จิ้งหรีดป่วย อย่าใช้ “ยาปฏิชีวนะ” ไม่ได้ผล-เสียเงินฟรี

ปัจจุบันมีผู้สนใจทำการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย จึงได้มีการพัฒนา ศึกษา คิดค้น ปรับปรุงพันธุ์ และวิธีเลี้ยง เพื่อให้ได้จิ้งหรีดที่เข้มแข็ง โตเร็ว และเพิ่มจำนวนต่อรุ่นของการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในพื้นที่ที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม จิ้งหรีดอาจมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้จากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย อาทิ โรคไม่ติดเชื้อ หรือโรคติดเชื้อที่ระบาดตามธรรมชาติ ระบบสุขอนามัยหรือการสุขาภิบาลที่ไม่ดี การเลี้ยงที่แออัดมากเกินไป ประกอบกับสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ร้อนเกินไป หนาวจัด น้ำท่วม ทำให้จิ้งหรีดเกิดความเครียด อ่อนแอ ป่วยและล้มตาย

เมื่อมีการตายอย่างผิดปกติ ผู้เลี้ยงมักจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก บางรายอาจคิดว่าสามารถใช้ยาปฏิชีวนะเป็นตัวกระตุ้นให้จิ้งหรีดเจริญเติบโตเร็วขึ้นได้ ที่ผ่านมาพบว่ามีการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ ยาแก้แพ้ หรือยาบำรุงกำลัง ละลายน้ำหรือผสมอาหารให้จิ้งหรีดกินเพื่อเป็นการรักษาและป้องกันโรค

แต่จากการที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ได้ทำการพิสูจน์หาสาเหตุการตายอย่างผิดปกติของจิ้งหรีด ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสสองชนิด ได้แก่ Cricket irido virus ที่ทำให้เกิดโรคท้องบวม และ Cricket paralysis virus ที่ทำให้เกิดโรคอัมพาตจิ้งหรีด ซึ่งยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา

กรมปศุสัตว์แนะนำว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในจิ้งหรีด นอกจากการรักษาจะไม่ได้ผลแล้ว ยังเป็นการเพิ่มต้นทุน และทำให้เกิดยาปฏิชีวนะตกค้างส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้

Advertisement

ดังนั้น เมื่อพบการตายที่ผิดปกติของจิ้งหรีดควรปรึกษาสัตวแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยง ข้อควรปฏิบัติคือ เก็บตัวอย่างจิ้งหรีดบ่อที่ป่วยตาย ทั้งตัวเป็นและตัวตาย รวมกันไม่น้อยกว่า 50 ตัว ใส่ถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น รีบแช่เย็นและนำส่งห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตว์แพทย์ประจำภูมิภาค เก็บจิ้งหรีดป่วย วัสดุหลบซ่อน และเศษซากที่เหลือ นำไปเผาหรือฝังดินกลบให้ลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตร กันสัตว์ชนิดอื่นมาขุดคุ้ยโรยทับด้วยปูนขาวทั้งก่อนและหลังกลบ ทำความสะอาดบ่อเลี้ยงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น ทิ้งไว้ให้แห้งหรือนำไปตากแดด (ขึ้นกับวัสดุที่ใช้ในการทำบ่อเลี้ยง) และพักการใช้บ่อเลี้ยงอย่างน้อย 3 เดือน

Advertisement

หากวัสดุที่ใช้ในการทำบ่อเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูพรุนมักไม่ประสบผลสำเร็จในการทำความสะอาดมีความจำเป็นต้องทำลายทิ้ง ไม่ควรนำไข่จิ้งหรีดจากชุดที่ป่วยไปขาย หรือขยายพันธุ์ต่อเพราะจะมีเชื้อไวรัสติดไปกับผิวของเปลือกไข่ จะทำให้โรคเกิดการแพร่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น ควรทำลายทิ้งเช่นเดียวกับที่ทำลายซากจิ้งหรีดป่วย หรือวัสดุหลบซ่อน

ก่อนที่จะนำไข่จิ้งหรีดชุดใหม่เข้ามาเลี้ยง ควรทำการสุ่มส่งตรวจหาเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดจากห้องปฏิบัติการที่ใกล้เคียง ลงบันทึกประวัติการป่วย ตาย และการจัดการในสมุดบันทึกข้อมูลของฟาร์ม เพื่อประโยชน์ในการสืบค้น หลังจากที่ได้รับผลการตรวจยืนยัน ให้ปรึกษา ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและปรับระบบการเลี้ยงใหม่ให้เหมาะสม

“สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่างหลงเชื่อคำแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหาร หรือน้ำให้จิ้งหรีดกิน เพราะยังไม่มีการศึกษา หรือพิสูจน์ในเรื่องผลของการรักษาหรือช่วยในการเจริญเติบโต และยาอาจไปทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหารของจิ้งหรีดทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติได้ หากมีข้อสงสัยเรื่องโรคจิ้งหรีดสอบถามได้ที่ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ 02-579-8908-14 ต่อ 406 ในวันและเวลาราชการ”

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560