดือดร้อน ปีที่แล้วเอาวัวไว้ในหมู่บ้านน้ำท่วมหมดไม่มีที่อยู่ ถ้าเกิดที่นี่น้ำท่วมก็ต้องย้าย ถ้าปกติน้ำไม่ท่วมก็จะไปเลี้ยง ขึ้นโคก ถ้าเกี่ยวข้าวแล้ว ตอนไปเลี้ยงก็ห่อข้าวไปกินตอนเที่ยงแต่ตอนเช้าก็กินข้าวที่บ้านอีกหน่อยก็จะไปหาเกี่ยวหญ้าให้วัวสำหรับกินพรุ่งนี้ เกี่ยววันละ 2 คันรถอีแต๊ก

วัวหนีน้ำ

ข้อดีของการเลี้ยงวัว

ข้อดีคือเราไม่ต้องไปหางานทำเป็นนายตัวเอง ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ครอบครัวเลี้ยงวัวมาตั้งแต่เป็นเด็ก ปู่เฒ่าปันให้พ่อ (พ่อใหญ่ดาว) ตอนนั้นปันให้ 2 ตัว ขยายมาเรื่อยๆ จนมาถึง 50 ตัว เลี้ยงในครอบครัว ภายหลังคนหันกลับมานิยมเลี้ยงวัวกันใหม่ แต่ครอบครัวของฉันไม่เคยหยุดเลี้ยงสักครั้ง ปีนี้เพิ่งขายวัวไป 1 ตัว ราคาห้าหมื่นสอง แต่ละปีจะขายวัว 3-4 ตัว นำเงินมาจัดสรร เลี้ยงวัวต้องมีเงินเก็บ ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นหนี้ใคร แต่จะเดือดร้อนเวลาน้ำท่วม นอนไม่เต็มตื่น คิดแต่ว่าตื่นเช้ามาจะไปเอาหญ้าที่ไหน ถ้าน้ำไม่ท่วมจะไปเลี้ยงวัวที่ฝายศิริ ห่อข้าวเที่ยงไปกินด้วย ข้าวเช้ากินที่บ้าน ออกจากบ้าน 08.30 น. กินข้าวเที่ยงกินด้วยกันกับเพื่อนที่ไปเลี้ยงวัวด้วยกัน ที่บ้านเลี้ยงวัวช่วยกัน 3 คน ส่วนไทยวัวไทยควาย (หมายถึงคนที่เป็นเจ้าของวัวเจ้าของควายที่นำไปเลี้ยง) มีพ่อใหญ่ใจ พ่อใหญ่ดอน พ่อใหญ่หมาย ตาบุญหลาย หน้าลงนาเลี้ยงไม่ได้ เดือน 7-8 เขาไถนาก็เลี้ยงได้ แต่ถ้าเขาหว่านเลี้ยงไม่ได้ เลี้ยงไปจนเกี่ยวข้าว เดือน 11-12 น้ำท่วมก็ไม่ได้ไป เลี้ยงไปเรื่อยๆ จนเกี่ยวข้าว ถ้าน้ำไม่ท่วมตรงนี้

คุณทองแดง กล่าวอีกว่า ขายวัวเอามาเป็นเงินเก็บ ถ้าป่วยเป็นไข้ก็ให้ญาติไปเลี้ยงแทน ตอนไปเลี้ยงไปหลายคนไม่น่ากลัว ทั้งวัวทั้งควาย วัวจำเจ้าของได้ ตอนเย็นเวลาประมาณ 15.30 น. เตรียมตัวกลับคอก ถึงคอกเวลา 17.00 น. ตอนกลางคืนสุมไฟไล่ยุง ยากันยุงของวัวเหมือนที่ใช้กับคน ลักษณะเหมือนธูป จุดเหมือนจุดธูป จำราคาไม่ได้ ที่คอกวัวเสียบไฟฟ้า 4 หลอด ค่าไฟเดือนละ 200 บาท ไฟแดง เหลืองกันยุง ช่วงน้ำลงก็เลี้ยงกันตามปกติ ปล่อยตามทุ่งนา ตอนนี้เขาไม่ค่อยเผานา หลวงห้ามเผานา ถ้าหลังหน้าเกี่ยวข้าว วัวจะไม่กินฟาง มันจะกินหญ้า มาคอกถึงกินถ้าเราเอาใส่รางไว้ให้

ปลูกหญ้าให้วัวด้วยไหมครับ

หว่านหญ้าอยู่สวน 4-5 ไร่ คอกวัวด้านกว้างจะเท่ากับบ้าน 3 ห้อง ด้านยาวจะเท่ากับบ้าน 5-6 ห้อง

คุณทองแดง กล่าวทิ้งท้ายว่า เลี้ยงวัวตีเป็นเงินเดือนไม่ได้แต่ไม่เดือดร้อนเป็นนายตัวเอง น้ำท่วมคือปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าไม่ท่วมก็สบาย หลานชายเป็นนักวิชาการ จบปริญญาโท คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำงานอยู่ที่ท่าพระ ถ้าวัวเป็นอะไรก็โทร.ไปหา แล้วให้พ่อฉีดเอง เล่าอาการให้ฟัง ตอนนี้ที่บ้านเลี้ยงวัวสองคนเพราะฉันต้อนวัวไม่ทันแต่ก่อนเป็นสาวเลี้ยงคนเดียว

การเลี้ยงวัวเป็นอาชีพที่เป็นนายตัวเองแม้ว่าเหนื่อยก็ภูมิใจ มีเงินเก็บสำรอง ในภาวะที่ต้องเผชิญกับอุทกภัย คุณทองแดง บอกว่า ถ้าผ่านช่วงน้ำท่วมนี้ไปได้ก็ถือว่าสบาย ก็จะได้นอนหลับฝันเต็มตื่น เฝ้าแต่ฝันถึงทุ่งกว้างเดินเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้าเขียวขจีงดงามและขอให้น้ำลดแห้งเหือดหายจะได้มีพื้นที่กว้างๆ เลี้ยงวัวเลี้ยงควายในเร็ววันดังที่ตั้งใจกันนะครับ